ปฏิวัติบริการไทย บนเส้นทางแห่งนวัตกรรม

ปฏิวัติบริการไทย บนเส้นทางแห่งนวัตกรรม

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008 กระทบต่อพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างกว้างขวาง

ทั้งการเกิดขึ้นของ Sharing Economy ตัวกลางเชื่อมผู้ใช้กับผู้ให้บริการเข้าด้วยกัน Data-rich Intelligence ที่เป็นการนำข้อมูล Big and Real-time Data มาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือ Augmented Reality ที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์เสมือนจริงผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ โดย McKinsey Global Institute ระบุว่านอกจากเทคโนโลยีจะส่งผลดีดังกล่าวแล้ว ยังสร้างธุรกิจและอาชีพใหม่ ๆ โดยเฉพาะในภาคบริการ ได้แก่ การค้า การเงินการธนาคาร และโทรคมนาคมขนส่ง ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

วิวัฒนาการข้างต้นทำให้ภาคบริการเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หากวิเคราะห์บทบาทอย่างง่าย ๆ โดยวัดจากสัดส่วนรายได้ภาคบริการต่อ GDP ภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้วสูงกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 69% ของ GDP เป็น 74% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาปรับเพิ่มขึ้นจาก 48% เป็น 58% ส่วนไทยนั้น เพิ่มเล็กน้อยจาก 54% เป็น 56% สะท้อนว่าภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้วมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมาก เช่น สหรัฐ มีบริษัท IT อย่าง Apple Google Microsoft หรือ Facebook ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้มหาศาล หรือจีนก็มีธุรกิจ e-Commerce ระดับโลกอย่าง Alibaba Group ที่มีมูลค่าของบริษัทมากกว่าขนาดของ GDP ในหลายประเทศ จึงอาจพูดได้ว่าประเทศที่ร่ำรวยในปัจจุบันอาจไม่ใช่ประเทศที่สามารถผลิตสินค้าได้มากที่สุด แต่เป็นประเทศที่ให้บริการได้ดีและมีคุณภาพที่สุด

ดังนั้นโจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถยกระดับไปสู่ภาคบริการที่มีผลิตภาพสูงขึ้น (Modern Services) ได้

ปฏิวัติบริการไทย บนเส้นทางแห่งนวัตกรรม

ไทยมีภาคบริการมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ แต่กลับมีผลิตภาพแรงงานค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต่างจากพัฒนาการในหลายประเทศที่การขยายตัวของผลิตภาพแรงงานภาคบริการสูงกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งนี้ โดยสาเหตุสำคัญ คือ 1) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่ายังกระจุกอยู่แค่ในบางธุรกิจบริการและยอดขายผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตยังไม่สูงนัก 2) ภาคธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยียังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 3) ภาคบริการที่เติบโตในช่วงที่ผ่านมาใช้แรงงานทักษะต่ำ ขณะที่ภาคบริการในต่างประเทศเน้นใช้แรงงานมีทักษะเพื่อเพิ่มมูลค่า

การยกระดับไปสู่ Modern Services ได้นั้น นอกจากผู้ประกอบกาแล้ว ภาครัฐควรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพ โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ 4 ประการ คือ

ปฏิวัติบริการไทย บนเส้นทางแห่งนวัตกรรม

ประการแรก ภาครัฐควรเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะกฎระเบียบ พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ และฉัตร คำแสง (2017) ชี้ให้เห็นว่าหลายสาขาเศรษฐกิจของไทยยังมีการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำ ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสาขาบริการที่เน้นเทคโนโลยีสารสนเทศและใช้แรงงานขั้นสูง ที่ยังมีข้อจำกัดในการลงทุนของบริษัทต่างชาติ ทั้งสาขาการเงินการธนาคาร บริการด้าน IT และโทรคมนาคม ตลอดจนบริการธุรกิจ  นอกจากนี้ รายงาน Thailand Investment Climate Survey พบว่าไทยมีกฎระเบียบในภาคบริการมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน หรือในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

ในยุคที่โลกมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา รัฐบาลจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสทางการค้าและการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทบทวนหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัย ซับซ้อน และไม่ชัดเจน เช่น ประเทศจีน มีการดำเนินนโยบาย 6+1 โดยเปิดเสรีในอุตสาหกรรมสำคัญ 6 สาขา ยกเลิกกฎระเบียบที่ควบคุมสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ รวมถึงผ่อนปรนเกณฑ์การออกไปลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่จีนมีข้อได้เปรียบชัดเจน สำหรับไทยภาครัฐอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการกำกับดูแลเพื่อเอื้อต่อการแข่งขันและการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้แนวทาง Regulatory Guillotine แก้ไขกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่ล้าสมัยได้คราวละหลายฉบับในครั้งเดียวกัน หรือการจัดทำ Regulatory Impact Assessment เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ประการที่ 2 ควรส่งเสริมความรู้และผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สะท้อนว่าภาคบริการไทยกระจุกอยู่ในสาขาบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Services) เช่น การค้า โรงแรมและภัตตาคาร และการท่องเที่ยว และกว่า 80% เป็นธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งไม่เอื้อต่อการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนื่องจากไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

การเปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงเครื่องมือและช่องทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ จึงเป็นกลไกสำคัญให้ผู้ประกอบการรายย่อยปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการช่วยพัฒนานวัตกรรม ให้บริการที่ปรึกษาและการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ตลอดจนหาช่องทางการเข้าถึงตลาดให้กับ SMEs ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและยกระดับผลิตภาพให้ทัดเทียมธุรกิจขนาดใหญ่และบริษัทต่างชาติ เช่น การที่สิงคโปร์ตั้งหน่วยงาน SPRING เพื่อรับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าว หรือมาเลเซียได้ร่วมมือกับ Alibaba Group จัดทำ Electronic World Trade Platform (eWTP)

ประการที่ 3 หน่วยงานภาครัฐควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยรายงาน Global Competitiveness Index ชี้ว่าประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่หน่วงรั้งอันดับความสามารถของประเทศ การปฏิรูปกระบวนการทำงานของภาครัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการพัฒนาระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ Digital ID หรือการปรับหลักเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างที่จูงใจให้เอกชนปรับตัว ดังเช่นการกำหนดให้ผู้รับเหมาที่ประมูลงานภาครัฐมี Digitized Construction Plan ในประเทศอังกฤษ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐได้

นอกจากนี้ การพัฒนา Digital Infrastructure และการบูรณาการระบบฐานข้อมูลจากภาคส่วนต่าง ๆ จะช่วยให้ SMEs หรือ Start-up เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้สะดวก เช่นกรณีที่สหภาพยุโรปใช้นโยบาย Second Payment Services Directives (PSD2) กำหนดให้สถาบันการเงินแชร์ข้อมูลให้บุคคลที่สามได้หากลูกค้ายินยอม

ประการสุดท้าย ควรมุ่งสร้างทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งแรงงานไทยกว่า 80% มีคุณวุฒิต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา มีอันดับการใช้ภาษาอังกฤษรั้งท้ายในภูมิภาค และขาดความรู้ IT การวางโครงสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะยกระดับผลิตภาพภาคบริการได้อย่างยั่งยืน โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจพิจารณาการเปิดรับแรงงานศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (กลุ่ม Talent) เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเติมเต็มช่องว่างด้านทักษะแรงงาน

เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้วนมีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รัฐบาลต้องปรับตัว ไม่เพียงแค่เริ่มต้นโครงการปฏิรูป แต่ต้องเร่งผลักดันและดำเนินการให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาด้วย และในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจให้ได้ว่าทุกภาคส่วนได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมเช่นกัน