เดิมพันเกมสงครามการค้าโลก ในบริบทเศรษฐกิจใหม่

เดิมพันเกมสงครามการค้าโลก ในบริบทเศรษฐกิจใหม่

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกจำนวนมากได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรก เมื่อตอนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

ว่านโยบายกีดกันทางการค้าของเขาจะนำไปสู่การเริ่มต้นของสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างจีนกับสหรัฐ และคาดว่าน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีที่จะมีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นฐานเสียงของเขาเอง รวมถึงผู้บริโภคโดยรวมของสหรัฐในที่สุด

จนมาเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเกมด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม โดยอ้างอิงเหตุผลด้านความมั่งคง เพื่อที่จะจำกัดผลของนโยบายนี้ให้มุ่งเป้าไปที่สินค้าของจีนเป็นหลักนั้น จึงเท่ากับเป็นการจำกัดเกมสงครามการค้านี้ให้มีคู่กรณีเป็นจีนเท่านั้น ซึ่งเป็นการบีบให้จีนที่ในระยะหลังนี้พยายามประกาศตัวว่าต้องการจะลุกขึ้นมาปกป้องสนับสนุนการค้าเสรีของโลกแทนที่สหรัฐนั้น จำต้องออกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากสหรัฐจำนวนหลายรายการเพื่อเป็นการโต้ตอบ ท่ามกลางความระทึกของนักลงทุนทั่วโลกและประเทศขนาดเล็กทั้งหลาย ว่าสงครามการค้านี้จะก่อให้เกิดผลเสียที่ขยายวงออกไปสู่เศรษฐกิจโลกด้วย แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐเองจะมั่นใจในเกมสงครามการค้าที่ตนเองเป็นผู้เปิดขึ้นนี้ จึงทำการตอบโต้กลับอีกรอบด้วยการเปิดแผนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกนับพันรายการ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้สถานการณ์สงครามการค้าทวีความรุนแรงและสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

เกมสงครามการค้าที่มีสหรัฐเป็นฝ่ายเริ่มต้นขึ้น โดยการเปิดประเด็นเหตุผลว่าด้วยความจำเป็นในการตอบโต้จีนที่ทำการเอาเปรียบ บีบบังคับ และในหลายกรณีอาจถึงขั้นขโมยความลับในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญจากบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในจีนอย่างไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลานาน

ผลปรากฏว่า ล่าสุดนี้ทางประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกมาประกาศท่าทีที่อ่อนลงว่าจะเปิดตลาดของจีนให้มากขึ้นและลดภาษีนำเข้ายานยนต์ พร้อมกับจะดูแลไม่ให้เกิดมีการเอาเปรียบกันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอีกต่อไป

ดูเหมือนว่าเกมรุกเรื่องการปกป้องทางการค้าที่สหรัฐเป็นผู้เปิดขึ้นนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดผลเสียกับทุกฝ่ายในที่สุดนั้น ตอนนี้กลับสามารถเขย่าให้ยักษ์ใหญ่แบบจีน ซึ่งเคยถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้ เกิดอาการหวั่นไหวอย่างชัดเจนในยกแรกๆ นี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งจึงพากันให้เหตุผลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แตกต่างไป จากที่เคยมีท่าทีเดิมในช่วงแรกว่า สหรัฐอาจมีความจำเป็นที่ต้องเปิดเกมนี้ เพื่อรักษาความได้เปรียบในเรื่องของการเป็นผู้นำการคิดค้นความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อเศรษฐกิจสมัยใหม่ มากกว่าการปกป้องอุตสาหกรรมพื้นฐานแบบเดิมที่เคยคิดกันไว้ และการเปิดสงครามการค้าครั้งนี้ก็เพื่อบีบให้จีนต้องเปิดตลาดภายในให้กับการค้าบริการแบบเศรษฐกิจสมัยใหม่อย่างเป็นธรรม ให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นด้วย

แม้ว่าจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าฝ่ายไหนที่จะกลายเป็นฝ่ายที่เสียหายมากกว่าจากสงครามการค้าในครั้งนี้ก็ตาม แต่มันก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนหลายประการของจีนที่ไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกันมาก่อนนัก อาทิ ประการแรก ความได้เปรียบทางด้านจำนวนแรงงานของจีน อาจลดความสำคัญลงไปในระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถใช้ทดแทนแรงงานได้อย่างมากในอนาคต ประการที่สอง พัฒนาการทางด้านปัจจัยเชิงสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิทธิความเป็นเจ้าของของเอกชน หรือ Property Rights ในกรณีของจีนนั้น ยังอ่อนแอกว่าของสหรัฐมาก (แม้สหรัฐเองจะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ตาม) ซึ่งในยามที่เศรษฐกิจจีนมีปัญหาจากสงครามการค้านี้จนอาจทำให้เศรษฐกิจภายในหยุดชะงักลง ปัญหาเหล่านี้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจสั่นคลอนประธานาธิบดีจีนได้ในยุคของเศรษฐกิจใหม่ ที่อาจจะแตกต่างไปจากเศรษฐกิจปัจจุบันหรือแบบเดิมในอดีตที่ผ่านมา

ประเด็นเหล่านี้เองหรือไม่ ที่ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีท่าทีที่อ่อนลงมาก เพราะไม่อยากลงไปปะทะแบบสุ่มสี่สุ่มห้ากับประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ไม่เคยยำเกรงกับเสียงตำหนิเล็กน้อยจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว

 

*ผู้สนใจปัญหาการค้าของระบบเศรษฐกิจในอดีต สามารถดูเทปรายการเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ที่ www.facebook.com/ECONTUofficial/posts/1496930680436675