มิงกะละบา

มิงกะละบา

เราในฐานะผู้นำยุคปัจจุบัน ควรปลูกฝังให้พวกเขานำตนเองเป็น (Self Leadership)

“มิงกะละบา ไหว้พระไหมครับ…”

“ไหว้พระไหมครับ…”

“ไหว้พระไหมครับ…”

เสียงจากกลุ่มเด็ก ๆ ชาวเมียนมากลุ่มใหญ่ อายุไม่เกิน 10 ปี ตะโกนเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาสักการบูชาพระธาตุอินแขวนในประเทศเมียนมา

เด็ก ๆ เหล่านี้อาสาเป็นไกด์ตัวจิ๋วพานักท่องเที่ยวชมพระธาตุอินแขวน พวกเขาพูดภาษาไทยชัดบ้างไม่ชัดบ้าง และด้วยความช่างพูดช่างตื๊อน่าเอ็นดู นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะตอบรับบริการอาสาพาเที่ยวจากน้อง ๆ ที่มาทำงานกันตั้งแต่เช้ามืด

“ผมต้องไปแล้ว ขอตังค์หน่อยครับ” เดินคุยกันมาตั้งแต่ตี 4 จู่ ๆ น้องไกด์ตัวจิ๋วก็ขอลา

“จะ 8 โมงเช้าแล้ว ผมต้องไปโรงเรียน คืนนี้พี่มาอีกไหม เดี๋ยวเรียนเสร็จแล้วผมกลับมาทำงานที่นี่ต่อ”

โอ้โห ขยันขนาดนี้!! ดิฉันอดนึกถึงลูกสาวที่บ้านที่อายุไล่เลี่ยกันไม่ได้ ป่านนี้คงยังไม่ลุกจากที่นอน เด็กที่บ้านแค่ตักข้าวเข้าปากคำหนึ่ง ปู่ย่าตายายก็ตบมือกันทั้งบ้าน เก่งมากลูก!

มันจะเป็นอย่างไรหนอในอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตเป็นผู้นำรุ่นถัดไป ระหว่างเด็กสู้ชีวิตทำงานหาเงินปากกัดตีนถีบ กับลูกหลานเราที่ยุคนี้ถูกประคบประหงม รักวัวให้ผูก รักลูกห้ามตี

หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนภัยที่บอกว่า ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ต้องเริ่มใส่ใจกับการเตรียมลูกหลาน ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่ ผู้นำแห่งอนาคตได้แล้ว ไม่ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจครอบครัวจะรวยหรือจน อย่างน้อยที่สุด เราในฐานะผู้นำยุคปัจจุบัน ควรปลูกฝังให้พวกเขานำตนเองเป็น (Self Leadership)

ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้มีโอกาสร่วมงานกับน้อง ๆ รุ่นใหม่ไฟแรง น้อง ๆ เข้ามาทำงานด้วยแรงบันดาลใจ (Passion) ที่แรงกล้า แต่มีหลายครั้งที่แรงบันดาลใจเหล่านี้ ไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมได้ ท้ายที่สุด พี่เองก็ส่ายหน้า ส่วนน้องเองก็หมดหวัง จบลงด้วยการลาจากองค์กรไปเริ่มหาแรงบันดาลใจใหม่ ณ สถานที่แห่งใหม่

โมเดลผู้นำตามสถานการณ์ (Situational Leadership-Taking Charge) โดย ดร.เฮอร์ซีย์ กล่าวถึงบทบาทของผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถนำตนเองได้ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการประเมินความพร้อมของตนเอง ว่า 1) เรื่องนี้อยากทำไหม? อยากอย่างเดียวไม่พอ ต้องถามตัวเองต่อว่า 2) แล้วเราทำเป็นไหม? นั่นคือสามารถทำมันออกมาได้ดีไหม

ถ้าประเมินแล้วว่าอยากทำและทำเป็น หัวหน้าพอจะวางใจปล่อยให้ทำตามความมุ่งมั่น

ถ้าประเมินแล้วเห็นว่าอยากทำแต่ยังทำไม่เป็น หัวหน้าคงต้องช่วยสอน ช่วยโค้ช ช่วยชี้แนะแนวทาง

ถ้าประเมินแล้วไม่อยากทำ ทั้ง ๆ ที่ทำเป็น อย่างนี้หัวหน้าคงต้องหว่านล้อมจูงใจกันสักหน่อย

สุดท้าย ถ้าประเมินแล้วไม่อยากทำ แถมทำไม่เป็นอีกต่างหาก เช่นนี้หัวหน้าก็คงต้องลงแรงสั่งการกันเลยทีเดียว

ลองเริ่มต้นง่าย ๆ เพียงเท่านี้ก่อนกับการบริหารคนใกล้ตัวท่าน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้นำยุคปัจจุบันอย่างเรา ๆ จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้นำยุคใหม่พร้อมรับมือกับโลกแห่งอนาคตในระดับสากล