เลิกบ่นเรื่องลูกน้อง....เปลี่ยนมุมมองแล้วลองทำดู!

เลิกบ่นเรื่องลูกน้อง....เปลี่ยนมุมมองแล้วลองทำดู!

ที่โต๊ะอาหาร ระดับหรูย่านสุขุมวิท.. เจ้าของกิจการและ เพื่อนที่เป็นCoachให้กับผู้บริหารระดับสูง ที่สนิทคุ้นเคยกัน 3 คน

นั่งคุยนั่งปรับทุกข์กันหลังมื๊อเย็นผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง จากที่คุยเรื่องทั่วไป เรื่องการเปลี่ยนแปลงของ Digital Disruption ที่เกือบทุกธุรกิจธุรกิจได้รับผลกระทบในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งผลกระทบที่ส่งผลทางลบและผลกระทบทางบวก และแนวโน้มของDisruption ที่จะเกิดมากยิ่งในปี2018นี้..

แต่ไม่ว่าผลกระทบที่เกิดจาก Digital Disruption จะส่งผลรุงแรงเพียงใด เมื่อบทสนทนา มาถึงเรื่องเกี่ยวกับ คุณภาพและศักยภาพของคนในองค์กร...คุณภาพและปัญหาเรื่องคนยังเป็นปัญหาคลาสสิคที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่อดีต ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต!

เมธา ที่เป็นเจ้าของธุรกิจที่มียอดขายปีละหลายร้อยล้าน เป็นคนเปิดประเด็นเรื่องลูกน้อง..

เมธา “พอคุยเรื่องลูกน้อง ตอนนี้ผมละเบื่อลูกน้องพวกนี้จริงๆ ทำงานก็ไม่ได้เรื่อง ผิดพลาดล่าช้า ต้องให้ผมตามแก้แทบทุกงาน”!

วรวุฒิ เจ้าของธุรกิจขนาดกลาง ที่เป็นเพื่อนกับเมธามาตั้งแต่สมัยเรียน นิสัยใจคอไปด้วยกันได้แทบทุกเรื่อง รีบเสริมขึ้นมาทันที

วรวุฒิ “ผมก็เหมือนกัน แต่ผมมีทีเด็ด! ผมแก้เผ็ดลูกน้องที่บริษัทผม ด้วยการตัดเงินพวกนี้เลย! ใครทำงานพลาดถูกตัดเงิน ส่วนใครทำงานดีถือว่าเสมอตัว ส่วนโบนัสจะให้ก็ต่อเมื่อบริษัทต้องได้ทั้งยอดขาย และกำไรเกินเป้า ถ้าได้ยอดขายตามเป้าแต่กำไรน้อยกว่าที่คิด ก็ไม่มีโบนัส!”

เมธาฟังวรวุฒิไป ก็ครุ่นคิดตามไป แล้วก็พูดว่า "วิธีนี้ก็เข้าท่าเหมือนกันนะ น่าเอาไปลองใช้บ้างเผื่อพวก

ลูกน้องที่บริษัทจะได้ทำงานดีขึ้น กระตือรือล้นขึ้น!"

เกรียงไกร ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหาร ปัจจุบันเป็นCoach ให้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆมากมาย ที่ผ่านมา เกรียงไกร ไม่ได้มีโอกาสเจอเพื่อนเก่า เมธา กับ วรวุฒิ มานานหลายปี

วันนี้เมื่อนัดหมายมาเจอกันได้ ถึงได้รู้แนวคิดในการบริหารจัดการเรื่องคน ของเพื่อนทั้งสองคน..

หลังจากเกรียงไกรฟังเมธาและวรวุฒิ บ่นเรื่องลูกน้องอีกสักครู่ ค่อยพูดด้วยสีหน้ายิ้มนิดๆว่า..

เกรียงไกร “ฟังเรื่องที่พวกคุณเล่าแล้ว ผมพอจะเข้าใจนะ..แต่ไม่ได้แค่เข้าใจคุณทั้งสองคนเท่านั้น...ผมกลับเข้าใจ”ความรู้สึก“คนที่เป็นลูกน้องของพวกคุณทั้งสองคนมากกว่า!”

เมธา กับ วรวุฒิ ถามแทบจะพร้อมกันทันทีว่า: “เกรียง.. คุณหมายความว่ายังไงเหรอครับ?”

เกรียงไกร ค่อยขยายความต่อ..“ถ้าคุณเอาแต่ฉุนเฉียว ดุด่าลูกน้อง ทุกครั้งที่ลูกน้องผิดพลาด นอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกน้องคุณพัฒนาแล้ว ยังทำให้ลูกน้องของคุณรู้สึกเครียดตลอดเวลา ทำอะไรก็ไม่ได้ดังใจคุณ..ทำไมคุณไม่ลองเปลี่ยนจาก”ดุด่า โวยวาย“เป็น”ใช้เวลาสอนและชี้แนะคนของคุณ“ เพราะนี่เป็นโอกาสที่ดี ที่จะช่วยพัฒนาคนของคุณจากงานที่ทำ แต่ถ้าคุณเอาแต่ฉุนเฉียว ดุด่าเท่ากับคุณเสียทั้งโอกาสสร้างคน และ ทำให้คนของคุณเสียความรู้สึกทุกครั้งที่ได้เจอคุณ..” เกรียงไกรหยุดพูดเพื่อให้เพื่อนทั้งสองได้ฉุกคิด

ทั้งเมธาและวรวุฒิ ฟังแล้วก็นั่งครุ่นคิดกับสิ่งที่เกรียงไกรแนะนำ....

เกรียงไกร เห็นเพื่อนทั้งสองเริ่มได้สติ ค่อยพูดต่อ "ผู้บริหารที่เก่งๆ ส่วนมากก็จะคล้ายกับคุณทั้งสองคนนั่นแหละ ที่ คิดเร็ว ทำเร็ว ใจร้อน ฉุนเฉียวง่ายเมื่อมีอะไรไม่ได้ดังใจ..

ถ้าเราไปเน้นที่การลงโทษโดยหักเงินเดือน หรือตัดผลประโยชน์ ไม่ว่าสิ่งที่คุณพยายามตัดจากลูกน้องคุณจะมาก หรือน้อยก็ตาม มันอาจจะไม่มากพอที่จะทำให้บริษัทคุณรวยขึ้น...แต่มันมากเกินกว่าที่คุณจะคิดในความคิดของลูกน้องคุณ และมันทำให้ลูกน้องของคุณ ซึ่งแทบทั้งหมดไม่ใช่คนรวย ต้องจนลงทุกเดือน!"

วรวุฒิ ถามต่อทันที “แล้วถ้าเราไม่หักเงินเดือน ไม่ลงโทษเวลาลูกน้องทำผิด มันจะไม่ได้ใจเหรอ?”

เกรียงไกร “ เราต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือ”ผิด“ อะไรคือ”พลาด“ นะวุฒิ ถ้าลูกน้องเกเร ไม่มีวินัย หรือทุจริต เรียกว่า”ผิด“ แต่ถ้าลูกน้องทำงานด้วยความตั้งใจ แต่ไม่ถูกใจ หรือผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ไม่ใช่”ผิด“แต่คือ”พลาด“ ก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหรือผู้บริหารที่จะสอนจะแนะนำนะ”

“ผมพูดกับคุณสองคนได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะ...เราสามคน เป็นเพื่อนกัน รู้จักกันมานาน คุยกันตรงๆได้ และผมไม่มีส่วนได้ ส่วนเสียกับบริษัทของคุณ ส่วนคุณอยากจะให้เกิดผลดี หรือปล่อยให้เกิดผลเสียอย่างที่เป็นอยู่ ก็แล้วแต่คุณทั้งสองคน แต่ผมจะแนะนำเพิ่มเติมเป็นข้อคิดให้คุณไปลองคิด หรือถ้าลองทำได้ ก็ยิ่งจะเป็นผลดีกับคุณ...ลองฟังแล้วเก็บไปคิดนะ..... ”

" ลองมองลูกน้องของคุณในอีกมุมดูสิ...

ยังไงคุณทั้งสองคนก็ไม่สามารถทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวแล้วทำทุกอย่างได้..จริงมั๊ย?

 พวกเขาคือคนที่ช่วยงานคุณนะ ที่สำคัญก็คือ.. คุณให้เวลาเพียงพอในการพัฒนาลูกน้องของคุณแค่ไหน?

 ถ้าคุณให้เวลาตรงส่วนนี้น้อย... ปัญหาจะเยอะ!"

“ อันที่จริงเมื่อลูกน้องทำงานพลาดหรือไม่ได้ดังใจ คุณจะเริ่มมองเห็นโอกาสในการพัฒนาลูกน้องแต่ละคน ด้วยเป้าหมายเดียวกันแต่ใช้วิธีการที่แตกต่างกัน! เช่นใช้จุดแข็งของลูกน้อง ไม่ใช่ไปมุ่งเน้นโจมตีจุดอ่อนของลูกน้องคุณเอง! ”

“ถ้าคุณใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น ให้พวกเขาในสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้รับ แล้วลูกน้องของคุณก็จะให้สิ่งที่คุณต้องการในรูปของผลงานและความทุ่มเท!”

เกรียงไกรทิ้งท้ายด้วยใบหน้ายิ้มๆ..

“ ยังไงก็ฝากไปลองคิด ลองทำดูนะ... นัดกินข้าวครั้งต่อไป น่าจะมีเรื่องดีๆของลูกน้องคุณทั้งสองคนมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะ”.