แนวโน้มของการเงินการธนาคารในศตวรรษที่ 21 (2) ***

แนวโน้มของการเงินการธนาคารในศตวรรษที่ 21 (2) ***

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินการธนาคารที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด คือ

 การเปลี่ยนจาก “บริการออฟไลน์” สู่ “บริการออนไลน์” และจาก “สังคมใช้เงินสด” สู่ “สังคมไร้เงินสด” ทั้ง 2 แนวโน้มกำลังปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากแนวโน้มข้างต้น ในบทความตอนนี้ ผมขอนำเสนออีก 2 แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินการธนาคาร ดังนี้

ประการที่ 3 จาก การพึ่งคนกลางสู่ การลดบทบาทคนกลาง” (De-intermediation)

ที่ผ่านมา การชำระเงินใช้ระบบหักบัญชีอัตโนมัติและธนาคารที่เป็นตัวกลาง ทำให้ลูกค้าส่งเงินข้ามพื้นที่ได้ แต่ยังมีอุปสรรคจำนวนมากที่ทำให้การชำระเงินไม่รวดเร็วและมีต้นทุนสูง เพราะเพียงการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการโดยใช้บัตรเครดิต 1 ธุรกรรม กว่าเงินจะถูกโอนไปยังปลายทาง ต้องเกิดธุรกรรมจำนวนมาก เช่น การตรวจสอบวงเงิน การอนุมัติของบริษัทบัตรเครดิต การตัดเงินผ่านบัญชีของธนาคาร รวมทั้งการโอนเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ทำให้ใช้ระยะเวลานาน และมีต้นทุนสูง

เช่นเดียวกับ การโอนเงินระหว่างประเทศ กว่าเงินจะถูกโอนจากผู้ส่งไปยังผู้รับ ต้องผ่านตัวกลางจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เวลาในการโอนที่ค่อนข้างนาน และต้นทุนสูง นอกจากนี้ การชำระเงินข้ามประเทศยังมีค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนสกุลเงินอีกร้อยละ 5 – 7 ของค่าบริการ

เทคโนโลยีใหม่กำลังเข้ามาปฏิวัติระบบการเงิน ทำให้เกิดช่องทางการโอนเงินใหม่ ๆ ที่รวดเร็วและต้นทุนต่ำ เนื่องจากลดขั้นตอนและบทบาทคนกลางในระบบการชำระเงิน ตัวอย่างนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่

(1) Blockchain ที่เข้ามาเปลี่ยนยุคของอินเทอร์เน็ตจาก “internet of information” สู่ “internet of value” ซึ่งเป็นเครือข่ายแบบกระจายที่ไม่มีคนกลาง โดยให้ทุกคน (หรือหลายคน) ในเครือข่ายช่วยกันตรวจสอบและยืนยันแต่ละธุรกรรมในเครือข่าย สิ่งที่ส่งผ่านในเครือข่ายนี้ คือ สินทรัพย์หรือเงิน

เทคโนโลยี Blockchain สามารถนำไปประยุกต์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบันทึกประวัติการแพทย์ ระบบจัดเก็บกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน ระบบส่งเสริมการขาย เป็นต้น

(2) ธุรกรรมระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer to Peer (P2P) Transaction) เช่น การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลทางออนไลน์ (P2P lending) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ และทำสัญญาโดยตรงระหว่างผู้มีเงินออมและผู้ต้องการกู้ยืม ทำให้มีต้นทุนการให้กู้ยืมต่ำกว่าธนาคาร

ตัวอย่าง Zopa เป็นบริการกู้ยืมระหว่างบุคคลบริษัทแรกของโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2548 มีผลการดำเนินการที่ดี โดยมีหนี้เสียเพียงร้อยละ 0.38 ในปี 2557 ซึ่งต่ำกว่าสถาบันการเงินแบบเดิม อีกตัวอย่างหนึ่งคือ CreditEase เป็นบริการให้กู้ยืมระหว่างบุคคลของจีน ซึ่งนำเงินส่วนเกินของคนในเมืองมาปล่อยกู้ให้คนชนบท

(3) Mobile Money หมายถึง เครือข่ายที่สนับสนุนการชำระเงินระหว่างบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยบริษัทประเภทใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันการเงิน เช่น

- MPESA เป็น mobile banking ที่ดำเนินการโดยเครือข่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคม

- PayPal ดำเนินการโดยผู้ค้าปลีกออนไลน์

- Safaricom เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเคนย่า ที่ให้บริการโอนเงินผ่านโทรศัพท์

