สมมติว่าจีนจับมือกับอินเดียเสียแน่น

สมมติว่าจีนจับมือกับอินเดียเสียแน่น

อินเดีย จีน คือยักษ์ใหญ่ในเวทีโลกการขยับตัวในการดำเนินนโยบายของทั้ง 2 ประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนของโลกอย่างมีนัยสำคัญ

บทความนี้จึงขอนำเสนอความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของอินเดียและจีน ที่อาจกำลังจะหันกลับมาเป็นมิตรประเทศกันอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐได้ประกาศนโยบายตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2561 ...เพราะเพียง 4 วัน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายZhong Shan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นการเยือนเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ด้านการค้า การทุนระหว่างจีนและอินเดียเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา...

นายZhong เดินทางเยือนอินเดียครั้งนี้เพื่อร่วมเป็นประธานการประชุมร่วมด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีน-อินเดีย ครั้งที่11 (IndiaChina Joint Group on Economic Relations, Trade, Science and Technology) ที่กรุงนิวเดลี โดยมีนายSuresh Prabhu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย (ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการการบินพลเรือนอีกตำแหน่ง)เป็นประธานร่วมจากฝ่ายอินเดีย

แม้ชื่อการประชุมจะฟังดูธรรมดา แต่การเยือนครั้งนี้ “ไม่ธรรมดา” เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าจีนและอินเดียไม่ใช่มหามิตรกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้ง 2 ประเทศมีการเผชิญหน้ากันอยู่ในที ในประเด็นต่างๆ อาทิ เมื่อเดือน มิ.ย.2560 ทั้งสองเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับกรณีที่จีนแสดงท่าทีรุกล้ำเขตแดนของอินเดีย ที่ Doklam โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งคลี่คลายลงไปเมื่อปลายเดือน ส.ค.2560 นอกจากนี้ แนวคิดการรวมกลุ่มประเทศ Indo-Pacific ที่ในแง่มุมหนึ่งก็มีนัย เพื่องัดคานการแผ่ขยายอำนาจของจีนผ่านนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง(One Belt One Road)ก็มีประเทศอินเดียเป็น 1 ใน 4 ประเทศหลักที่ร่วมผลักดันแนวคิดนี้ด้วย

สาระสำคัญของการหารือตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ของอินเดีย ประกอบด้วยคำมั่นสัญญาจากจีนในการช่วยให้อินเดียขาดดุลการค้าในการค้าขายกับจีนน้อยลง(อินเดียขาดดุลการค้ากับจีนประมาณ 51.1 พันล้านดอลลาร์จากมูลค่าการค้ารวมประมาณ 71.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี2559 – 2560) โดยจีนจะเปิดรับสินค้าจากอินเดียเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและIT โดยจะให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าจากอินเดียด้วย นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 ประเทศ จะเปิดการเจรจาการค้าเสรีระหว่างกัน

นอกเหนือจากการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันแล้ว ประเด็นหนึ่งที่นายZhong ย้ำอย่างหนักแน่นในการให้สัมภาษณ์แก่สื่ออินเดีย คือ ความคาดหวังให้อินเดียร่วมมือกับจีนเพื่อแสดงบทบาทการเป็นผู้ส่งเสริมการค้าเสรีและระบอบการค้าพหุภาคีในบริบทโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พร้อมทั้งย้ำว่านโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน จะสามารถส่งเสริมนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของอินเดีย อาทิ Made in India และ Digital India ร่วมกันไปได้

การออกตัวของจีนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นความพยายามของจีนอย่างชัดเจนในการหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจรายใหม่เพื่อตอบโต้การปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ โดยการพยายามหวนย้อนไป แสวงจุดร่วม กับอินเดียและอ้างถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นกรอบที่ทั้งจีนและอินเดียเคยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้การเอ่ยถึงความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางกับโครงการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศของอินเดีย ก็นับเป็นการ แตะจุดสำคัญ ของความไม่ลงรอยกันระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากเดิมรัฐบาลอินเดียเคยมีท่าทียืนยันจะไม่เข้าร่วมนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางเพราะเสี่ยงต่อการกระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอินเดีย โดยที่ส่วนหนึ่งของเส้นทางดังกล่าวจะผ่านเข้ามาในพื้นที่ซึ่งอินเดียและปากีสถานอ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ด้วย

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายอินเดียกลับมีท่าทีจำกัดในการแถลงผลการหารือผ่านสื่อต่างๆ โดยทั้งนายPrabhu และข่าวในเวบไซต์ของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย ต่างแจ้งผลการหารือแบบกว้างๆ โดยเน้นย้ำประเด็นการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างจีน-อินเดีย และไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการจับมือกับจีนเพื่อแสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าเสรีในเวทีโลก ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ประเมินได้ว่าการที่อินเดียยังจำกัดท่าทีในการส่งเสริมความร่วมมือกับจีนอาจเป็นเพราะอินเดียยังคงต้องรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯต่อจีน อาจเป็นโอกาสให้อินเดียเพิ่มการส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ นอกจากนี้การที่อินเดียจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนมากและรวดเร็วเกินไปอาจทำให้สหรัฐฯหันมาออกนโยบายปกป้องทางการค้ากับอินเดียได้เช่นกันเพราะสหรัฐฯเอง ก็เคยส่งสัญญานในการประชุม WTO Mini Ministerial เมื่อ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า กำลังจับตามองนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าของอินเดียอยู่

นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในโลกใบนี้ ผู้ที่ปรับตัวและรู้เท่าทันจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบและอยู่รอด ในเมื่อจีนยังมองเห็นถึงศักยภาพของอินเดียในฐานะพันธมิตรหลักในเวทีการค้าโลก ไทยเองก็ควรมองอินเดียใหม่”ในฐานะการเป็นประเทศแห่งโอกาสทั้งการค้าการลงทุนเช่นกัน...วลีที่ว่า ตีแขกก่อนตีงู จึงเชยเสียแล้วเมื่อมังกรยักษ์อย่างจีนยังเลือกจับมือกับแขกอินเดีย ผู้เป็นช้างใหญ่แทนที่จะเอาไม้ไล่ตี

 

โดย... 

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตณกรุงนิวเดลี