บางมุมมองพีอาร์ กับ ผู้บริหารระดับกลาง

บางมุมมองพีอาร์ กับ ผู้บริหารระดับกลาง

ไม่ว่าใคร ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 บริหารองค์กร ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เป็นผู้นำ กำหนด ชี้ทิศทาง เป้าหมาย ล้วนอยากมีผลงาน บรรลุเป้าหมายที่กำหนด

ทิศทางที่ชี้ มิเพียงนั้น ยังต้องการให้ประชาชน สังคมเห็นผลงานอีกด้วย

อยู่ที่จะชูนโยบายวิสัยทัศน์ใด จะมีผลงานได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนปฏิบัติ จะเห็นผลงานได้ ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) ว่าไปแล้วผลงานของผู้นำเริ่มขึ้นตั้งแต่การกำหนดนโยบาย จำเป็นที่ผู้นำต้องใช้การประชาสัมพันธ์ สื่อสารบอกกล่าว ให้ข่าวสารสื่อ ทั้งด้วยตนเอง และหรือมอบหมายฝ่ายพีอาร์องค์กร

พีอาร์ จึงสำคัญ สร้างประเด็นได้ ใช้พีอาร์เป็น ให้เห็นช่วงไหน จังหวะเวลาใด เท่าที่สังเกตองค์กรหน่วยงานต่างๆ มักจะใช้ หรือให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์นโยบายในช่วงใหม่ๆ แรกๆ ทั้งโหม กระตุก กระตุ้น เร่ง รุก ปลุก เร้า ใส่ใจ จูงใจ ให้ตระหนัก ชักนำความร่วมมือ

พอช่วงหลังๆ ต่อๆมา รู้สึกว่า จะแผ่วบาง จางไป หรือไม่ ประการใด อาจมองว่า อะไรที่ใหม่ ต้องสร้างความรู้จัก หวังให้ตระหนัก สนใจ เข้าใจ จึงใส่พีอาร์เต็มที่ โหมพีอาร์ ประชาชนรับรู้ ปูทางนโยบายใด ซึ่งนั่นก็ว่าไป

แต่ทำอย่างไร ถึงจะใช้พีอาร์เกาะติดนโยบายนั้นๆ ไว้เรื่อยๆ ให้สุดสายทาง ไม่เฉพาะในช่วงใหม่ๆ แรกๆ ต้นทางเท่านั้น ต้องต่อไปช่วงหลังๆ กลางทาง ปลายทางด้วย

กลางทาง หรือระหว่างทาง เป็นความคืบหน้า ก้าวหน้าของนโยบาย กล่าวคือ หลังจากนโยบายเริ่มต้นแล้ว จะเริ่มไปสู่การขับเคลื่อนปฏิบัติ มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ โดยลำดับระยะเวลาและงบประมาณที่วางไว้ ใช้จ่ายงบไป งานคืบหน้าไป กลายเป็นผลงานทยอยออก เริ่มมีดอกผลของนโยบายให้เห็น เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออื่นๆ ทีนี้ถ้าไปแผ่วบาง จางพีอาร์เสียแล้ว ประชาชนจะเห็นได้อย่างไร

พีอาร์กลางทาง จึงสำคัญ ปลายทาง หรือใกล้สิ้นสุดนโยบาย เป็นผลของการขับเคลื่อนปฏิบัติใกล้จะแล้วเสร็จ กระทั่งแล้วเสร็จสำเร็จเป็นผลงานครบถ้วน หมดเวลาและงบประมาณ งานครบ งบหมด เป็นรูปธรรม สัมผัสจับต้องได้ เช่น การก่อสร้างถนนทางหลวง หรืออื่นๆ ถ้าแผ่วบาง จางพีอาร์ไป ประชาชนจะรู้ ใช้ประโยชน์อย่างไร

