นโยบายใช้ PR หนุน ปัญหาให้ PR นำ

นโยบายใช้ PR หนุน ปัญหาให้ PR นำ

บริหารงานใดๆ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หนีไม่พ้นบริบท 1.นโยบาย 2.ปัญหา เป็น 2 ที่มา หรือต้นทางของการส่งต่อ แปลงเป็นแผนลงไปโครงการ กิจกรรมต่างๆ

เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติ หวังผลบรรลุถึงซึ่งเป้าหมายของนโยบายที่กำหนด ปัญหาที่แก้ไข

นโยบาย ปัญหาแยกกัน นโยบายว่าไป ปัญหาก็แก้ไป ยกเว้นปัญหานั้นมาจากผลกระทบของนโยบาย ต้องแก้ไขไปด้วยกัน คู่กันไป

ทั้งนโยบายและปัญหา ล้วนอาศัยการประชาสัมพันธ์ (PR) อยู่ที่จะใช้อย่างไร

ปกติแล้วจะออกนโยบายใดๆ เมื่อไร จังหวะโอกาสใด ผู้บริหารองค์กรกับฝ่าย PR ขององค์กรรู้ดีที่สุด กำหนดได้ เมื่อไรก็เมื่อนั้น โดยใช้ PR สนับสนุนนโยบาย ด้วยการสื่อสาร บอกกล่าวข่าวสารให้ประชาชนรู้ เข้าใจเข้าถึงกระตุ้นตระหนัก ชักนำความร่วมมือ

นโยบายใช้ PR หนุน

ส่วน “ปัญหา” อาจเป็นบริบทที่ต่างไปจาก นโยบาย กำหนดไม่ได้ ไม่รู้จะเกิดปัญหาอะไรที่ไหน ขึ้นกับตัวแปร ปัจจัยภายนอก เช่น ภัยแล้ง น้ำป่า โคลนถล่ม หรือกระทั่งการชุมนุมประท้วงต่างๆ ฯลฯ จะรุก จะรู้ได้ไหม เกิดปัญหาอะไร ทำอย่างไรถึงจะรู้ ถ้าไม่รุก ก็ตั้งรับ จะดีหรือ

มองในมุม PR สามารถรู้ปัญหา รุกแก้ไขได้ โดยให้ PR นำ

ให้ PR เป็นเครื่องมือในเชิงรุก ให้ PR นำด้วยการรุกรับฟังปัญหา จะทำให้รู้ว่าเกิดปัญหาอะไร วงกว้าง-วงแคบ รุนแรง-ไม่รุนแรงอย่างไร รุกรับฟังจากสื่อ จากประชาชน และอื่นๆ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายช่องทางการสื่อสาร อาทิ 1.ลงพื้นที่พบปะพูดคุย 2.ฟังโทร.แจ้งสายด่วนเข้ามา 3.ฟังข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ขององค์กรซึ่งพบเห็นปัญหา 4.ฟังผู้บริหารองค์กร 5.ฟังฝ่ายพีอาร์องค์กร ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร และหรือผู้พบเห็นปัญหา 6.ฟังประชาชนส่งจดหมายเข้ามา 7.ฟังโพลล์วิจัย 8.ฟังประชาชนที่เดินทางมาเข้าพบ 9.ฟังผู้ชุมนุมประท้วง 10.ฟังสื่อมวลชน 11.ฟังสื่อใหม่ ไลน์ แชร์ แชท และอื่นๆ

PR ดุจเครื่องมือนำทาง ชี้ทางปัญหา นำพาให้รู้ สู่การแก้ไข ใครติดตาม รับรู้ เข้าถึงปัญหา 11 ช่องทางนี้ หรือช่องทางอื่นใดนอกเหนือจากนี้ มีแต่ได้ ได้ประโยชน์จากการรับฟัง ยังผลให้รู้สถานการณ์ที่กระจ่าง เข้าใจสภาพการณ์ของปัญหาที่ชัดเจน นำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้อง

อย่างปัญหาถนนชำรุด ปริแตก แยกร้าว ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ องค์กรรู้ได้อาจเนื่องเพราะผู้ใช้รถใช้ถนนขับผ่านเส้นทางนั้น อาจโทร.สายด่วนแจ้งเข้ามา อาจมีชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้น โทร.สายด่วนแจ้งเข้ามา ขณะที่สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวนี้ด้วย รับฟังทั้งคนขับรถ ประชาชน และสื่อ ทำให้องค์กรได้รู้ 3 ทาง แต่ละช่องทางล้วนนำไปสู่การรู้ปัญหา ยิ่งฟังยิ่งรู้ ยิ่งฟังยิ่งได้

