“ข้อคิดเรื่องการเมือง นโยบาย และเศรษฐกิจ”

 “ข้อคิดเรื่องการเมือง นโยบาย และเศรษฐกิจ”

ะยะหลังนี้ ผมเดินทางไปพม่าบ่อย ไปทุกครั้งก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้น

โดยเฉพาะในนครย่างกุ้ง เห็นตึกรามบ้านช่อง โรงแรม ถนนหนทาง และสถานที่ประกอบการใหม่ๆ ผุดขึ้นเสมอ ชี้ว่าเศรษฐกิจพม่ากำลังเติบโตและเปลี่ยนแปลงเร็ว คนพม่ามีความเป็นอยู่ดีขึ้น และภูมิใจในความเป็นประเทศและการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ต่างกับเมื่อ 6 ปีก่อน ก่อนพม่าจะเริ่มปฏิรูปใหญ่ ที่เศรษฐกิจพม่าขณะนั้นเหมือนอยู่ในอดีต ไม่มีการเคลื่อนไหว แต่การปฏิรูปทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในพม่าเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ปฏิรูปใหญ่ที่ว่านี้มีทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ด้านการเมือง การปฏิรูป ทำให้มีการเลือกตั้งที่นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก หลังพม่าได้ถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารหลายทศวรรษ ด้านเศรษฐกิจคือ การปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยน จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่ค่าเงินจ๊าดเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด การปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนได้ลดการบิดเบือนที่สำคัญในเศรษฐกิจพม่าขณะนั้น และวางพื้นฐานให้เศรษฐกิจพม่าเติบโตตามกลไกตลาด นอกจากนี้รัฐบาลพม่าได้ดำเนินการหลายอย่างที่สร้างความทันสมัยให้กับเศรษฐกิจ และลดต้นทุนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การนำตู้เอทีเอ็มเข้ามาใช้โดยธนาคารพาณิชย์ การเปิดเสรีภาคธนาคาร และการจัดสรรสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ที่ทำให้การสื่อสารในพม่าสะดวก มีต้นทุนต่ำ ผลคือเศรษฐกิจพม่าเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 ขยายตัวเฉลี่ย 8% ต่อปี สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในแง่วิชาเศรษฐศาสตร์และการทำนโยบาย ผมจะพูดเสมอว่า พม่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีของความสำคัญของการเมืองและนโยบายที่มีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ คือ ถ้าการเมืองนิ่ง ประเทศสามารถเปลี่ยนรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศได้อย่างเป็นระบบ ความเชื่อมั่นต่อประเทศ โดยเฉพาะจากคนในประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะชัดเจนว่ารัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศสามารถถูกตรวจสอบและเปลี่ยนแปลงได้โดยประชาชน ชี้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองของประเทศ สำคัญต่อเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม ถ้าการเมืองไม่นิ่ง ขาดเสถียรภาพ หรือการบริหารประเทศไม่มีการตรวจสอบ ความเชื่อมั่นต่างๆ ต่อเศรษฐกิจก็จะขาด เพราะมีความไม่แน่นอนสูง กระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ

สำหรับความสำคัญของนโยบายต่อเศรษฐกิจ ตัวอย่างของพม่าแสดงชัดว่านโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในประเทศได้อย่างมหาศาล นโยบายที่ถูกต้องจะลดการบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจและสร้างแรงจูงใจให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโต กรณีพม่าชี้ให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลของกลไกตลาดที่สามารถเปลี่ยนเศรษฐกิจจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ เมื่อมีการทำนโยบายที่ถูกต้อง

ในกรณีของเรา ประเทศไทยช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างพม่า ส่วนหนึ่งเพราะการเมืองในประเทศเรายังไม่นิ่ง ยังมีความไม่แน่นอน ที่สำคัญการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา แม้จะเน้นการเพิ่มบทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นการใช้จ่ายต่างๆ แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเราก็ทำได้ไม่สูง เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละสามในช่วงหกปีที่ผ่านมา ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ในแง่นโยบาย หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นตามไปด้วย เรื่องนี้ถ้าเราดูจากประสบการณ์ในต่างประเทศ สาเหตุหลักที่บทบาทภาครัฐที่สูงขึ้นไม่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น จะมาจากสามเรื่อง

1.บทบาทภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น มาพร้อมกับการแทรกแซงกลไกตลาดที่หนักมือขึ้น เช่น ควบคุมราคาสินค้า ลดการแข่งขัน ทำให้การบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ผลคือประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง แม้รัฐจะใช้จ่ายมากขึ้น มีผลให้แรงจูงใจที่ภาคธุรกิจจะลงทุนหรือขยายธุรกิจลดลงกว่าเดิม เศรษฐกิจจึงไม่ขยายตัวเพิ่ม แม้รัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

2.การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและภาคธุรกิจของประเทศอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือ นโยบายมีประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งทำให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจลดลง โดยอาจเกิดจากการดำเนินนโยบายที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ ทำให้รูปแบบของนโยบายที่ออกมาไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่เพื่อสร้างประโยชน์ให้เฉพาะแก่บางจุด บางกลุ่ม บางพื้นที่ แบบประชานิยม หรือเป็นเพราะนโยบายที่ออกมาสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างไม่เท่าเทียมกัน เช่นให้ประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดรัฐบาลหรือผู้ออกนโยบาย แทนที่จะเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ การทำนโยบายจึงเป็นเพียงการใช้อำนาจรัฐจัดสรรผลประโยชน์ในระบบอุปถัมภ์ สร้างความไม่เป็นธรรมและบิดเบือนการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้จะลดแรงจูงใจให้กับระบบธุรกิจของประเทศ ทำให้มาตรการภาครัฐไม่มีผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจมากอย่างที่ควรเป็น

3.ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง แต่การดำเนินนโยบายทำได้ไม่ดีพอ คือ คิดไม่ดี ออกแบบไม่ดี ทำให้นโยบายที่ออกมาไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างที่หวัง ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ที่รับผิดชอบไม่ได้กำกับดูแลการทำนโยบายใกล้ชิดพอ หรือเป็นเพราะการทำนโยบายขาดข้อมูลหรือมาจากคำแนะนำของผู้ที่ไม่รู้จริง ผลคือนโยบายที่ออกมาไม่ประสบความสำเร็จ นำไปสู่ความสูญเสียของทรัพยากรของประเทศ ในเรื่องนี้ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ต้นตำรับทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาค เคยกล่าวว่า ความคิด (ideas) ของนักเศรษฐศาสตร์ไม่ว่าถูกหรือผิด มีพลัง (powerful) มากกว่าที่เข้าใจกัน” หมายความว่า นโยบายที่ดีและเลวสามารถมีผลต่อเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ทั้งสร้างและทำลายเศรษฐกิจ

ข้อคิดวันนี้คือ การเมืองและนโยบายสำคัญต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ถ้าทั้ง 2 เรื่องดี เศรษฐกิจและคนในประเทศก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้าทั้งสองเรื่องไม่ดี เศรษฐกิจและคนในประเทศก็จะเสียหาย เสียโอกาส