เงินดิจิทัล และ ICO - เหรียญ 2 ด้านที่ทุกฝ่ายเลือกได้

เงินดิจิทัล และ ICO - เหรียญ 2 ด้านที่ทุกฝ่ายเลือกได้

เงินดิจิทัล และ ICO - เหรียญ 2 ด้านที่ทุกฝ่ายเลือกได้

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้ เหลือบไปดูราคา Bitcoin และ Ethereum กำลังผันผวนรุนแรง โดยบิทคอยน์ราคาอยู่ที่ 7,634.9 BTC/USD ถ้ามองว่าถูกก็ถูกคือราคามันลงมาจากยอดดอยที่เฉียด 20,000 BTC/USD หรือกว่า 60% ถ้ามองว่าแพงก็แพงคือราคามันขึ้นมาจาก 971.5 BTC/USD หรือเกือบ ๆ 700% เมื่อคิดจากราคาปีที่แล้ว บทความนี้จะฉายภาพให้เห็น 2 ด้านทั้งมืดและสว่างที่เกิดขึ้นในวงการเงินดิจิทัล เหรียญโทเคนดิจิทัล ไปจนถึงเรื่อง ICO โดยผู้เขียนมองว่ามีทั้งด้านบวกและลบ ทั้งนักลงทุน ผู้ออกเหรียญ ไปจนถึงรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลควรพิจารณาให้ดี ขออนุญาตแจ้งตรงนี้ว่าบทความฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ได้สะท้อนมุมมองของสมาคมฟินเทคประเทศไทยที่ผู้เขียนเป็นกรรมการอยู่แต่อย่างใด

สำหรับนักลงทุนควรที่จะลดความโลภ ความหวังที่จะ “รวยทางลัด” ควรเข้าใจสิ่งที่ตัวเองลงทุนเป็นอย่างดี ด้านผู้ออกเหรียญก็เช่นกัน ณ จุดนี้ต้องลดความโลภลง ควรมีความรับผิดชอบ การระดมทุนทุกครั้งก็เหมือนแบกความหวังของทุกคนไว้บนบ่าโดยต้องคิดจริงทำจริงอย่างตั้งใจ สำหรับภาครัฐเอง การแบนไปซะทั้งหมดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย แต่น่าจะเป็นการเอาข้อดี หรือประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาประเทศ

เงินดิจิทัล และ ICO - เหรียญ 2 ด้านที่ทุกฝ่ายเลือกได้

รูปที่ 1 ราคาบิทคอยน์ย้อนหลัง 1 ปี | ที่มา Bitfinex

ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องนี้เป็น “เหรียญ 2 ด้าน” คือมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือเทคโนโลยี Blockchain ที่ใช้เก็บและส่งต่อเงินดิจิทัลเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการเงินโลก ขณะที่ด้านลบคือแรงเก็งกำไรจากฝูงชน (Speculative herd behavior) ที่ทำให้ราคาสกุลเงินดิจิทัลหลักเพิ่มขึ้นนับร้อยนับพันทวีคูณโดยไม่มีพื้นฐานที่เพียงพอรองรับ ส่งผลให้ความผันผวนของ Bitcoin และ Ethereum สูงเกินไปจนน่าเป็นห่วง ลองค่อย ๆ ดูกันไปที่ละด้านนะครับ สำคัญคือเราจะเอาด้านที่ดีมาใช้ประโยชน์กับประเทศเราหรือไม่ หรือจะตัดสินใจในเรื่องนี้โดยการดูแต่ “ข้อเสีย” ของมันอย่างเดียว

เริ่มที่ความเคลื่อนไหวของภาครัฐ ล่าสุดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างมีมาตรการตอบรับต่อเรื่องนี้ เช่นจีนได้ห้ามการระดมทุน ICO ไปแล้วและได้ออกแถลงการเตรียมแบนการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางซื้อขาย เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ได้ประกาศห้ามระดมทุนผ่าน ICO ส่วนสหรัฐฯ เท่าที่ติดตามยังไม่ได้มีการแบนอะไรแต่มีการเตือนถึงความเสี่ยงของการลงทุนในเงินดิจิทัลเหล่านี้

ปัจจุบันเงินดิจิทัลเหล่านี้ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และยังไม่มีกลไกการกำกับดูแลที่ชัดเจน ฟังแล้วดูน่ากลัวใช่มั้ยล่ะครับ

