คนไทยกับสัตว์ป่า : ธรรมทัศน์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ***

คนไทยกับสัตว์ป่า :  ธรรมทัศน์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ***

กรณีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ปัญหาของบุคคลหรือคณะบุคคลเท่านั้น

หากแต่ได้สะท้อนถึงปัญหาการพัฒนามนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ด้วย ในที่นี้จึงใคร่นำเสนอธรรมทัศน์ที่ให้คติเกี่ยวกับสัตว์ป่าของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (..ปยุตฺโต) ที่ได้บรรยายธรรมแก่คณะกรรมการและสมาชิกแห่งสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2538 และต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ “คนไทยกับสัตว์ป่า”

ปาฐกถาธรรมนี้ แม้จะแสดงมานานถึง 23 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงทันสมัยอยู่เสมอ ปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านได้พูดถึงก็ยังคงเดิมหรือเลวร้ายลงกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองในแง่ของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ก็จะเห็นได้ว่า มนุษย์แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าไปมากในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สภาพจิตใจก็ไม่ได้พัฒนาไปเท่าที่ควร

การปาฐกถาธรรมของท่าน ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะกระทบบุคคลใด หากแต่มุ่งหวังที่จะได้กลับมาฟังและพิจารณาธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จ เพื่อทบทวนและตรวจสอบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับพิจารณาถึงแนวทางในการแก้ไข ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม

เจ้าประคุณสมเด็จบรรยายให้เห็นว่า เป็นธรรมดาป่าย่อมคู่กับสัตว์ป่า ที่ไหนมีป่าก็ย่อมมีสัตว์ป่า ที่ไหนมีสัตว์ป่าก็ต้องมีป่า แต่สภาพทุกวันนี้มีป่า แต่ไม่จำเป็นต้องมีสัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่าถูกคนทำลายกำจัดหมดไป ข้อมูลในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 60% แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ป่าเมืองไทยลดจาก 60% เหลือ 53% และใน พ.ศ.2528 ลดเหลือเพียง 29.01%

การที่ป่ากับสัตว์ป่าร่อยหรอลงไปอย่างรวดเร็ว ศัตรูสำคัญก็คือ สัตว์เมือง ซึ่งก็คือคนที่เป็นสัตว์เมือง ซึ่งเดิมแท้มนุษย์กับสัตว์ป่าก็เป็นสัตว์ป่าด้วยกันทั้งนั้น มองในแง่ของการเป็นสัตว์ป่าด้วยกัน ก็ต้องนับว่าสัตว์ป่าที่เรียกว่ามนุษย์นี้ร้ายที่สุด เพราะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำลายสัตว์ป่าชนิดอื่นให้ร่อยหรอหมดไป จนแทบจะเหลือเพียงตัวคนเดียว

เจ้าประคุณสมเด็จได้ชี้ให้เห็นว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสัตว์ป่ามาก แต่หลังจากสัตว์เมือง (มนุษย์) เจริญมากขึ้นหลายด้าน ทำให้สัตว์ป่าลดหมดหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเพิ่มมากขึ้นของประชากร การพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การทำลายป่าและสัตว์ป่า เมื่อสัตว์เมืองเจริญขึ้นมา สัตว์ป่าก็ล้มหายไป

เมื่อป่าและสัตว์ป่าเริ่มลดหายไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์ก็เริ่มมองเห็นภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับตนเอง จากความเสื่อมโทรมและทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอ มนุษย์จึงเริ่มเห็นความสำคัญของป่าและพยายามหาทางอนุรักษ์ป่าพร้อมทั้งสัตว์ป่า ด้วยการกำหนดเขตและการออกกฎหมายมาอนุรักษ์และป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งหน่วยงานมารับผิดชอบโดยตรง การออก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ การประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นต้น ซึ่งเรียกว่าสัตว์เมืองต้องมาสู้กับสัตว์เมือง (มนุษย์หันมาสู้มนุษย์ด้วยกันเอง ด้วยกฎเกณฑ์และข้อกฎหมายเป็นต้น) เพื่อจะช่วยเหลือป้องกันป่าและสัตว์ป่า

คนไทยกับสัตว์ป่า :  ธรรมทัศน์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ***

แม้ความพยายามมากมาย ก็ยังปรากฏว่าไม่สามารถหยุดการทำลายป่าและสัตว์ป่าได้ จำนวนสัตว์ป่านอกจากจะลดลงแล้ว บางชนิดยังสูญพันธุ์อีกด้วย  นั่นเป็นเพราะเหตุปัจจัยโดยย่อ 2 อย่างคือ ปัจจัยแรก การทำลายโดยตรง ด้วยการล่าเป็นอาหาร ล่าเอาอวัยวะไปทำเป็นเครื่องประดับ หรือเห็นการล่าสัตว์เป็นเรื่องสนุก เพื่อทำธุรกิจหรือสินค้า

ปัจจัยที่ 2 การทำลายโดยอ้อม ด้วยการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่าหาที่ทำกิน การตัดไม้เพื่อการค้าขาย การพัฒนาบ้านเมืองจากการตัดถนน สร้างเขื่อน หรือแม้กระทั่งวิธีการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ป่า เช่น นกตายไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัตว์เมือง (มนุษย์) ยังโหด ป่าก็ต้องหด สัตว์ป่าก็ต้องหาย ถ้าสัตว์เมืองไม่พัฒนาจิตใจ ใครๆ ก็ช่วยสัตว์ป่าไม่ไหว “คนนี่แหละที่ได้ทำให้ทั้งสัตว์ป่าและต้นไม้สูญพันธุ์ไปแล้วมากมาย สัตว์ป่าฆ่ากันได้ก็ทีละตัว และโดยมากก็เพราะจะต้องกินอาหาร แต่คนอาจฆ่าสัตว์ป่าได้ทีละมากมาย ทั้งฆ่ากิน ฆ่าเอาไปขายหาผลประโยชน์ และแม้แต่ฆ่าเล่นสนุกมือ หรือฆ่าอวดกัน สัตว์ป่าอย่างอื่นทำลายโลกไม่ได้ แต่มนุษย์ที่เป็นสัตว์ป่าก็ได้ สัตว์เมืองก็ได้นี้ อาจจะทำโลกนี้ให้พินาศได้”

ถ้าเราพัฒนาคนไม่สำเร็จ แม้ว่าคนนั้นจะเป็นสัตว์เมืองก็จริง ตัวอยู่ในเมืองแต่หัวใจเป็นสัตว์ป่า และจะเป็นสัตว์ป่าที่ร้ายกว่าสัตว์ป่าชนิดใดๆ ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ว่า กวางไม่หมดป่าเพราะเสือกัด แต่กวางอาจจะหมดป่าเพราะคนล่า พิจารณาได้ว่า เจ้าประคุณสมเด็จ ได้เสนอให้เห็นแนวทาง 3 ประการในการพัฒนาคนที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างยั่งยืนกับธรรมชาติแวดล้อม

1.ให้รู้จักมีความซาบซึ้งและมีความสุขในการชื่นชมในคุณงามความดีและความสวยงามตามธรรมชาติ

2.ให้มีเมตตาไมตรี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ มีความสงสารเมื่อสัตว์มีทุกข์ มีความรู้สึกต่อสัตว์ป่าในแง่ของความเมตตากรุณา

คุณลักษณะทั้งสองประการนี้ จะพบเห็นตัวอย่างมากมายในวรรณคดีพุทธศาสนา และชาดกจำนวน 547 เรื่อง ก็มีสัตว์เป็นพระเอกเกินครึ่งที่เล่าถึงความดีงามของสัตว์ต่างๆ ซึ่งเมื่อเด็กได้ฟังและคุ้นเคยกับการทำดีของสัตว์ก็จะรักสัตว์ และได้ทั้งคติในการทำความดีและความรู้สึกที่ดีงามต่อสัตว์ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งสัตว์ก็มีความสำคัญในวัฒนธรรมไทยที่แสดงออกมาในเชิงสัญลักษณ์ เช่น ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายตราแผ่นดิน ธงชาติ หรือเครื่องหมายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น

3.ให้มองสรรพสัตว์เป็นสมาชิกหรือเป็นส่วนร่วมที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยกัน แม้กระทั่งให้มีความกตัญญูต่อสัตว์ ดังจะเห็นได้ว่าในอดีตคนไทยมีความใกล้ชิดกับสัตว์ป่าตลอดมา ดังคติที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้ายัง และหญ้ายังเพราะดินดี”

จากปาฐกถาธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จ จะเห็นได้ว่าปัญหาคนไทยกับสัตว์ป่านั้น เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงการพัฒนามนุษย์ว่ายังไปไม่ถึงไหน ทั้งในแง่ของสติปัญญาในการที่จะรู้เข้าใจในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม ทั้งในแง่ของจิตใจที่ดีงาม และทั้งในแง่ของพฤติกรรมที่มีต่อธรรมชาติแวดล้อม โดยนัยนี้จึงควรตระหนักในธรรมทัศน์ของเจ้าประคุณสมเด็จที่ว่า มนุษย์ที่พัฒนาจากสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เมือง โลกจึงยังไม่ปลอดภัย สันติสุขอย่างยั่งยืนจะมีได้ ก็ต่อเมื่อพัฒนาสัตว์เมืองให้เป็นอารยชน หรือเป็นมนุษย์ประเสริฐผู้มีอารยธรรมอย่างแท้จริง

*** ชื่อเต็ม: คนไทยกับสัตว์ป่า :  ธรรมทัศน์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

โดย... 

ผศ.ธนภณ สมหวัง

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

[email protected]