ข้อคิดสตาร์ทอัพ

ข้อคิดสตาร์ทอัพ

สตาร์ทอัพมือใหม่มักพยายามเฟ้นหาสูตรสำเร็จซึ่งไม่มีอยู่จริง

แม้จะผ่านมาหลายปีแต่ความร้อนแรงของธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ยังคงเป็นกระแสอยู่ในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะบ้านเราที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงได้เห็นสตาร์ทอัพน้องใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ประการ

พื้นฐานของสตาร์ทอัพที่ดูจะไปได้ดีมักจะเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจ หรือเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปต้องการใช้แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นแอพพลิเคชั่นขึ้นมาซึ่งมักจะมียอดผู้ใช้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างทวีคูณตามมา

สตาร์ทอัพที่ล้มเหลวมักจะทำตรงกันข้ามคือ เริ่มจากธุรกิจก่อนว่าต้องใช้เงินเท่าไร โดยมักเอาแนวคิดของคนอื่นมาดัดแปลงแล้วหานักลงทุนมาอัดฉีดเงินเข้าไป โดยที่ยังไม่มีรูปแบบในการหารายได้ที่ชัดเจนนักเพราะไอเดียเริ่มต้นไม่แน่นพอ

สตาร์ทอัพมือใหม่มักพยายามเฟ้นหาสูตรสำเร็จซึ่งไม่มีอยู่จริง เนื่องจากสตาร์ทอัพแต่ละรายล้วนมีจุดเริ่มต้นทางความคิดไม่เหมือนกัน แม้ว่าบางคนจะมีความคิดริเริ่มที่ดีแต่รายละเอียดระหว่างลงมือทำก็มีตัวแปรอีกจำนวนมากจนอาจทำให้นวัตกรรมที่ดีต้องล้มเหลวไป

สูตรสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพอาจไม่มีอยู่จริง แต่แนวทางเบื้องต้นที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวพอจะนับหนึ่งได้อย่างมั่นคงมีอยู่ 8 ข้อ ที่อาจพอเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพบ้านเรา  

เริ่มจากข้อแรกคือ การบริหารจัดการที่ต้องเหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง เพราะสตาร์ทอัพส่วนมากคิดว่าไอเดียเป็นสิ่งเดียวที่ชี้ขาดว่าธุรกิจจะสำเร็จหรือล้มเหลวซึ่งเป็นจริงเพียงครึ่งเดียวเพราะหากธุรกิจทำไปโดยไม่รู้ว่ามีพนักงานเท่าไร มีทุนสำรองพอไหม รายได้จะเข้ามากี่บาท รายจ่ายมีอะไรบ้าง ฯลฯ ธุรกิจนั้นก็คงเดินไปอย่างไม่มั่นคงนัก

สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมักบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และหาทางแปลงไอเดียของตัวเองให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือเป็นโปรโตไทป์ให้รวดเร็วที่สุดเพื่อนำเสนอให้กับนักลงทุน การทำงานโดยไม่วางแผนจะทำให้ไอเดียดีๆ ที่มีกลายเป็นความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้

ข้อสองคือ การบริหารการเงินที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่มักเริ่มต้นโดยคนในด้านไอทีที่ไม่ค่อยมีพื้นฐานทางด้านการเงินสักเท่าไรนัก

ข้อสาม ความสามารถในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักลงทุน ซึ่งกว่าที่จะมาเป็นโปรโตไทป์ต้นแบบได้นั้นจำเป็นต้องรู้จักกระบวนการทำงานทั้งระบบอย่างลึกซึ้ง อย่านำเสนอเพียงแค่ผิวเผินหรือเน้นแต่จุดเด่นของตัวเองเพราะภาพรวมของระบบทั้งหมดอย่างละเอียดก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กันเลย

ข้อสี่ ต้องกล้าได้กล้าเสีย ธุรกิจที่ก่อตั้งมากับมือนั้นเมื่อถึงวันหนึ่งต้องขยายตัวเติบโตจะยึดติดกับเจ้าของเดิมคนเดียวตลอดไปไม่ได้ การมีนักลงทุนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของจึงเป็นวิถีทางปกติและต้องยอมรับมันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเก่งพอที่จะแสวงหาเวทีใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง

ข้อห้า ต้องทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลบเลี่ยงภาษี เพื่อความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ

ข้อหก การทำธุรกิจทุกขั้นตอนต้องมีเอกสารรองรับ ข้อตกลงทุกอย่างต้องมีสัญญาประกอบ เพื่อความถูกต้องและความเป็นมืออาชีพ

ข้อเจ็ด ต้องมีวินัยทางการเงิน รู้จักจัดการเงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม

ข้อแปด ต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงานให้ได้ อย่าให้ชีวิตส่วนตัวระหว่างบ้านกับที่ทำงานปะปนกันจนแยกไม่ได้ อย่าคิดประหยัดใช้บ้านเป็นที่ทำงานจนโต๊ะทำงานกับเตียงนอนอยู่ที่เดียวกัน เพราะต่อไปจะแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรคืองาน อะไรคือเรื่องส่วนตัว

สตาร์ทอัพ ถือได้ว่าเป็นความหวังของธุรกิจในหลายๆ ประเทศ แต่ก้าวแรกที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ก็อาจจะต้องอาศัยข้อคิดเหล่านี้เป็นพื้นฐาน