คราสพระนารายณ์ (1)

คราสพระนารายณ์ (1)

ประวัติศาสตร์ 417 ปีของกรุงศรีอยุธยา เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาเป็นราชธานีเมื่อพ.ศ.1893 จนถึงเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ในสมัย

พระเจ้าเอกทัศ ยุครุ่งเรืองที่สุดน่าจะเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์ครองราชย์ตั้งแต่พ.ศ. 2199 – 2231 พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถทุกด้าน ทรงทำนุบำรุงบ้านเมือง สร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ขยายดินแดนและสร้างความยิ่งใหญ่แก่อยุธยา ด้วยการยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองพม่า เช่น เมาะตะมะ ย่างกุ้ง ทรงพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งใกล้ เช่น จีน อินเดีย เปอร์เซีย และแดนไกล เช่น ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส การค้าพาณิชย์กับต่างชาติเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยจำนวนมาก

เมื่อเปิดกว้างกับต่างชาติโดยเฉพาะชาวยุโรปที่มีกำลังทรัพย์และอาวุธเหนือกว่า พระองค์ทรงดำเนินพระราโชบายอย่างชาญฉลาดในการรักษาเอกราชของบ้านเมือง ทรงสร้างลพบุรีเป็นเมืองหลวงที่ 2 เพื่อป้องกันมิให้เรือรบฝรั่งล่วงล้ำเข้ามาถึงและเตรียมการเพื่อความไม่ประมาท ทรงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตกับฝรั่งเศสเพื่อถ่วงดุลอังกฤษฮอลันดา พร้อมกับเปิดรับวิทยาการใหม่ ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เพื่อพัฒนาประเทศ

พระองค์ทรงพระปรีชาญาณด้านศิลปะและวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงสุภาษิต 3 เรื่อง ทั้งทรงอุปถัมภ์บำรุงกวี นักปราชญ์ราชบัณฑิต และพระมหาเถรานุเถระจำนวนมาก ในรัชสมัยของพระองค์จึงปรากฏปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ ขุนเทพกวี ศรีปราชญ์ พระองค์ยังทรงโปรดกีฬาแข่งม้าแข่งช้างแข่งเรือ เสด็จประพาสป่าและจับช้างเถื่อนเป็นประจำ

คราสพระนารายณ์ (1)

ปรากฏการณ์สำคัญที่แสดงถึงการเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่ คือการเสด็จทอดพระเนตรคราส 2 ครั้งกับคณะบาทหลวงคริสต์-นิกายเยซูอิตชาวฝรั่งเศสที่ลพบุรี นั่นคือ (1) จันทรคราสเต็มดวง 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) จุดศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรปแอฟริกา ไทยเห็นได้บางส่วนช่วงเช้ามืด 5:29:22 น. (2) สุริยคราสเต็มดวง 30 เมษายน พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) เส้นทางคราสเริ่มต้นที่ภาคกลางของอินเดีย ตัดขึ้นตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านตอนเหนือของพม่า ไทยเห็นเป็นคราสบางส่วนช่วงเวลา 8:57:34 น.

ภายหลังสุริยคราสเดือนกว่า พระเพทราชายึดพระราชอำนาจและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ จากนั้นอีกเดือน สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก 180 ปีต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เสด็จทอดพระเนตรสุริยคราสเต็มดวง 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ที่ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากนั้นเดือนครึ่ง พระองค์ก็เสด็จสวรรคต

สุริยคราสมีอิทธิพลอย่างน้อย 1 ปี โดยมีกำลังสูงสุดในหน้า 7 และหลัง 30 วัน สุริยคราส 30 เมษายน 2231 เป็นคราสเต็มดวง ย่อมมีกำลังแรง เส้นทางคราสใกล้ไทยมาก จึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพระนารายณ์ ดังนั้น คราสนี้ต้องกระทบต่อดวงพระชะตาเป็นแน่

เพื่อค้นหาคำตอบ เราจะย้อนเวลากลับไปหาอดีตกัน

อุปกรณ์ที่ทำให้ย้อนอดีตได้ ไม่ใช่ไทม์แมชชีน แต่เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ นอกจากคราส 2 ครั้ง ยังมีอีก 4 ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ นั่นคือวันสวรรคต วันที่คณะราชฑูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าเฝ้า วันบรมราชาภิเษก และวันพระราชสมภพ

ผลพลอยได้ของการเปิดกว้างกับต่างชาติคือข้อมูลประวัติศาสตร์จากสายตาคนนอก (ที่น่าจะเจือปนด้วยอคติน้อยที่สุด) เล่มสำคัญที่อ้างอิงกันก็เช่น จดหมายเหตุลาลูแบร์ บันทึกของนิโกลาส แชร์แวส จดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ฯลฯ ข้อมูล 2 ส่วนแรกมีบันทึกไว้อย่างชัดเจนและบอกวันแบบสากล วันบรมราชาภิเษกมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา-ฉบับพันจันทนุมาศ แต่เป็นวันทางจันทรคติ ที่คลุมเครือสับสนสุดคือวันพระราชสมภพ

พระราชพงศาวดารข้างต้นกล่าวเพียงว่า “พระราชสมภพปีวอก พ.ศ. 2175” ส่วนข้อมูลในกูเกิ้ลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกที่เป็นส่วนใหญ่ว่า “พระราชสมภพวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175” กลุ่ม 2 ต่างไปนิดหน่อย คือไม่แน่ใจว่า 2174 หรือ 2175 กลุ่ม 3 ชี้ว่า “วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2175” ซึ่งผิดแน่นอน เพราะเดือนยี่เป็นเดือนไทย ไม่ใช่เดือนสากล

การบอกวันทางจันทรคติต้องประกอบด้วยวาร เดือนไทย ปีนักษัตร และขึ้นแรมกี่ค่ำ ข้อมูลทั้งหมดไม่ได้บอกขึ้นแรม เดือนยี่มีวันจันทร์ 4 วัน วันไหนล่ะ ? นี่แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ ข้อมูลอาจสูญหายหรือถูกวิเคราะห์และเขียนขึ้นใหม่

ผู้เขียนพบคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ (http://vajirayana.org) ซึ่งกล่าวว่า “...พระราชสมภพเมื่อปีวอก พ.ศ. 2175 เห็นจะเป็นเดือนยี่ เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า สั่งให้ทำพระราชพิธีเบญจเพศในเดือนยี่ปี 2199 และเข้าใจว่า ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า โปรดให้ฐาปนาพระพุทธปฏิมาห้ามสมุทร เป็นพระประจำวันขึ้นในรัชกาลนั้น 2 องค์ องค์หนึ่งขนาดเท่าตัวคน หุ้มทอง อีกองค์หนึ่งหล่อด้วยทองนพคุณทั้งแท่ง สูงศอกคืบ ๙ นิ้ว...”

สรุปคือไม่ทราบวันแน่นอน แต่อนุมานจากบริบทแวดล้อม (แล้วชาวเน็ตก็ลอกต่อกันมาโดยไม่รู้ที่มาที่ไป) วันจันทร์เดือนยี่คงถูกต้อง แต่ปีนั้นต้องคิดต่อ เพราะ (1) สัมพันธ์กับ “เบญจเพศ” และ (2) ปี 2199 เป็นปีสำคัญของพระองค์

“...ครั้นวันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก พ.ศ. 2199 สมเด็จพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 25 พระพรรษาโดยปี นับว่าเข้าเกณฑ์เบญจเพศ จึงได้โปรดให้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา…”

ปี 2199 พระองค์มีพระชนมพรรษา ย่าง 25” ไม่ใช่ เต็ม 25” ธรรมเนียมไทยเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (ตรุษไทย) เดือน 12 และเดือนยี่ยังคงเป็นปีวอก แต่ถึงเดือน 12 แล้ว จะขึ้นเดือนอ้ายอีกครั้ง จึงว่า โดยปีคำนวณย้อนกลับได้ 2199 – 24 = 2175 ดังนั้น ปีพระราชสมภพคือ พ.ศ. 2175

ข้อมูลสำคัญถูกเรียงร้อยเป็นเส้นทางแล้ว