Transformation : ปรับเปลี่ยนไม่ใช่ปรับปรุง

Transformation : ปรับเปลี่ยนไม่ใช่ปรับปรุง

การอยู่รอดของกิจการที่ต้องเผชิญกับ Disruptive Change

ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ไทยทีวีสีช่อง 3 (“ช่อง 3”) อยู่ในสภาวะที่รายได้และกำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการต่อสู้แข่งขัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 และผู้ประกอบกิจการในไทยและทั่วโลกจำนวนมากในยุคดิจิตอลนี้มีศัพท์ใช้เรียกกันว่า Disruptive Change คือการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการในรูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้โดยมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก เช่น การอ่านหนังสือหรือติดตามข่าวได้จากโทรศัพท์มือถือหรือ Tablets หรือการใช้กล้องถ่ายรูปดิจิตอลแทนกล้องฟิล์ม

การอยู่รอดของกิจการที่ต้องเผชิญกับ Disruptive Change จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของกิจการในการปรับเปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า Transformation เพราะเพียง Improvement หรือการปรับปรุงให้ดีขึ้นนั้นเอาไม่อยู่ โดยเป้าหมายของ Transformation คือ Repositioning Today’s Business (การหาจุดยืนใหม่ให้แก่ธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน) หรือ Creating Tomorrow’s Business (การสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคต) แต่การทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป หรือ Dual Transformation นั้นจะเหมาะสมที่สุด (จากหนังสือ Dual Transformation ของ Harvard Business Review Press เขียนโดย Scott D. Anthony และคณะ) ตัวอย่างที่มีให้เห็นคือการที่ Apple และ Samsung ยังคงรักษา Positioning ในตลาดคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของตนได้ดี แต่ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้มานิยมใช้โทรศัพท์มือถือแบบจอสัมผัส (Touch Screen) จนก้าวขึ้นเป็นผู้ครองตลาดโทรศัพท์มือถือแทนยักษ์ใหญ่โทรศัพท์มือถือแบบกดเดิมคือ Nokia และ BlackBerry ที่ต้องล่มสลายไปเพราะสร้าง Transformation ไม่ได้หรือสร้างไม่ทัน

ดังนั้น แม้ว่าละครบุพเพสันนิวาสจะสร้างปรากฏการณ์ (Phenomenon) ที่น่าทึ่งขึ้นในวงการละครและถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมของช่อง 3 และผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ก็คงถือไม่ได้ว่าการ Transformation ของช่อง 3 สำเร็จแล้ว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าแนวทางในการทำละครเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างสูงจากประชาชนไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จสำหรับการทำละครเรื่องต่อๆ มา

ผู้เขียนหนังสือ Dual Transformation ให้ความเห็นไว้ว่า ผู้นำขององค์กรที่เผชิญกับ Disruptive Change และสามารถสร้าง Transformation ให้สำเร็จได้นั้นต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ 4 ประการ (4Cs) คือ Curiosity (มีความตื่นตัวใฝ่รู้เฝ้าสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อมองให้เห็นสัญญาณเตือนภัยและโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ) Courage (มีความกล้าที่จะสร้าง Transformation เมื่อเห็นสัญญาณเตือนภัยจาก Disruptive Change โดยไม่รอให้ภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วจึงค่อยมาคิด) Clarity (มีความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จเพราะการสร้างกลยุทธ์ที่ดีและเหมาะสมนั้นจะมีเป้าหมายที่คลุมเครือไม่ได้) และ Conviction (มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดเพราะเรื่องที่คิดจะทำอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน)

ผมไม่เคยทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับช่อง 3 เพียงแต่เคยทำงานที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เมื่อผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 และใช้สิทธิตามกฎหมายในกรณี 'จอดำ' และการขายสิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ให้แก่ช่อง 3 แต่เมื่อช่อง 3 ประกาศแต่งตั้งให้
คุณสมประสงค์ บุญยะชัย ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ผมจึงเริ่มสนใจเรื่อง Transformation ของช่อง 3 เพราะความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งของคุณสมประสงค์คือการเป็นแม่ทัพในการ Transformation ของช่อง 3 และเนื่องจากผมรู้จักคุณสมประสงค์มานานตั้งแต่สมัยที่ยังทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ซึ่งผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายในเรื่องสำคัญๆ ให้หลายเรื่อง และยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกันในฐานะที่ต่างได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อหลายปีก่อนในช่วงที่บริษัทยังทำสถานีโทรทัศน์ไอทีวีอยู่

คุณสมประสงค์เคยบอกว่าหน้าที่ของผู้บริหารสูงสุดคือการทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย (Goals) ที่ตั้งไว้ซึ่งจะต้องชัดเจนไม่คลุมเครือและวัดผลได้จริง (Measurable) โดยต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision) และมีความสามารถในการคิดกลยุทธ์ (Strategy) ที่จะไปให้ถึงเป้าหมายและมีความสามารถในการนำกลยุทธ์ไปทำให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (Execution)

คุณสมประสงค์มีความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมมากในการเข้ามารับบทแม่ทัพในการ Transformation แต่ผมได้ทราบมาว่าคุณสมประสงค์ได้ลาออกจากการทำหน้าที่นี้แล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่สามารถอุทิศเวลาให้ได้เพียงพอ ซึ่งต้องถือว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับข้อคิดในการ Transformation เพื่อ Creating Tomorrow’s Business นั้นน่าจะตรงกับที่ Alan Kay เคยกล่าวไว้ว่า The best way to predict the future is to invent it.

www.facebook/Weerawong: Wonderful Ways