“กำกับดูแลกิจการดี ธุรกิจดี ประเทศดี”

“กำกับดูแลกิจการดี ธุรกิจดี ประเทศดี”

บทความวันนี้พูดถึงงานสัมมนาที่สถาบันไอโอดีจะจัดในวันพุธที่ 4 เม.ย.นี้ เป็นรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคธุรกิจ

เพื่อสื่อสารความพยายามที่หลายหน่วยงานขณะนี้ รวมถึงบริษัทเอกชน กำลังดำเนินการเพื่อให้นักลงทุนและภาคธุรกิจทราบ กระตุ้นให้เกิดการเข้าร่วมขับเคลื่อนจากทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องเป็นแนวร่วมสำคัญ เพราะการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีต้องมาจากทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้งานจะจัดเป็นภาษาอังกฤษ จัดร่วมกับหอการค้าต่างประเทศเจ็ดแห่งที่ร่วมจัดงาน คือ หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand) หอการค้าสหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และสิงคโปร์ คาดว่าจะมีสมาชิกของหอการค้าต่างประเทศเหล่านี้มาร่วมงานพอสมควร

หัวข้อสัมมนา คือ กำกับดูแลกิจการดี ธุรกิจดี : ความก้าวหน้าประเทศไทย หรือ Better Governance Better Business : Thailand’s Progress ชี้ถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่จะมีต่อธุรกิจ นำไปสู่การทำธุรกิจที่ดี ต่อยอดไปถึงระบบเศรษฐกิจที่ดี และประเทศที่ดี สำหรับบริษัทธุรกิจ การทำธุรกิจโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของบริษัทมาก

หนึ่ง ทำให้การทำธุรกิจของบริษัทเป็นระบบมากขึ้น เป็นการทำธุรกิจที่มีกระบวนการหรือวิธีการที่เป็นที่ยอมรับบนพื้นฐานของการมีความรับผิดรับชอบ ความโปร่งใส และให้ความสำคัญเรื่องความเป็นธรรม หรือ fairness นำไปสู่การตัดสินใจที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของบริษัท

สอง ประโยชน์ที่บริษัทจะได้จากการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญ เรื่องระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ขณะนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น คือยังมองเฉพาะผลการดำเนินการแบบปีต่อปี ให้ความสำคัญกับเรื่องระยะสั้น แต่มองข้ามผลที่จะมีต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ทั้งหมดจริงๆ แล้ว ก็คือ การบริหารความเสี่ยงที่การตัดสินใจของบริษัทควรให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ ในรูปของการมียุทธศาสตร์ธุรกิจที่กำหนดแผนงานธุรกิจในระยะยาว และทำให้ธุรกิจของบริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามยุทธศาสตร์ ซึ่งสำคัญต่อการเติบโตที่ต่อเนื่องของบริษัท

สาม คือ ประโยชน์ที่การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะมีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท เกิดจากความไว้วางใจ หรือ Trust ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ นักลงทุน บริษัทคู่ค้า และสังคม จะมีต่อการทำธุรกิจของบริษัท เป็นผลจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่บริษัททำธุรกิจอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความไว้วางใจ และพร้อมสนับสนุนธุรกิจของบริษัทให้เติบโตต่อไป ซึ่งก็คือความหมายที่แท้จริงของความยั่งยืนทางธุรกิจ

     ทั้งหมดคือ ผลที่การกำกับดูแลกิจการที่ดีสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัท นำไปสู่ความน่าเชื่อถือ ความเข้มแข็งของแบรนด์ และความไว้วางใจที่ลูกค้า นักลงทุน เจ้าหนี้ และพนักงานมีต่อบริษัท ทำให้บริษัทจะสามารถระดมทุนได้อย่างไม่ติดขัด รักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่กับบริษัทได้ต่อไป เหล่านี้คือ เงื่อนไขของการเติบโตที่ยั่งยืน

สำหรับภาคธุรกิจไทย ความสนใจและพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการ มีความก้าวหน้าดีเป็นลำดับ จากการประเมินของสถาบันไอโอดีที่ได้ทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2001 ข้อมูลชี้ว่าคะแนนเฉลี่ยด้านซีจีของบริษัทจดทะเบียนไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จากคะแนน 50 ส่วนร้อยในปี 2001 เป็น 80 ส่วนร้อยปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความตระหนักและความสนใจของบริษัทจดทะเบียนต่อเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ถือเป็นความสำเร็จของการพัฒนาซีจีของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อน และควรต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

จุดอ่อนแรก คือ ช่องว่างระหว่างการมีนโยบายและการปฏิบัติจริง

สอง คือ การทำธุรกิจส่วนใหญ่ยังเน้นการทำกำไรระยะสั้นเพื่อผู้ถือหุ้นมากกว่าการมองความคงอยู่ของธุรกิจในระยะยาว

สาม คือ ความจำเป็นที่ต้องขยายแนวคิดเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้แพร่ไปสู่ส่วนอื่นๆ 

วันพุธที่ 4 เม.ย.นี้ จึงเป็นโอกาสที่หน่วยงานที่มีบทบาทด้านนี้โดยตรง จะมาถ่ายทอดให้ภาคธุรกิจทราบถึงความพยายามต่างๆ ที่ได้ทำไป และความคืบหน้าที่มี เริ่มโดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพูดถึงนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ต่อด้วย รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (...) จะพูดถึงการสร้างความไว้วางใจและความโปร่งใสในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ ตามด้วย เกศรา มัญชุศรี ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะพูดในประเด็นการขับเคลื่อนการเติบโตและความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ผ่านการให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ก็คือ สิ่งแวดล้อม ผลต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการ จากนั้น วิเชียร พงศธร รองประธาน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะให้ความเห็นเกี่ยวกับความพยายามที่จะต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันผ่านการออกกฎหมายและบทบาทของภาคประชาสังคม ส่วนผมเอง ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถาบันไอโอดี จะให้ความเห็นในประเด็นการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมในภาคธุรกิจ จากมุมมองที่ได้สัมผัสจากงานของสถาบันไอโอดี และงานของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

จึงอยากเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมงานกันมากๆ เพื่อรับทราบและร่วมแสดงความคิดเห็น ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปในระดับที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อประโยชน์และอนาคตของคนไทยรุ่นต่อๆ ไป