“อาณาจักรแห่งจักรยาน” แพร่ไปทั่วโลก

 “อาณาจักรแห่งจักรยาน” แพร่ไปทั่วโลก

มนุษย์ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะมานานประมาณ 223 ปี รูปลักษณ์ของจักรยานพัฒนาขึ้นเป็นลำดับอย่างเป็นประโยชน์มหาศาล จนถือได้ว่า

เป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ อย่างไรก็ดี ชะตาชีวิตของจักรยานขึ้นลงตามความต้องการใช้ของมนุษย์ ในเวลาประมาณ 100 ปีเศษที่ผ่านมา รถยนต์และมอเตอร์ไซค์เข้ามาแทนที่จนทำให้ผู้คนใช้จักรยานน้อยลง การฟื้นตัวของการใช้จักรยานเกิดขึ้นในหลายเมืองในรอบ 30 ปี แต่ก็ไม่ลุกลามเป็นไฟไหม้ป่า จนกระทั่งไม่นานมานี้จักรยานเริ่มมีสัญญาณกลับมาอีกครั้ง ในระดับโลก เมื่อแนวคิดของการเป็นเจ้าของจักรยานเปลี่ยนไปจากการเป็นเจ้าของส่วนตัวสู่การใช้ร่วมกันดังเกิดขึ้นในประเทศจีน

ทุกคนที่เคยเป็นเด็กคงจำความรู้สึกของการขี่จักรยานครั้งแรกได้ มันเป็นความรู้สึกตื่นเต้น เป็นเสรี สนุกสนาน เพลิดเพลินอย่างไม่อาจจะบรรยายได้ เมื่อโตขึ้นเราก็ขี่กันเป็นครั้งคราว มิได้ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางอย่างจริงจัง โดยลืมไปว่ามันเป็นสิ่งที่สร้างภาระให้แก่โลกน้อยมาก ทำให้เรามีร่างกายแข็งแรง ภาคภูมิใจในร่างกายของเรา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รู้สึกเท่าเทียมกัน โยงใยทั้งกับความเป็นครอบครัว ความพอเพียง และความเป็นมนุษย์ สำคัญที่สุดก็คือมันนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง

การใช้จักรยานในรูปแบบใหม่ที่กำลังกระจายคล้ายเป็นโรคติดต่อในเมืองต่างๆ ทั่วโลก เริ่มต้นมาจากจีนเพียงเมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ขอเท้าความถึงเรื่องจักรยานในจีนเพื่อให้เห็นความเกี่ยวโยงของอดีตกับปัจจุบัน

จักรยานเริ่มต้นในยุโรปและแพร่กระจายไปอเมริกาเหนือและทั่วโลก โดยกลายเป็นพาหนะสำคัญของการเดินทางของประชาชนทั่วไป ควบคู่ไปกับรถม้าและรถยนต์ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างสำคัญขึ้น ในปี 1913 เมื่อบริษัท Ford ผลิตรถ รุ่น Mode T ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก

ที่ผ่านมา จักรยานมิได้หายไปไหน ยังคงอยู่คู่ชาวโลกเพียงแต่ลืมเพื่อนคู่ยากคนนี้ไปบ้าง ในประวัติศาสตร์ของจักรยานมีรุ่นคลาสสิกหนึ่งในโลก ซึ่งมีจำนวนการผลิตสะสมถึงปี 2007 จำนวน 500 ล้านคัน ในจำนวนการผลิตสะสมในโลกทั้งหมดประมาณ 1 พันล้านคัน

จักรยานที่กล่าวถึงนี้เป็นของจีนยี่ห้อ นกพิราบบิน” (Flying Pigeon) ประวัติของโรงงานผลิตก็คือในปี 1936 นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในจีนสร้างโรงงานผลิตจักรยานขึ้นโดยใช้ยี่ห้อ สมอ ต่อมาเป็น ชัยชนะ และเปลี่ยนเป็น “Zhongzi”

ในปี 1949 หลังจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โรงงานนี้ก็กลายเป็นโรงงานผลิตจักรยานแห่งแรกของจีนยุคใหม่ โดยต้องการให้ผลิตจักรยานที่แข็งแรง มีน้ำหนักเบาและงดงามสำหรับคนจีนทั้งประเทศ คันแรกผลิตออกมาในปี 1950 โดยเลียนแบบจักรยานอังกฤษยี่ห้อ Raleigh ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลประกาศให้เป็นพาหนะเดินทางและขนส่งของชาติ จนในที่สุดจีนในยุคนี้ก็กลายเป็น อาณาจักรแห่งจักรยาน มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมีหน้าตาของครอบครัว เป็นสิ่งที่ ต้องมี ควบคู่ไปกับอีก 2 สิ่งคือนาฬิกาข้อมือและจักรเย็บผ้า

ในเมืองใหญ่ของจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะปักกิ่ง เมื่อมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่จักรยานสีเหลืองอยู่ทุกหนแห่ง ส่วนใหญ่ไม่จอดตามแผงจอดจักรยาน หากจอดเรียงกันเต็มไปหมด ทุกคันไม่มีคนใดเป็นเจ้าของ เพราะมันเป็นจักรยานของบริษัทธุรกิจที่นำมาให้ใช้ร่วมกันโดยเก็บค่าเช่าในอัตราที่ถูกมาก ประมาณ 4.50 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง ผ่านการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ของมือถือ กล่าวคือจักรยานทุกคันจะมี QR Code ซึ่งผู้เช่าใช้มือถืออ่านและจ่ายเงิน ปั่นไปจากที่หนึ่งก็เอาไปทิ้งไว้อีกที่หนึ่งของจุดหมายปลายทาง เช่น สถานีรถขนส่งมวลชน ตอนขากลับก็ใช้คันใดก็ได้

