LEAN กลยุทธ์การพัฒนาองค์กรที่ขาดไม่ได้

LEAN กลยุทธ์การพัฒนาองค์กรที่ขาดไม่ได้

รู้จักหลักการของ Lean กันแล้วหรือยังครับ?

ความจริงแนวคิดของ Lean ได้ถูกพูดถึงกันมามากกว่า 20 ปีแล้วนะครับ ว่าเป็นวิถีหนึ่งแห่งความเป็นเลิศด้านการจัดการ มีหนังสือภาษาฝรั่งที่เขียนเกี่ยวกับ Lean มากมายหลายสิบเล่ม ในหนังสือภาษาไทยเองก็มีไม่น้อย ทั้งที่ผู้เขียนเป็นคนไทยเองหรือฉบับแปล

ในภาคการศึกษา หากมีการพูดถึงการจัดการกระบวนการ หรือการจัดการองค์กร ก็จะมีการพูดถึงแนวคิดของ Lean เสมอ

ด้านธุรกิจการจัดฝึกอบรมสัมมนานั้น Lean เป็นหัวข้อหนึ่งเพื่อ การพัฒนาปรับปรุงองค์กร มานานแล้ว เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาทาง กรุงเทพธุรกิจ ก็มีจัดอบรมหลักสูตร Lean Management ด้วยเช่นกัน

ไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งหนึ่งในบ้านเราก็ทำโครงการ Lean Supply Chain เพื่อสร้างเครือข่าย และพัฒนาองค์กรให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย Lean ในปัจจุบันจึงเป็น ผลิตภัณฑ์ความรู้ หนึ่งที่มีความสำคัญมาก

แม้แต่ในภาครัฐเองก็มีการพูดถึง Lean ใน แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity) โดยกล่าวว่า “มุ่งขจัดความสูญเปล่าของการดำเนินงานในทุกกระบวนการ ตัดกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่มีการเพิ่มคุณค่าในกระบวนการออกไป”

ดังนั้น ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่รู้จักกับหลักการแนวคิดของ Lean แล้ว การเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง มีสถาบันฝึกอบรมให้เลือกหลายแห่ง ที่จัดหลักสูตรเกี่ยวกับ Lean สำหรับในบทความนี้ ผมจะสรุปแนวคิดหลักๆ ตามพื้นที่ที่อำนวยครับ

เริ่มต้นที่ ทำไมถึงใช้คำว่า Lean? ถ้าแปลคำนี้ตรงตัวจะแปลได้ว่า ผอม เพรียว ไม่มีไขมัน Lean ได้ถูกนำมาใช้ขยายความเปรียบเทียบเป็น Lean Organization หรือ Lean Enterprise หมายถึง องค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีความกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วว่องไวในการปฏิบัติงาน

หลังจากรู้จักคำว่า Lean แล้ว คำสำคัญถัดมา 2 คำที่ถูกพูดถึงคือ คุณค่า" (Value) และ ความสูญเสีย" (Waste) ครับ หลักคิดพื้นฐานคือ ภารกิจของทุกองค์นั้นคือการส่งมอบคุณค่าในรูปของสินค้าและบริการให้กับลูกค้าและผู้ที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องอื่นๆ (Stakeholders)

แต่ในชีวิตการทำงานจริง กิจกรรมและทรัพยากรที่ใช้อยู่ในองค์กรจำนวนมาก กลับไม่ได้ใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าเลย กิจกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความสูญเสียหรือความสูญเปล่า ตามมุมมองของ Lean ที่ต้องขจัดออก หรือทำให้ลดลง เพื่อให้กิจกรรมการทำงานนั้น ส่งผลต่อคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการอย่างแท้จริง

องค์กรที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบและกรณีศึกษาของ Lean คือ โตโยต้ามอเตอร์ เหตุผลสำคัญหนึ่งคือ การเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในแง่ของยอดขายและผลกำไร จนก้าวมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน

โตโยต้าได้กำหนดคุณค่าที่เป็นเป็นเป้าหมายของระบบการผลิตของตนเอง ว่าต้องส่งมอบปัจจัยสามประการให้กับลูกค้าคือ คุณภาพสูงสุด (Quality) ต้นทุนต่ำสุด (Cost) และระยะเวลาการผลิตที่สั้นที่สุด (Delivery)

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ความสูญเสียในระบบการผลิต 7 ข้อได้ถูกกำหนดขึ้น จากนั้นสื่อสารให้กับพนักงานทราบ เพื่อให้ช่วยกันค้นหาความสูญเสียที่มีอยู่ในกระบวนการทำงาน และจะได้แก้ไขปรับปรุงต่อไป ท่านที่สนใจในรายละเอียด สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยคำว่าความสูญเสีย 7 ประการ

การขจัดความสูญเสียทั้ง 7 นั้น โตโยต้าได้ออกแบบระบบการผลิตของตนเอง โดยแบ่งเป็น 2 องค์ประกอบ หรือ 2 เสาหลักสำคัญคือ การจัดการด้าน ปริมาณ และการจัดการด้าน คุณภาพ

ในความสูญเสียทั้ง 7 ข้อนั้น โตโยต้ากล่าวว่าความสูญเสียที่สำคัญที่สุดในธุรกิจของตนเอง คือ การผลิตมากเกินไป (Overproduction) โดยให้ความหมายว่า คือการผลิตสินค้าที่ ลูกค้าไม่ต้องการ จำนวนมากกว่าที่ลูกค้าต้องการ และ เร็วกว่าที่ลูกค้าต้องการ

ลูกค้าในที่นี้นั้น กินความหมายทั้งลูกค้าภายนอกและลูกค้าภายใน (หรือกระบวนการทำงานถัดไป) ที่มาของระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT : Just In Time) เชื่อมโยงมาจากหลักนี้นั่นเอง

สำหรับด้านคุณภาพ หลักการคือทุกๆ หน่วยของกระบวนการนั้น มีส่วนร่วมและต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพของตนเอง คือการไม่ผลิตของเสีย และหากเมื่อใดพบของเสีย ต้องหยุดการส่งมอบให้กับกระบวนการถัดไปทันที พร้อมกับหยุดกระบวนการ เพื่อตรวจสอบหาต้นตอสาเหตุของปัญหา (Root Cause)

หลักการจัดการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพนี้ เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ผ่านกิจกรรม Kaizen ในองค์กร โดยสร้างวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรว่า ไม่ควรจะทำงานแบบเดิมซ้ำไปเรื่อยๆ แต่ทุกคนต้องมีส่วนในการตั้งคำถาม เพื่อสร้างสรรค์การปรับปรุงงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

ท่านที่สนใจอยากศึกษาเพิ่มเติม นอกเหนือจากการอบรมกับสถาบันต่างๆ แล้ว ผมแนะนำหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกชื่อ The Toyota Way, 14 Management Principles from the World’s Greatest Manufacturer กับ Lean Thinking, Banish Waste and Create Wealth in your Corporation ทั้งสองเล่มมีการแปลเป็นภาษาไทยครับ

 

โดย... กฤชชัย อนรรฆมณี