เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาทกรรมเพราะความระบำของ......ใคร?

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาทกรรมเพราะความระบำของ......ใคร?

ในช่วงนี้มีการอ้างถึงนักธุรกิจคนหนึ่ง ซึ่งอาจเข้ามามีบทบาททางการเมืองบ่อยครั้ง เมื่ออ้างถึง หนึ่งในประเด็นที่ถูกเน้นย้ำคือ เขามองว่า

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขาดสาระจึงเป็นเพียงวาทกรรม ในฐานะผู้ได้ศึกษาจนเกิดศรัทธาและเผยแพร่แนวคิดนี้มานาน รวมทั้งการเขียนหนังสือชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) ผมรู้สึกเอะใจว่าเพราะอะไรเขาจึงมองเช่นนั้น

ความเอะใจ ทำให้ไปค้นหาที่มาของมุมมองของเขาและพบว่าในบริบทของการสนทนาระหว่างเขากับสื่อ คำพูดของเขาอาจตีความหมายได้หลายอย่าง รวมทั้งเขาไม่เข้าใจแนวคิดและเขาไม่ได้ลงความเห็นว่าแนวคิดไร้สาระ แต่วาทกรรมเกิดจากผู้อ้างว่าตนนำแนวคิดไปใช้โดยปราศจากความจริงใจต่างหาก ไม่ว่าจะตีความหมายคำพูดของเขาอย่างไรและเขาจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้กำอำนาจรัฐหรือไม่ ประเด็นสำคัญไม่เปลี่ยน นั่นคือ แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์โลกปัจจุบันได้ แต่คนไทยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจและนำไปใช้อย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ใช้วาทกรรมกลบเกลื่อน บิดเบือน หรือปิดบังความตั้งใจในการกระทำ รวมทั้งผู้กำอำนาจรัฐด้วย มาดูตัวอย่างว่าเพราะอะไร

ผู้อ่านคอลัมน์นี้ย่อมทราบดีแล้วว่า ฐานของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ คุณธรรมกับความรู้ ทั้ง 2 ต้องแข็งแกร่งและอยู่คู่กัน มิฉะนั้น การปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้ยาก

คุณธรรมของสังคมไทยอยู่ตรงไหนในปัจจุบัน? คำถามนี้มีตัวอย่างที่อาจยกมาอ้างเป็นคำตอบได้ไม่รู้จบ เช่น เหตุการณ์ที่เป็นข่าวดังสุด 3 อย่างในช่วงนี้ได้แก่ ข้าราชการสุมหัวกันโกงเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ นักธุรกิจถูกจับได้ในขณะเข้าไปล่าสัตว์ในอุทยานทุ่งใหญ่นเรศวร และรองนายกรัฐมนตรีตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่านาฬิการาคาเรือนละนับล้านบาท 25 เรือนมาจากไหน และเพราะอะไรมันจึงไม่ปรากฏในรายการทรัพย์สินของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 เรื่องนี้อาจชี้ให้เห็นอะไรคงสาธยายได้ไม่รู้จบ แต่คงสรุปได้ว่า ส่วนสำคัญของสังคมไทยยังมิใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพราะยังไร้คุณธรรม ส่งผลให้การพูดถึงแนวคิดของพวกเขาเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโดยข้าราชการ นักธุรกิจ หรือผู้นำที่กำอำนาจรัฐ

ทางด้านความรู้ล่ะเป็นอย่างไร? ประเด็นนี้ก็อาจสาธยายได้เป็นสัปดาห์ เริ่มจากความเละเทะของภาคการศึกษาไปจนถึงการไม่ใฝ่หาความรู้ของสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งมองได้จากการแทบไม่อ่านหนังสือ หรือสภาพของการติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน ในยุคปัจจุบัน องค์ความรู้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณอย่างต่อเนื่อง แต่ความสามารถของมนุษย์ที่จะติดตามองค์ความรู้มิได้เพิ่มขึ้นเช่นนั้น ส่งผลให้สัดส่วนของสิ่งที่คนทั่วไปรู้กับองค์ความรู้ทั้งหมดลดลง ในสภาพเช่นนี้ ผู้นำโดยเฉพาะผู้กำอำนาจรัฐมีความสำคัญยิ่งขึ้น พวกเขาต้องเข้าใจและต้องนำสังคมไปในทางที่เหมาะสม หากพวกเขาไม่เข้าใจและซ้ำร้ายยังไร้คุณธรรมอีกด้วย สังคมจะล้มลุกคลุกคลานแน่นอน

ในสภาพที่ฐานสั่นคลอน ยากที่จะทำอะไรให้อยู่ในกรอบขององค์ประกอบอีก 3 อย่างของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ เช่น ในด้านความพอประมาณ การโกงเงินของผู้ยากไร้ การลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ป่าและการครอบครองนาฬิการาคาเรือนละนับล้านบาทถึง 25 เรือนมิใช่การปฏิบัติในกรอบขององค์ประกอบนี้แน่ ส่วนมันจะเกิดจากอวิชชา หรือว่าการไร้คุณธรรมคงไม่สำคัญ แต่มันเกิดขึ้น ส่วนทางด้านความมีเหตุผล 

3 ตัวอย่างที่อ้างถึงมองได้ว่าต้องมาจากการไร้เหตุผลที่เหมาะสม นอกจากในสังคมโจรเท่านั้นและทางด้านการมีภูมิคุ้มกัน 3 ตัวอย่างนั้นอาจมองจากมุมมองของผู้ปฏิบัติว่าทำให้ภูมิคุ้มกันของตนเพิ่มขึ้นเพราะตนมีทรัพย์สำหรับนำมาใช้จ่ายได้มากขึ้น หรือมีทางแสวงหาอาหารได้มากขึ้น แต่มันวางอยู่บนเหตุผลของโจรมากกว่าของคนธรรมดาสามัญทั่วไป

การศึกษาแนวคิด อ่านบทสัมภาษณ์ของนักธุรกิจและติดตามเหตุการณ์ดังที่อ้างถึง ผมสรุปว่า ผู้ปฏิบัติตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังมักไม่อ้างอย่างออกหน้าออกตาว่าตนกำลังทำ ส่วนพวกที่มักอ้างอย่างดังๆ ออกมาเป็นประจำมักเป็นพวกระบำที่ใช้วาทกรรมสร้างภาพ ปกปิด หรือบิดเบือนความเป็นจริง