พีอาร์ปลายทาง จึงสำคัญ การที่องค์กรหน่วยงานต่างๆ ปล่อยพีอาร์แผ่วบาง จางไป อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาเกาะติด ติดตามการขับเคลื่อนปฏิบัตินโยบาย แต่ก็เข้าใจ และเห็นใจผู้นำ งานหลายหน้า มีภารกิจมาก ต้องปลีกเวลาให้ภารกิจอื่น นั้น นี้ โน้น ต้องรุกงานใหม่ บุกไปข้างหน้า ฝ่ายพีอาร์องค์กรก็เช่นกัน ต้องตามติดผู้นำไป

หากไม่มีเวลา หาคนช่วยดีไหม เผลอๆ ประชาชนสนใจใคร่รู้กลางทาง ปลายทางมากกว่าต้นทาง อย่างภาครัฐ รัฐบาล กระทรวง มีภารกิจครอบคลุมทั้งประเทศ โครงการกิจกรรมมากมาย นโยบายหลากหลายด้าน มีผลงานเยอะ แต่เกาะติด ติดตามพีอาร์เพียงใด

มองในมุมพีอาร์ อาจมอบหมายผู้บริหารระดับกลาง เพราะอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนปฏิบัติ อยู่หน้างานรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวดีที่สุด คืบหน้าถึงไหน ก้าวหน้าอย่างไร สำเร็จเห็นผลประการใด

มีประเด็นไหนน่าสนใจ ประชาชนรู้แล้วเป็นผลดี ใช้พีอาร์หนุนนำ เน้น ซ้ำ ย้ำ เตือน แง่มุมนั้น นี้ โน้น ต่อเนื่อง ตอกย้ำข่าวสารผลของงานนโยบายด้านต่างๆ อยู่หน้างานไหน พีอาร์ด้านนั้น มิเพียงได้ผลแค่รู้ แค่เห็น ยังเป็นโอกาส จุดขาย ได้สร้างความสัมพันธ์ เข้าอกเข้าใจ โยงไปถึงความนิยม ชื่นชมศรัทธา กล่าวขานถึง

ไม่เช่นนั้น ดีไม่ดีผู้นำอาจถูกมองไม่มีผลงาน การบริหารนโยบายวิสัยทัศน์ดูเงียบๆ ไป จมๆ ไป เพราะไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสพีอาร์กลางทาง ปลายทาง(เท่าที่ควร) ถ้าเป็นกรม มอบผู้อำนวยการกอง ถ้าเป็นจังหวัด มอบนายอำเภอ(หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆของจังหวัด) หรือเป็นมหาวิทยาลัย มอบคณบดี ฯลฯ

คิดเล่นๆ 1 กรม มี 10 กอง, 10 กรม ก็ 100 กอง, 100 กรม 1,000 กอง 1,000 ผอ.กองให้ข่าวสารสื่อท่านละชิ้น/สัปดาห์ มีข่าวสารผลงานกรม 1,000 ชิ้นทันที ขอแค่ 100 ชิ้น/สัปดาห์ก็ไม่แผ่วพีอาร์แล้ว

นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ของจังหวัด ก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำได้ อาจเป็นพีอาร์มิติใหม่ แผ่วบางจางไป กลายเป็นโดดเด่น กระเพื่อมข่าวสารพีอาร์ทั่วทั้งประเทศ ส่งผลผู้นำนโยบาย มีผลงาน บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ทิศทางที่ชี้ ส่งผลประชาชนเห็นผลงาน ไปใช้บริการ ใช้ประโยชน์ทั่วถึง

มอบอำนาจพีอาร์ให้ผู้บริหารระดับกลางดีไหม อยู่ที่กระทรวง กรม จังหวัด จะพิจารณา ผลงานกรม(จังหวัด) = ผลงานกระทรวง = ผลงานรัฐบาล วันหนึ่ง ผอ.กองต้องขึ้นอธิบดี นายอำเภอขึ้นผู้ว่าฯ วันนั้นผู้นำคนใหม่ถึงพร้อมทั้งการบริหาร และสื่อสารสังคม

แก้ปัญหารัฐบาลอ่อนพีอาร์ไม่มากก็น้อย

โดย... ไพศาล อินทสิงห์