สวัสดิการข้าราชการกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง

สวัสดิการข้าราชการกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง

การประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข เรื่องการแก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายสวัสดิการข้าราชการ โดยผู้ชี้แจงมาจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สาเหตุก็เพราะ

 กรมบัญชีกลางเคยมีการเสนอให้การบริหารจัดการสวัสดิการข้าราชการดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ถูกต่อต้านไม่เห็นด้วยจากข้าราชการจำนวนมาก ท้ายที่สุดก็ยอมทำต่อ แต่พยายามแก้ไขเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่แค่ 200 คน บริหารเงินกว่า 70,000 ล้านบาท

ในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น มีข้าราชการและครอบครัวที่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใช้สิทธิเบิกจ่ายรวม 4.4 ล้านคน และใช้เงินสวัสดิการรวม 73,000 ล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือ จะยังพุ่งสูงขึ้นอีกอย่างไม่มีเพดาน เพราะสวัสดิการไม่มีเพดาน ไม่ใช่งบประมาณปลายปิดเหมือนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ระบบการเคลียร์ค่ารักษาพยาบาลนี้จะใช้เลขบัตรประชาชน จากเดิมจะออกบัตรใหม่ให้ผู้รับสวัสดิการข้าราชการแต่ถูกโจมตีหนักที่จะต้องใช้เงินหลายสิบล้านบาท

เกิดคำถามไม่น้อยในที่ประชุมว่า...แล้วมันดีขึ้นอย่างไร

ผู้ชี้แจงอธิบายว่า จำนวนธุรกรรมและการเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยนอกมีแนวโน้มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูจากกราฟเส้นตั้งแต่ปี 2558 ชันมาก นอกจากนั้นยังมีปัญหาต้องรอรับข้อมูลจากสถานพยาบาลเป็นระยะเวลานาน การตรวจสอบหลังจ่ายไม่มี ไม่มีระบบพิสูจน์ตัวตน ทำให้เกิดปัญหาการสวมสิทธิ การเวียนเทียนรับยา สถานพยาบาลส่งข้อมูลเบิกค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน และขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง

ที่ประชุมมีคำถามเยอะมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการ แล้วก็เป็นคนแก่ที่เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลกันทั้งนั้น

ส่วนตัว หลังฟังคำอธิบาย ได้ตั้งคำถามไปหลายเรื่อง

1..สิทธิสวัสดิการนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะข้าราชการที่เป็นคนไทย แต่รวมถึงกรณีบุคคลต่างชาติด้วย จึงสงสัยว่าทำไมคนต่างชาติได้สิทธินี้

2.กระบวนการลงทะเบียนรับสิทธิสวัสดิการทำอย่างไร

3.ข้อมูลที่ใช้นี้บริหารจัดการอย่างไร ข้อมูลมีโอกาสรั่วไหลจากการถูกแฮกได้หรือไม่ มีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลอย่างไร​

4.จะะมีเพดานการเบิกจ่ายสวัสดิการหรือไม่ การจ่ายร่วม หรือ Co-pay ทำอย่างไร​​

5.ใช้บริการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่​

ผู้ชี้แจงได้ชี้แจงว่า

1.เรื่องกรณีบุคคลต่างชาตินี้ พิจารณาจากความชอบด้วยกฎหมายเป็นหลัก นั่นคือถ้าเป็นสามีภรรยา บิดา มารดา หรือบุตรที่ถือสัญชาติอื่น ไม่เป็นพลเมืองไทย (Thai Citizen) ก็อยู่ในข่ายที่มีสิทธิรับสวัสดิการ แต่ต้องมีบัตรที่ออกให้โดยกรมบัญชีกลางและใช้หมายเลขบัตรนั้น