มาดูที่บ้านเรากันบ้าง ล่าสุดทาง รมว.คลังได้มีแนวคิดที่จะเก็บภาษี VAT 7% เนื่องจากมองเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าจึงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เมื่อมีรายได้จากการขายสกุลเงินดิจิทัล ผ่านพ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และร่าง พ.ร.ก. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) โดยมองว่ากฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวจะเปิดกว้างให้ประเทศไทยสามารถรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไม่ปฏิเสธหรือปิดกั้น ส่วนทางแบงค์ชาติล่าสุดได้มีประกาศเรื่องไม่ให้สถาบันการเงินไทยทำธุรกรรมกับสกุลเงินดิจิทัล ขณะที่กลต. กำลังเตรียมออกเกณฑ์ในการกำกับดูแลเรื่องนี้

ทั้งหมดนี้ผมมองว่ากลยุทธ์ที่ทางการบ้านเราผนวกกันใช้คือเข้าไปชะลอการเติบโตของการระดมทุนของผู้ออก และการเก็งกำไรของนักลงทุนบ้านเราไว้ก่อน จากนั้นให้หน่วยงานกำกับดูแลออกเกณฑ์การควบคุมที่เหมาะสมออกมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะในโลกการเงินเสรีนั้น ก็เหมือนการไหลของกระแสน้ำ ถ้าเราปิดทางหนึ่ง กระแสน้ำก็ไหลไปอีกทางหนึ่ง ถ้าปิดไม่ให้ระดมทุนในไทย บริษัทไทยก็ไประดมทุนในต่างประเทศได้อยู่ดี ดังนั้นไม่ควรปิดนาน และเมื่อเปิดก็ควรเปิดในลักษณะที่ยืดหยุ่น และสะดวกไม่แพ้กับ Ecosystem ในต่างประเทศ

Pump & Dump มีอยู่ในทุกยุคสมัย

คำ ๆ  นี้มามานานหลายสิบปีแล้วเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ต่าง ๆ นานาชนิด แปลเป็นไทยง่าย ๆ คือ “ลากขึ้นไปเชือด” เริ่มจากการจงใจปล่อยข่าวเท็จเพื่อเก็งกำไร หลังจากนั้นก็เชียร์ขายทิ้ง ใครที่อยู่ต้นรอบก็ร่ำรวย ส่วนใครที่อยู่ปลายรอบก็ติดดอยไป พื้นฐานที่ทำให้การ Pump & Dump มีอมาอยู่คู่โลกเราใบนี้ตลอดมาและตลอดไปก็คือ “ความโลภ” ความอยากรวยที่อยู่ในใจคนทุกยุคทุกสมัย มาในยุคเงินดิจิทัลนี้การทำ Pump & Dump นี่ดูจะตามรอยกันยากหน่อย เพราะมักจะทำกันผ่านเครื่องมือออนไลน์ เช่น Slack, Telegram ซึ่งแค่มีอีเมล์ก็สามารถใช้บริการได้แล้ว อย่างนี้จะหาตัวเป็น ๆ กันคงไม่ง่าย แต่ละกลุ่มจะมีผู้นำจิตวิญญาณคอยส่งสัญญาณเวลาในการซื้อเหรียญเลยว่าเหรียญไหน ตลาดไหน เวลากี่โมง

เมื่อสมาชิกในกลุ่มซื้อกันครบแล้ว ก็ช่วยกันประกาศให้โลกรู้ว่าเหรียญนี้มันดียังไง บางคนก็แสดงบทบาทเป็นมือใหม่ บางคนก็เป็นกูรู เขียนบล็อกบ้าง โพสต์โซเชี่ยลบ้าง พอฝูงชนเข้ามาอุดหนุนจนราคาเหรียญขึ้นไปมาก ๆ คนกลุ่มผู้นำก็จะเทขายเหรียญนั้นออกมาจนราคากลับไปอยู่ที่เดิมในที่สุด ซึ่ง pattern ที่เห็นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการปั่นหุ้น หรือการปั่นราคาอสังหาฯ ที่เคยเกิดขึ้นในโลกเราที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยความโลภเป็นที่ตั้ง ผู้เขียนไม่ได้เหมารวมว่าทุก ๆ ICO มีการ Pump & Dump นะครับ เพียงแต่พฤติกรรม Pump & Dump เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนพึงระวัง และไม่ควรไปร่วมขบวรการ

Stable Coin คือตัวเลือกที่ทุกฝ่ายควรพิจารณา

ปัจจุบันเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า Stable Coin คือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เมื่อเทียบกับเงินตรา ตัวอย่างเช่น USDT (US Dollar Teather) ซึ่งช่วยปิดจุดอ่อนคือความเหวี่ยงของ Crypto-currency แต่ยังได้ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในการแลกเปลี่ยนเงินตราดิจิทัลได้ ผู้เขียนขอสนับสนุนหนึ่งเสียงให้ประเทศไทยมี Baht Coin ที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 บาทเท่ากับ 1 Baht Coin ในอนาคตผมเชื่อว่าทุกประเทศจะมี National Crypto-currency ของตัวเองโดยมีเงินตรา Back หรือเป็นหลักประกันอยู่ข้างหลังเท่ากับจำนวน Stable Coin ที่มีในระบบ และอาจจะไปถึงขั้นที่เงินตราของทุกประเทศถูกนำมาแลกเปลี่ยนกันบนระบบ Blockchain หรือเทคโนโลยีในอนาคตที่พัฒนาจาก Blockchain เป็นพื้นฐาน