นอกจากได้รับฟัง ยังรู้เร็ว ถ้ารอให้ราชการรู้เองอาจรู้ช้า กว่าจะไปพบเห็น กว่าจะเสนอบันทึกข้อความเพื่อรายงานปัญหาผู้บริหารขึ้นไปตามลำดับชั้น รับฟังแล้ว รู้เร็วแล้ว แก้ไขทันที ไม่รีรอ ตั้งรับ หรือจะเป็นปัญหาอื่นๆ น้ำป่าซัดหมู่บ้านถูกตัดขาด พายุพัดบ้านเรือนเสียหาย ฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน

ราชการควร (ต้อง) ออกไปซ่อมถนนที่ชำรุดเลย ไม่รีรอใดๆ หากล่าช้าอาจส่งผลเสีย เช่น เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ เป็นใครย่อมนึกตำหนิหน่วยราชการ ใจเขาใจเรา เป็นเราบ้าง ขับไปตรงนั้นแล้วรถตกลงหลุม รู้สึกอย่างไร ปล่อยทิ้งไว้ ไม่เร่งรีบ กระทั่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจึงออกไปแก้ไขปรับปรุง ก็แปลว่าตามปัญหา ไม่นำปัญหา

จะซ่อมกลบหลุมด้วยยางมะตอย ปูนซีเมนต์ หรือวัสดุอื่นใด บดอัดฉาบอย่างไรให้ได้คุณภาพมาตรฐานงาน จัดไป จัดเต็ม เป็นการควบคุม ติดตามงานเพื่อแก้ไข แก้เร็วไม่พอต้องแก้ให้ดีด้วย ด้วยตรรกะ วิธีคิด วิธีการ รูปแบบ และเนื้อหางานเหมาะสม ถูกต้อง ลงตัวที่ดี เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย มิใช่ราชการลงตัว แต่ประชาชนค้างคา

ถ้าเป็นไปได้ให้ดียิ่งขึ้นแค่รู้ว่าเริ่มเป็นหลุมเป็นบ่อ ส่อว่าจะเป็นอันตราย รีบไปซ่อม ปลอดภัยไว้ก่อน เป็นการควบคุม ติดตามงานเพื่อป้องกัน ถ้าทำได้ล่ะก็สุดยอด

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่พอใจ หรือเดือดร้อนในเรื่องใดๆ ต้องบริหารจัดการปัญหา เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือ แก้ไขบรรเทาเบาบางลง หรือหมดไป ให้ PR นำปัญหา รับฟังรับรู้สารทุกข์สุกดิบ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจประชาชนมาใส่ใจองค์กร แก้ไขแล้วเสร็จ เป็นผลอย่างไร สื่อสารบอกกล่าวข่าวสารให้รู้ สื่อสาร 2 ทาง ทั้งรับฟังและบอกกล่าว เข้าใจที่ดี PR ครบวงจร

อาจไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา (เท่าที่ควร) จึงมีชาวบ้านไม่พอใจ รอราชการไม่ไหว ไม่ไปซ่อมเสียที ลงขันค่าใช้จ่ายกันซ่อมถนนเอง หรือนั่งอาบน้ำขังกลางถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ (ดังที่เคยเป็นข่าว) ประท้วง ทวงถามว่าหน่วยราชการหายไปไหน ประชาชนเดือดร้อน ไม่มาดูแล จะแก้ตัวอย่างไร

จะดีหรือไม่หากองค์กรหน่วยงานต่างๆ จะโฟกัส สนใจรับฟังปัญหา ให้ PR นำ โดยเกาะติดสถานการณ์ของปัญหาต่างๆ

หลายองค์กรทำอยู่แล้วอาจทำเพิ่มขึ้น ใครทำน้อยอาจทำเพิ่ม ใครยังไม่ได้ทำ (11 ช่องทางข้างต้น หรือช่องทางอื่นใดนอกเหนือจากนี้) อาจต้องเริ่ม

อาจเสนอแนะ ปัญหา ให้ PR นำ เป็นนโยบายหนึ่งขององค์กร เป็นแนวทางปฏิบัติ เน้นย้ำให้ความสำคัญเร่งด่วน รุกปัญหา รุกรับฟัง รู้เร็ว รู้แล้วรุกแก้ไขทันที ถ้าทำได้ย่อมนำมาซึ่งความเข้าใจที่ดี สัมพันธ์อันดี เป็นที่ชื่นชมประทับใจ ​​

อยู่ที่ฝ่ายพีอาร์องค์กรจะพิจารณา

โดย... ไพศาล อินทสิงห์