(4) แพลตฟอร์มการระดมเงินทุนจากสาธารณะชน (Crowd-funding platform) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มคน และ start-ups ที่มีนวัตกรรม สามารถนำเสนอแนวคิด หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผ่านทางแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาด โดยได้รับเงินทุนจากผู้สนับสนุน ซึ่งผู้สนับสนุน อาจเป็นบุคคล ลูกค้า ลูกจ้าง บริษัท หุ้นส่วน หรือผู้มีส่วนได้เสีย

ในต่างประเทศมีแพลตฟอร์มลักษณะนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Kickstarter, Pledge Music หรือ Invested.in เป็นต้น

ประการที่ 4 จาก การผูกขาดสู่ การแข่งขัน

ในอดีต อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในประเทศไทยมีการผูกขาดในระดับหนึ่ง แต่เทคโนโลยีใหม่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินการธนาคาร ซึ่งในมุมมองผู้ให้บริการ เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ในมุมมองลูกค้า ลูกค้าจะมีทางเลือกและโอกาสมากขึ้น เนื่องจากการเกิดขึ้นของผู้เล่นใหม่ ๆ เช่น ผู้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ (e-Aggregators) และ ผู้จัดหาเทคโนโลยี (tech provider)

(1) e-Aggregators 

ปัจจุบันมีผู้เล่นใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจ โดยไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการโดยตรง แต่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลสินค้าและบริการของบริษัทต่าง ๆ เป็นเหมือนผู้จัดจำหน่ายหรือกระจายสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อได้ เช่น เว็บไซต์ที่ให้บริการจองที่พัก โรงแรม เป็นต้น 

เช่นเดียวกับธุรกิจการเงินการธนาคาร ผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ เช่น ผู้รวบรวมบริการประกันในระบบออนไลน์ ทำให้ลูกค้าเปรียบเทียบราคาและซื้อประกันผ่านระบบออนไลน์ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและบริษัทประกันจะถูกแยกจากกัน ลูกค้าจะเปลี่ยนบริษัทประกันง่ายขึ้น 

ดังตัวอย่าง Google เข้าสู่ตลาดการกระจายผลิตภัณฑ์ประกัน โดยเข้าซื้อกิจการ “BeatThatQuote” เป็น e-aggregator ในอังกฤษ โดยเรียกเก็บเงินจากบริษัทประกัน 54 ดอลลาร์ต่อ 1 คลิก

(2) ผู้จัดหาเทคโนโลยี (tech provider)

ผู้จัดหาเทคโนโลยีที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อถือ อาจเข้าสู่ตลาดการเงินการธนาคาร โดยใช้ความได้เปรียบจากฐานลูกค้า ข้อมูลลูกค้า และช่องทางการจัดจำหน่าย

ตัวอย่าง ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม หันมาทำธุรกิจธนาคาร เช่น

Telenor ของนอร์เวย์ เปิดธนาคาร Banka Serbia เมื่อปี 2557

- O2 ของเยอรมัน เปิด Fidor Bank ในปี 2559

Orange เปิด Orange Bank ในฝรั่งเศส สเปน และเบลเยียม ในปี 2560

Telefonica Spain ประกาศร่วมทุนกับ CaixaBank และ Santander

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการ Social Network หันมาทำ Social Banking เช่น

Facebook จดลิขสิทธิ์ถึง 50 ใบในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้โอนเงินผ่านแอพรับส่งข้อความได้

- Amazon ทำการทดลองจัดหาทุนกู้ยืมให้กับนักศึกษาผ่านทางแพลตฟอร์มของตน

- Wechat เป็นเครื่องมือทั่วไปที่ใช้โอนเงินในประเทศจีน

ผู้เล่นใหม่เหล่านี้ที่เข้าสู่ตลาดมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง และเจาะกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและสร้างแรงกดดัน ทำให้บริการทางการเงินแบบเดิมที่ครบวงจร (end-to-end) ต้องแตกออกจากกัน หรือต้องปรับตัวโดยการพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง หรือร่วมมือกับผู้เล่นใหม่ โดย PWC ได้ทำการวิจัยว่า 1 ใน 4 ของกระแสรายได้ของธนาคารจะได้รับผลกระทบ

นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป แม้ช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกรรมในระบบการเงินและธนาคาร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังไม่หยุดนิ่ง ความเสี่ยงจึงยังมีอยู่ การศึกษาเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อทรัพย์สินมากขึ้น

 

*** ชื่อเต็ม: แนวโน้มของการเงินการธนาคารในศตวรรษที่ 21 (2):

การลดบทบาทคนกลาง และการแข่งขันรุนแรงขึ้น