2.กระบวนการลงทะเบียนนั้นให้ทำที่ต้นสังกัด ในกรณีที่เด็กยังไม่ถึง 7 ขวบ (ยังไม่มีบัตรประชาชน แต่มีเลขประจำตัว)ให้ขอออกบัตรจากกรมบัญชีกลางได้ หรือใช้เลขบัตรประชาชนบัตรร่วมกับผู้ปกครองที่มีสิทธิ

3.การบริหารจัดการข้อมูลปัจจุบันให้ สปสช. และ สกส. ที่เป็นหน่วยงานใน สวรส. ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล แล้วส่งมาให้กรมบัญชีกลาง ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลนั้นจะให้ใครเป็นผู้บริหารข้อมูล

4.สวัสดิการข้าราชการไม่มีเพดานเบิกจ่ายเรื่องจำนวนเงิน แต่กำหนดจำนวนครั้งของการรับบริการต้องไม่เกินตามที่กำหนด ถ้าเกินจำนวนที่กำหนดจะถูกตรวจสอบ ถือว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต

5.การใช้สิทธิที่โรงพยาบาลเอกชนต้องดูที่กรมบัญชีกลางประกาศว่ามีที่ไหนบ้าง ส่วนใหญ่เป็นการส่งต่อจากโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่าย 1,317 แห่ง

ฟังคำชี้แจงบางข้อเช่น ข้อ 1. แล้วยังงงๆ ว่า ทำไมผู้ที่ไม่ใช่คนไทยจึงมีสิทธิได้รับสวัสดิการ เพราะเท่ากับเขาได้รับทั้งจากประเทศที่เขาถือสัญชาติ และจากการที่บุคคลในครอบครัวเป็นข้าราชการไทย ก็แปลกดี ส่วนเรื่องการตรวจสอบพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำทุจริตตามข้อ 4 นั้น ออกจะดูแปลกๆ เช่นกัน เช่นใช้สิทธิเกิน 3 โรงพยาบาลใน 1 วัน ใช้สิทธิห่างกัน 2-3 ชั่วโมง ค่ารักษาเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง ผู้ใช้สิทธิอายุเกิน 90 ปี และอีกมากมายที่ถูกมองว่าอาจทุจริต​

ในชีวิตของตัวเองนั้น ไม่เคยใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะทำงานภาคเอกชน มีประกันสังคม ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพเอง บางทีบริษัทที่ทำงานก็มีประกันสุขภาพหมู่ให้ จนกระทั่งลูกเข้ารับราชการตอนนี้ ก็เลยคิดว่าจะใช้สิทธิ ถ้าจำเป็น แต่ ณ ถึงวันนี้ ไม่เคยใช้สิทธิเลย

แต่ที่แน่ๆ อย่างหนึ่งก็คือ การร่วมจ่าย หรือ co-payment เป็นสิ่งที่ข้าราชการที่มีสวัสดิการต้องควักกระเป๋าเป็นปกติ ท่านประธาน กมธ. บอกว่าคุณแม่เข้า รพ.รามาธิบดี มีค่าใช้จ่าย 1 ล้าน ก็ควักเอง 5 แสนร่วมจ่าย ส่วนตัวเมื่อคุณพ่อตาเข้าโรงพยาบาลช่วงสุดท้ายของชีวิตหมดไป 5 แสน ก็ควักเองร่วมจ่าย 2.5 แสน

ข้าราชการที่รับสวัสดิการจึงมีการร่วมจ่ายทั้งร่วมจ่ายแฝง ที่ยอมรับการรับราชการที่เงินเดือนน้อยเพื่อหวังจะได้สวัสดิการ และร่วมจ่ายจริง จากการควักเงินจากกระเป๋าเพิ่ม เพราะเบิกไม่ได้ทั้งหมด ถือเป็นการร่วมจ่าย 2 เด้ง

ในขณะที่หลายคนออกมาโวยวายว่า เสียภาษีแล้ว จึงไม่ต้องร่วมจ่ายในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แปลกดี..คนในประเทศเดียวกันแท้ๆ​