รู้จักลงทุนหุ้นตามสไตล์ Factor เด่น

รู้จักลงทุนหุ้นตามสไตล์ Factor เด่น

ช่วงนี้มีคนพูดถึงการลงทุนด้วยสไตล์ที่แตกต่างๆ ผมขอแนะนำแนวการลงทุนแบบที่เน้นปัจจัยหรือ factor เด่นให้รู้จักกันสักหน่อย

โดยผลงานที่โดดเด่นของ Eugene Fama และ Kenneth French เจ้าพ่อการลงทุนแนว Factor Investment คือ การวิเคราะห์ Factor หรือปัจจัยที่ 2 นักเศรษฐศาสตร์การเงินคนดังพบว่าสามารถทำให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดได้ ประกอบด้วย พรีเมียมจากหุ้นคุณค่า (หุ้นคุณค่าเมื่อเทียบกับหุ้นเติบโต) พรีเมียมจากรายได้ (หุ้นที่ให้ปันผลสูงเมื่อเทียบกับหุ้นที่ให้ปันผลต่ำ) พรีเมียมจากขนาด (หุ้นขนาดเล็กเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่) และพรีเมียมจากโมเมนตัม (หุ้นที่เป็นผู้ชนะเมื่อเทียบกับหุ้นที่เป็นผู้แพ้)

นิยามของปัจจัยต่างๆ เป็นดังนี้

พรีเมียมจากหุ้นคุณค่า ตามนิยามของ Fama & French ทำได้โดยการแบ่งหุ้นออกเป็น Top 30% ที่เป็นหุ้นคุณค่า และ Bottom 30% ที่เป็นหุ้นเติบโต ตามอัตราส่วนของมูลค่าตามบัญชีต่อราคาตลาด ส่วนตัวเลขของอังกฤษ ทำได้โดยการแบ่งหุ้นออกเป็น Top 40% ที่เป็นหุ้นคุณค่า และ Bottom 40% ที่เป็นหุ้นเติบโต

พรีเมียมจากหุ้นปันผลสูง ของตลาดหุ้นสหรัฐใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Ken French โดยพรีเมียมดังกล่าวหาได้จากผลต่างของร้อยละ Yield ของหุ้นที่มี Yield สูงที่สุดร้อยละ 30 บนเมื่อเทียบกับหุ้นที่มี Yield ต่ำที่สุดร้อยละ 30 ล่าง หุ้นอังกฤษก็ทำเช่นเดียวกัน แต่ใช้ LSPD data

 พรีเมียมของหุ้นจากขนาดของบริษัท วิเคราะห์บนพื้นฐานของผลตอบแทนหุ้นขนาดเล็ก (เล็กที่สุด 30% ของตลาด) และผลตอบแทนหุ้นขนาดใหญ่ (ใหญ่ที่สุดร้อยละ 30 ของตลาด) จากฐานข้อมูลขนาดของบริษัทจากเว็บไซต์ของ Ken French ส่วนของอังกฤษ ใช้ผลตอบแทนหุ้นขนาดเล็ก (เล็กที่สุดร้อยละ 70 ของตลาด) และผลตอบแทนหุ้นขนาดใหญ่ (ใหญ่ที่สุดร้อยละ 30 ของตลาด)

พรีเมียมจากโมเมนตัม คำนวณจากงาน Griffin, Ji, and Martin’s (2003) โดยใช้กลยุทธ์ 6/1/6 ที่หุ้นใช้การวัดผลตอบแทนในช่วงระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน หุ้นที่มีผลตอบแทนสูงสุดหนึ่งในห้าของตารางบน หรือ Winner จะถูกซื้อ ส่วนหุ้นที่มีผลตอบแทนต่ำสุดหนึ่งในห้าของตารางล่าง หรือ Loser จะถูกขาย พอร์ตโฟลิโอดังกล่าวจะถือไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน แล้วจึงทำการปรับพอร์ตใหม่ โดยพรีเมียมจากโมเมนตัมจะคำนวณจากผลต่างของผลตอบแทนของ Winner ลบด้วย Loser

ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านปัจจัย (Factor Premia) หลังจากอัตราดอกเบี้ยขึ้นและลง

qcZLXcKX.png

ข้อมูลที่ใช้สำหรับ Factor data ของสหรัฐนั้น ย้อนหลังกลับไปถึงปี 1927 มากระทั่งปี 2015 สำหรับข้อมูลของอังกฤษ ตั้งแต่ปี 1956 ถึงปี 2015

รู้จักลงทุนหุ้นตามสไตล์ Factor เด่น

จากรูปพบว่า Value, income and size ให้ผลตอบแทนส่วนเกินที่เป็นบวกระดับ 2-3% ต่อปีในสหรัฐ และ 3-6% ในอังกฤษ ส่วน Momentum ให้ผลตอบแทนส่วนเกินที่สูงกว่าปัจจัยอื่นๆ เป็นอย่างมาก แม้ว่าอาจจะมีค่าเทรดหุ้นสูงกว่าก็ตาม

สำหรับการวิเคราะห์ภายใต้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและลงนั้น สิ่งที่โดดเด่นมากคือการที่ปัจจัย Momentum ของตลาดหุ้นสหรัฐให้ผลตอบแทนเพียง 2% ในช่วงดอกเบี้ยขาลง และให้อัตราผลตอบแทนถึง 15% ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้พรีเมียมจากมูลค่า รายได้และขนาดเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและอังกฤษ เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง จะทำให้พรีเมียมจาก momentum สูงขึ้นในอังกฤษ ทว่าไม่เกิดขึ้นในสหรัฐ ทำให้จะเห็นได้ว่าผลของพรีเมียมจากโมเมนตัมในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นและขาลงขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยงของตลาดหุ้นในช่วงเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งขึ้นอยู่กับธรรมชาติของตลาดหุ้นแต่ละแห่ง

จะเห็นได้ว่าพรีเมียมจากคุณค่าและรายได้ยังคงมีค่าเป็นบวกแม้กระทั่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แม้ว่าจะมีค่าเกือบเป็นศูนย์สำหรับพรีเมียมจากคุณค่าในสหรัฐ ที่น่าสนใจคือ พรีเมียมจากขนาดมีค่าเป็นลบเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และส่วนต่างของพรีเมียมดังกล่าวสูงมากระหว่างช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นและขาลง

เหตุผลที่หุ้นขนาดเล็กทั้งในสหรัฐและอังกฤษมีผลตอบแทนต่ำหรือเป็นลบในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจาก

1.บริษัทขนาดเล็กมีแนวโน้มจะมีสินทรัพย์ ยอดขาย และกำไร กระจุกตัวอยู่ภายในประเทศ เนื่องจากช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เราโฟกัสไปที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบริหารอัตราเงินเฟ้อ จึงส่งผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทเล็กมากกว่าหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายในต่างประเทศด้วย

2.โดยทั่วไปในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น บริษัทขนาดเล็กจะอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าด้านการหาแหล่งเงินทุน ไม่ค่อยสามารถออกหุ้นกู้ด้วยตัวเองได้ ลังเลที่จะออกหุ้นสามัญใหม่ในตลาดทุน โดยพึ่งพาเฉพาะการกู้จากแบงก์เป็นหลัก บริษัทขนาดใหญ่สามารถไปหาแหล่งเงินในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้

3.บริษัทขนาดเล็กมักจะมีสินทรัพย์ในส่วนที่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซกเตอร์ในประเทศที่แกว่งตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ

โดยสรุปคือ หุ้นที่เป็นหุ้นคุณค่าหรือที่ค่อนข้าง Defensive หุ้นที่จ่ายเงินปันผลเยอะ หุ้นขนาดเล็ก และหุ้นที่กำลังเป็นช่วงขาขึ้น มักจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าครับ