วิเคราะห์ทุกสมรภูมิการเงินในสงครามการค้าที่ไม่มีผู้ชนะ

วิเคราะห์ทุกสมรภูมิการเงินในสงครามการค้าที่ไม่มีผู้ชนะ

วิเคราะห์ทุกสมรภูมิการเงินในสงครามการค้าที่ไม่มีผู้ชนะ

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และประเด็นที่น่าสนใจที่สุด คงหนีไม่พ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนต่อจากนี้กันแน่

ในสมรภูมิเศรษฐกิจ “สงครามการค้าส่งผลเสียกับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง” และชัยชนะของสงครามนี้ เป็นได้แค่ “ใครเสียหายน้อยที่สุด” ซึ่งข้อนี้สหรัฐดูจะได้เปรียบ

จุดนี้นักวิเคราะห์ทั่วโลกดูจะมีความเห็นไม่ต่างกัน เพราะใครค้าขายมากกว่าก็ต้องเจ็บมากกว่า ความเสียหายประมาณได้ในลักษณะเทียบเคียงตามความเสี่ยง งานวิจัยของ McKibbin และ Stoeckel (2010) วัดผลของสงครามการค้ากับเศรษฐกิจ พบว่าการขึ้นภาษีระหว่างกันราว 10% ทั่วโลก จะส่งผลให้จีดีพีโลกปรับตัวลง 2.5% จากสหรัฐชะลอตัว 1.3% และเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงถึง 4.4%

ในสมรภูมิตลาดเงิน แม้ดอลลาร์จะอ่อนค่าก่อน แต่เมื่อการกีดกันการค้าเริ่มขึ้นจริง เงินหยวนก็มีโอกาสอ่อนค่ากลับเช่นกัน

ระยะสั้น เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากความกังวลทั้งเรื่องสงครามการค้าและปัญหาการเมือง แต่ในระยะยาว ถ้าการค้าชะลอตัวลง หรือสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนน้อยลงได้จริง ความต้องการเงินหยวนในตลาดก็จะลดลง ผสมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จีนคงเจ็บมากกว่า ค่าเงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าลงมากกว่าจากสงครามครั้งนี้

ในสมรภูมิของตลาดทุน เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกดดันทั้งหุ้นและบอนด์ และจีนเจ็บกว่าสหรัฐ

ระยะสั้นตลาดจะรับความเสี่ยงน้อยลง ธนาคารกลางทั่วโลกมีโอกาสที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่สงครามการค้าจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น สิ่งที่เราจะเห็นคือยิลด์ระยะสั้นนิ่งแต่ยิลด์ระยะยาวจะสูงขึ้นไปอีก

แรงกดดันจะไประเบิดที่หุ้นทั่วโลก นับตั้งแต่สงครามการค้าเปิดไม่นาน หุ้นจีนปรับตัวลงไปแล้วกว่า 10% เสียมูลค่าตลาดไปแล้วถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นสหรัฐก็ไม่น้อยหน้า ปรับตัวลงราว 7% มูลค่าตลาดลดลงไป 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ และเชื่อว่าความเสี่ยงยังไม่หมดเพียงเท่านี้

“การเจรจาต้องเกิดขึ้นแน่” แต่ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะชนะ

การที่โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า “เมื่อขาดดุลกับประเทศไหนถึงห้าแสนล้านดอลลาร์ต่อปีแล้วก็ไม่มีอะไรจะเสียไปกว่านี้” ไม่จริงทั้งหมด การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐเพียง 2-3% เทียบกับจีนที่ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 6-7% ถือว่า “หน้าตักต่างกันมาก” และสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามการค้านี้มากกว่าจีนชัดเจน

เมื่อพังทั้งคู่ สุดท้ายคือสงครามนี้จะจบได้อย่างไร

ประวัติศาสตร์สอนเราว่าสงครามการค้าอาจเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่คิดและการเจรจาเพียงสองฝ่ายอาจไม่ได้แก้ปัญหา บทสรุปอาจอยู่ไกลกว่าที่หลายคนจะจินตนาการได้

ย้อนกลับไปช่วงปี 1960 มีสงครามการค้าที่เรียกว่า Chicken War เกิดขึ้น ประเทศในยุโรปกล่าวหาสหรัฐว่าส่งออกไก่ไม่ได้คุณภาพและตั้งกำแพงภาษีกดดัน สหรัฐตอบโต้ด้วยการตั้งภาษีกับมันฝรั่ง รถยนต์ และเหล้าจากยุโรปตอบโต้ ในช่วงแรกธุรกิจในสหรัฐฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อทั้งในสหรัฐและยุโรปก็ปรับตัวสูงขึ้นมาก ผู้ค้าในยุโรปแก้เกมด้วยการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในแคนาดา สหรัฐเริ่มไม่เกินดุลการค้า

ต่อมา ราคารถยนต์ในสหรัฐที่แพงขึ้นกลับสร้างปัญหาใหม่ ธุรกิจถูกตีตลาดด้วยรถยนต์จากญี่ปุ่น สหรัฐต้องตั้งกำแพงภาษีเหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์กับญี่ปุ่นอีกครั้ง เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ กดดันให้เฟดต้องขยับอัตราดอกเบี้ยตาม ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นเกือบ 60% จนต้องไปจบที่ทุกประเทศต้องมาทำข้อตกลง พลาซ่า แอคคอร์ด ในปลายปี 1985 สงครามการค้าจึงเริ่มสงบ แต่สหรัฐก็ยังขาดดุลการค้าต่อเนื่องทุกปีมาถึงปัจจุบัน

มาถึงตรงนี้ นักลงทุนและผู้ประกอบการไทย แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ก็ควรเตรียมพร้อมรับความผันผวนที่สูงขึ้น และแนวโน้มการค้าที่อาจชะลอตัวลงทั้งในจีนและสหรัฐให้ดี

ภาพในอดีตและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าสงครามการค้านี้ไม่ส่งผลดีกับใคร แม้ทั่วโลกจะมีบทเรียนมาแล้ว แต่โอกาสที่สงครามการค้าจะยืดเยื้อก็ยังมีความเป็นไปได้สูงเพราะการขาดดุลการค้าของสหรัฐไม่น่าจะลดลงได้ง่าย

ผู้ประกอบการไม่ควรผูกติดการค้าของตนเองกับประเทศใดประเทศหนึ่งหรือสกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งมากเกินไป การบริหารและกระจายความเสี่ยง เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการค้าที่ยั่งยืน

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า “ทุกความเสี่ยงก็ย่อมมีโอกาส”

เมื่อการลงทุนผันผวนมากขึ้น สหรัฐและจีนกดดันกันมากขึ้น ราคาสินทรัพย์ทางการเงินก็จะถูกลงด้วยเช่นกัน ไม่แน่ว่า ผู้รอดชีวิตในสงครามการค้านี้อาจเป็นนักลงทุนที่ อดทน ติดตามแนวโม้นอย่างใกล้ชิดจนหาจังหวะเข้าลงทุนได้ถูกเวลา และถูกฝั่งในสงครามการค้าครั้งนี้ก็เป็นได้