เงินดิจิทัล และ ICO - เหรียญ 2 ด้านที่ทุกฝ่ายเลือกได้

รูปที่ 2 การเติบโตของ Market Cap ของ USDT (Stable Coin) | ที่มา Coinmarketcap.com

ถ้าใช้ Stable Coin ร้านค้าที่ช่วงหลังเลิกรับ Bitcoin กันเยอะเพราะกลัวเรื่องความผันผวนก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะ Stable Coin ได้แก้ปัญหานั้นแล้ว เช่นเดียวกับการกู้ยืมโดยเฉพาะ peer to peer lending ที่ไม่ช้าก็เร็วน่าจะแพร่หลายมากทั่วโลกก็ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของเงินดิจิทัลเช่นกัน

 ในส่วนของภาครัฐทุกประเทศ ที่สุดแล้วก็ต้องเข้ามาดูเรื่องภาษี รวมไปถึงเสถียรภาพของค่าเงินที่เกิดขึ้นบนระบบบล็อคเชนเหล่านี้ให้เป็นธรรมและเหมาะสม แต่จุดที่พึงระวังคือไม่ควรไปยับยั้งไม่ให้เกิด เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้วและคงจะห้ามได้ยาก ถ้าปิดไม่ให้ทำในประเทศไทย อีกหน่อยก็คงไปเทรดกันที่ลักแซมเบิร์ก เบอร์มิวดา ไอร์แลนด์กันหมด คล้าย ๆ กับกองทุนต่างประเทศจำนวนมากที่ไปจดทะเบียนที่ลักแซมเบิร์กเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทุกวันนี้ต้องมองว่าประเทศเรามีประเทศอื่นอีกทั้งโลกเป็นคู่แข่ง ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะลำบากแน่

Security Token กับโลกที่ไม่ต้องมีนายหน้า และตลาดอีกต่อไป

ผมเชื่อว่าเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้สินทรัพย์แทบทุกชนิดไม่จำเป็นต้องมีนายหน้า และตลาดกลางซื้อขายอีกต่อไป ตามนิยามของเหรียญดิจิทัล (Token) ที่เกิดจากการทำ ICO นั้น ถ้าหาก Token เหล่านั้นมีส่วนร่วมในผลกำไร หรือผลการดำเนินงานของบริษัท หรือเสนอโอกาสในการสร้างผลตอบแทน หรือมีส่วนร่วมกับการลงทุนของบริษัท เหรียญ (Token) เหล่านั้นจะเข้าข่ายการเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งหนีไม่พ้นการที่ SEC จะเข้ามากำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ ขณะที่ Utility Token คือเหรียญที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทในอนาคต ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการลงทุน ตัวนี้จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ (จากสถิติพบว่ามีเพียงประมาณ 10% ที่จัดเป็น Utility Token)

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าในอนาคต การใช้งาน (use case) ของ Security Token บนเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถช่วยให้ทั้งหลักทรัพย์ และสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถแปลงไปเป็นเหรียญได้ เช่นหุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก อสังหาฯ REIT ล้วนแต่สามารถนำมาเทรดบนระบบ Blockchain และจัดเป็น Security Token ได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะเอื้อให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนในตลาดการเงินได้อย่างไร้พรมแดนมากขึ้น สภาพคล่องของการลงทุนจะมากขึ้น เม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น (โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่) เท่ากับว่าตลาดการเงิน (Financial Market) จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนต้นทุนที่ถูกลง

เงินดิจิทัล และ ICO - เหรียญ 2 ด้านที่ทุกฝ่ายเลือกได้

รูปที่ 3 ตัวอย่าง Goldmint ซึ่งเป็น Crypto Asset ที่มีทองคำหนุนหลัง | ทีมา: Goldmint.io

ทั้งหมดก็เป็นการฉายภาพให้เห็น “เหรียญ 2 ด้าน” ของเงินดิจิทัล และ ICO ที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้ออกเหรียญ และนักลงทุนควรจะมองให้ครบ ให้เข้าใจแท้จริงว่าอะไรเป็นอะไร และเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศของเรา

FundTalk รายงาน