อัปปมาทธรรม .. วังวนความหายนะทุกสมัย !!

อัปปมาทธรรม .. วังวนความหายนะทุกสมัย !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสในเรื่องอำนาจของกรรมไว้ว่า...

 “เมื่อบุคคลทำความชั่วแล้ว จะหนีไปในอากาศ... ไปในท่ามกลางมหาสมุทร... หนีไปแอบตามซอก ภูผา หรือไม่ว่าจะหนีไปอยู่ในแผ่นดินใด ก็ไม่พ้นจากกรรมชั่วที่ตนกระทำไปได้...” ทั้งนี้ เพราะกฎธรรมชาติที่ถูกควบคุมด้วยอำนาจแห่งธรรม (ธรรมนิยาม) จะแสดงให้ประจักษ์ในกฎเกณฑ์กรรม ที่ควบคุมสัตว์ทั้งหลายให้ต้องรับผลจากการกระทำอย่างซื่อตรง ยุติธรรม สมน้ำหนักของกรรมนั้นๆ ไม่ว่าทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว

หัวใจธรรมในพุทธศาสนา จึงประมวลลงในความไม่ประมาท (อัปปมาทธรรม) ดังที่ตรัสไว้ในปัจฉิมสมัยของพระองค์ว่า... เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า... วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด โดยแสดงหลักความไม่ประมาทมีอยู่ ๔ ประการ

๑. ไม่อาฆาตต่อผู้ใด ถึงเขาจะเบียดเบียนเราอย่างไรก็ตาม เราจะไม่โกรธแค้น คิดเอาโทษใคร จักเป็นผู้มีสติ

๒. การเจริญสติอยู่ทุกเมื่อ ในทุกอิริยาบถ นั่นแหละได้ชื่อว่า ไม่ประมาท

๓. จิตดำรงมั่นคงด้วยสติปัญญา จนเกิดความตั้งมั่น มีสมาธิอยู่ภายใน รู้เท่าทันอารมณ์ เห็นแจ้งจริงถึงความเกิด-ดับแห่งอารมณ์และจิตนั้นๆ

๔. ไม่ปล่อยให้กิเลสไหลลงมาทางอายตนะ รั่วราดรดจิต .. มีอินทรีย์สังวรอยู่เสมอ ไม่ถูกกิเลสคือความอยากควบคุมจิต

สรุปรวมความแท้จริงของความไม่ประมาท คือ การเจริญสติปัฏฐานสี่อยู่ตลอดกาลนั่นเอง

มีเรื่องเล่าในชาดกว่า... “สมัยหนึ่ง มีพระราชาสองเมืองทำสงครามกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ... วันหนึ่งพระอินทร์ กล่าวกับฤาษีว่า ในที่สุดพระราชาเมือง ก. จะชนะ

เมื่อคำทำนายของพระอินทร์แพร่ผ่านศิษย์ฤาษีไปเป็นทอดๆ จนถึงพระราชาเมือง ก. ที่รู้ว่าตนจะชนะ ก็เริ่มประมาท ไม่ตระเตรียมความพร้อมของกองทัพดังเคย ไม่คิดกลวิธีทำสงคราม มัวแต่เพลินอยู่กับอำนาจผู้นำและคำป้อยอของเหล่าขี้ข้าข้างบัลลังก์ รีบจัดสั่งฉลองชัยไว้ล่วงหน้า เพราะเชื่อมั่นคำทำนายว่า ชนะแน่ !!

ส่วนพระราชาเมือง ข. ที่ทราบคำทำนายว่าตนจักพ่ายแพ้ แรกๆ ที่ทราบก็ท้อใจ แต่ฮึดสู้ขึ้นมาว่า ไหนๆ ก็สู้กันมาจนถึงป่านนี้แล้ว จะแพ้ก็ให้แพ้อย่างสมฐานะ เรื่องถอยไม่ต้องคิด ขอสู้ให้เกินร้อย เมื่อแพ้จักไม่เสียใจ เพราะได้ถึงที่สุดแห่งความสามารถแล้ว

พระราชาเมือง ข. จึงตระเตรียมกองทัพ ฝึกกำลังพล คิดอ่านวางแผนรุกแผนรับพร้อมสรรพ เมื่อถึงเวลาเข้าทำสงครามได้ใช้ความสามารถเต็มที่ จนที่สุดด้วยกำลังความพร้อมและจิตใจที่แข็งแกร่งกว่า จึงเอาชนะพระราชาเมือง ก. ไปได้อย่างไม่ยาก

เมื่อข่าวแพร่ออกไปว่า พระราชาเมือง ก. พ่ายแพ้ยับเยิน ฤาษีจึงไปต่อว่าพระอินทร์ผู้ทำนายผิดพลาด ไม่สมราคาจอมราชาแห่งเทวะในสวรรค์ พระอินทร์จึงตอบว่า “เราทำนายไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามทางของมัน พระราชาเมือง ก. จะชนะแน่นอน แต่บังเอิญพระราชาเมือง ก. ประมาท ในขณะที่พระราชาเมือง ข. มิได้ประมาท หมั่นฝึกตนเองและกองทัพเตรียมพร้อมทุกประการ คนที่มีความพยายามที่สุดเช่นนี้ แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้...”

จากเรื่องดังกล่าว ให้นึกถึงพฤติกรรมการบริหารบ้านเมืองของผู้มีอำนาจในทุกสมัย ที่มักจะประมาท ชอบคิดทึกทักว่ามีผลงานน่าชื่นชม จนหลงตัวหลงทาง ลืมพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ดำรงอยู่อย่างประมาทธรรม ยิ่งในโลภจิต...

เรื่องของเรื่องจึงเห็นความไม่เป็นเรื่องปรากฏมากขึ้นๆ ... จากพฤติกรรมความประมาทที่หลงตนเองของผู้มีอำนาจ... ซึ่งที่สุดก็จักหนีไม่พ้นวังวนเดิมของนักปกครองเมาอำนาจ หลงตนไปจนกลับบ้านไม่ถูก ...เวรกรรมของประเทศจึงไม่หมดสิ้นไปสักที เพราะความประมาทที่เกิดจากการขาดสติปัญญานั่นเอง.. เอวัง !!

เจริญพร