แนวคิดนี้เรียกว่า sharing economy ดังที่เราเห็นจากกรณีของแท็กซี่ UBER (ไม่มีรถแม้แต่คันเดียว แต่ทำธุรกิจโดยเป็นตัวกลางผ่านเทคโนโลยีให้ผู้โดยสารแชร์การใช้รถส่วนตัวในการให้บริการแท็กซี่) Airbnb (ไม่มีบ้านสักหนึ่งหลัง แต่ทำธุรกิจเป็นตัวกลางหาที่พักส่วนตัวที่ว่างให้นักท่องเที่ยว) และอีกมากมายในปัจจุบัน

“อาณาจักรแห่งจักรยาน” แพร่ไปทั่วโลก

จีนมี 2 บริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจให้เช่าจักรยานคือ Ofo และ Mobike และอีกประมาณ 60 บริษัทที่เล็กลงมา ในช่วง 4 ปี ของปรากฏการณ์นี้บริษัททั้งหมดนำจักรยานมาสู่การใช้ในถนนของจีน รวมทั้งสิ้นกว่า 18 ล้านคัน หากสงสัยว่ามากไหมก็ต้องเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก เฉพาะปักกิ่งเมืองเดียวมีผู้ลงทะเบียนใช้บริการนี้เป็นจำนวน 40 เท่าของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน

ปรากฏการณ์การใช้จักรยานร่วมกันนี้กระจายไปทั่วเมืองต่างๆ ของจีนอย่างรวดเร็ว ที่เมืองเฉิงตู (เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน มีประชากร 18 ล้านคน) มีจำนวนคนใช้จักรยานลักษณะนี้มากกว่าคนใช้รถไฟใต้ดินด้วยซ้ำ เฉพาะของ Ofo มีจำนวนการใช้ 320 ล้านเที่ยวต่อวัน เกือบทั้งหมดใช้จักรยานเป็นพาหนะเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟกับที่พักหรือที่ทำงาน

จากความสำเร็จในเรื่องการจัดการ การสร้าง platform สำหรับการจ่ายเงิน การติดตามจักรยาน การสร้างจักรยานที่มีประสิทธิภาพและคงทนต่อมือและเท้าของคนใช้ ฯลฯ ทำให้ Ofo กระจายไป 21 ประเทศ 250 เมือง มูลค่าธุรกิจ 2 พันล้านเหรียญ 

ลองดูตัวเลขการใช้จักรยานลักษณะนี้กันบ้าง ปักกิ่งมีจักรยาน 2.4 ล้านคัน มีผู้ลงทะเบียนใช้ 11 ล้านคน (เกือบเท่าครึ่งหนึ่งของประชากรปักกิ่ง) ในขณะที่นิวยอร์กมีจักรยาน 1 หมื่นคัน มีคนใช้ 2.36 แสนคน ปารีสมี 2.1 หมื่นคัน ลอนดอนมี 1.65 หมื่นคัน

อีกบริษัทหนึ่งคือ Mobike นั้น เน้นการออกแบบจักรยานแบบใหม่แทนที่จะใช้โซ่แบบเดิมในการขับเคลื่อนก็ใช้เฟืองทด ติดตั้ง GPS พร้อมกุญแจที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ ยางไร้ลม ล้อลักษณะใหม่ที่สะดวกต่อการดูแล ฯลฯ Mobike มีจักรยาน 9 ล้านคันใน 120 เมือง โดยครอบคลุมเมืองต่างๆ ในจีน สิงคโปร์ อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และมากกว่า 12 เมืองในสหรัฐ และคาดว่าจะถึง 100 เมืองก่อนปลายปีนี้

ทั้ง Ofo และ Mobike มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีนสนับสนุน อีกทั้งผู้สนับสนุนที่ยิ่งใหญ่สุดคือรัฐบาลจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นนโยบาย sharing economy โดยต้องการให้นวัตกรรมในเรื่อง sharing ของจีนเป็นของขวัญแก่ชาวโลก

มี 2 ข้อสังเกตจากปรากฏการณ์นี้ มนุษย์นั้นมีทั้งดีและไม่ดี มีกลุ่มอาสาสมัครออกไปซ่อมจักรยานที่เสียและทิ้งไว้ข้างถนนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้อย่างน่าชื่นใจ ในขณะเดียวกันในด้านไม่ดี มีจักรยานจำนวนไม่น้อยที่จอดอยู่หน้าที่พัก มีกุญแจล็อกอย่างดี เพราะได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นจักรยานส่วนตัวไปแล้ว

sharing economy มีพื้นฐานอยู่ที่การร่วมกันประหยัดทรัพยากร โดยใช้สิ่งที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรไปแล้วให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และมีจิตใจที่มีความพอเพียงเป็นฐาน ถ้ามนุษย์ขาดความตระหนักและขาดสภาพจิตใจที่เหมาะสมดังกล่าวแล้ว โลกจะประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในระยะยาวอย่างมิต้องสงสัย