เรากำลังต้องคำสาปใช่ไหม?

เรากำลังต้องคำสาปใช่ไหม?

คงทราบกันแล้วว่า นายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งสื่อสังคมเฟซบุ๊ค กำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก สืบเนื่องมาจากข้อมูลของผู้ใช้สื่อนั้นถูกขโมยไป

ใช้ในด้านการเมือง เรื่องนี้อาจมองได้จากหลายมุม เช่น ทันทีที่เรื่องปะทุออกมา สื่อรายงานว่าราคาหุ้นของเฟซบุ๊คตกฮวบลงมากว่า 6% ส่งผลให้ทรัพย์สินของนายซักเคอร์เบิร์ก หายไปหลายพันล้านดอลลาร์ หรือมีผู้มองว่า รัฐบาลต้องเข้าไปควบคุมเรื่องการเก็บและใช้ข้อมูลของสื่อสังคมให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลถูกเก็บและใช้โดยละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลอีก ทั้งยังอาจมีผลในด้านการทำลายระบอบประชาธิปไตย

เรากำลังต้องคำสาปใช่ไหม?

สื่อสังคมเฟซบุ๊คเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นแห่งยุคของโลกไร้พรมแดน ยุคนี้มีเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อน มันทำให้โลกไร้พรมแดนเพราะเราสามารถสื่อสารกันได้ภายในพริบตา ไม่ว่าเราจะอยู่ในมุมไหนของโลกและเราสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยไม่ต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน รวมทั้งการเล่นไพ่ เครื่องมือที่ใช้ในการทำกิจเหล่านี้มีความสามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไว้ได้ซึ่งผู้ใช้มักไม่ตระหนัก หรือมิให้ความสำคัญ จนกระทั่งมันถูกนำไปใช้ในด้านร้าย เช่น การกรรโชกทรัพย์และการลักเงินในธนาคาร สำหรับในด้านการเมืองที่ทำให้นายซักเคอร์เบิร์กตกที่นั่งลำบาก ได้แก่ข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกัน ราว 50 ล้านคน ถูกขโมยไปวิเคราะห์เพื่อหาวิธีโน้มน้าวให้พวกเขาออกเสียงให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559

จากมุมมองหลากหลาย เราอาจมองว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งด้านดีและด้านร้าย เราคาดเดาได้ล่วงหน้า ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีมีทั้งด้านดีและด้านร้าย หากตั้งใจใช้ในทางดี มันจะให้ผลดีจนดูเหมือนว่ามันมีพรสวรรค์ หากใช้ในทางร้ายโดยไร้คุณธรรม มันก็สาป อย่างไรก็ดี อาจมีผลพวงที่เราไม่คาดเดาล่วงหน้ามาก่อนก็ได้ กล่าวคือ ทั้งที่เราคิดว่าเราใช้ไปในทางดี บนฐานของความรู้ที่เรามีอยู่และตามหลักคุณธรรม แต่มันกลับให้ผลร้าย เช่น เรื่องสารเคมีที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรมกำลังสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เรากำลังต้องคำสาปใช่ไหม?

ผลร้ายจากการขโมยข้อมูลไปใช้ที่ทำให้นายซักเคอร์เบิร์กตกที่นั่งลำบากนั้น เห็นยากและไม่มากเท่ากับผลร้ายจากการใช้อาวุธที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลบังคับ เช่น ในย่านตะวันออกกลางในปัจจุบัน เกิดการบาดเจ็บล้มตายและการทำลายทรัพย์สินจำนวนมากเกือบทุกวันโดยผู้ใช้อาวุธนั้นมิต้องเสี่ยงอันตรายเพราะนั่งอยู่ในห้องบังคับการที่อยู่ห่างไกล

ผลร้ายจากการใช้อาวุธดังกล่าวเห็นได้ง่าย แต่ยังมีผลร้ายยิ่งกว่าซึ่งมักมองกันว่ามิใช่ผลร้าย หรือไม่ค่อยตระหนักกัน นั่นคือ การทำลายทรัพยากรจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง การทำลายนี้อาจตีค่าออกมาตามราคาของอาวุธซึ่งเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ เช่น เครื่องบินขับไล่ราคาลำละ 35 ล้านดอลลาร์ เปลี่ยนเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ ราคาลำละ 150 ล้านดอลลาร์ นั่นเป็นในสหรัฐซึ่งมั่งคั่งและสร้างเครื่องบินได้เอง สำหรับประเทศที่มีความมั่งคั่งน้อยกว่าและผลิตอาวุธเองไม่ได้ ผลร้ายย่อมสูงกว่าถ้ามองจากค่าของทรัพยากรที่ต้องเสียไปในการซื้อหาอาวุธ ยิ่งกว่านั้น ถ้าการซื้อหาต้องเสียค่านายหน้าให้กับผู้นำกองทัพฉ้อฉล ผลร้ายยิ่งสูงขึ้นไปอีก

มิใช่แต่อาวุธเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยนเมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ เครื่องมือเครื่องใช้ก็เช่นกัน เครื่องมือแสนสำคัญในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลคือโทรศัพท์มือถือ ในยุคนี้ การเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นรุ่นล่าสุดมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ชีวิตขาดไม่ได้ ไม่ว่ามันจะจำเป็นจริงๆ หรือไม่ก็ตาม แม้มิได้ใช้ไปในทางร้าย แต่อันตรายของโทรศัพท์แบบนี้มีมาก จากอุบัติเหตุเมื่อใช้ในระหว่างเดินหรือขับรถไปจนถึงการเกิดสังคมก้มหน้าและภาระหนี้สินจนสูญที่ดินของชาวบ้าน เพราะตามใจลูกหลานเกินเหตุ

คอลัมน์นี้แสดงข้อคิดเห็นหลายครั้งว่า เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้าเท่าไร คุณธรรมของผู้ใช้ต้องยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากอานุภาพที่สูงขึ้นของมัน วันนี้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ถ้าจะป้องกันอันตรายจากคำสาปของเทคโนโลยีใหม่ ผู้ใช้ต้องมีทั้งความเข้าใจในอันตรายของมันและความอดกลั้นที่จะมิใช้หากไม่จำเป็นจริงๆ แต่สังคมไทยไม่เป็นเช่นนั้น จึงกำลังตกอยู่ในสภาพต้องคำสาปของเทคโนโลยี