สงครามการค้านำพาให้มั่งคั่ง?!?

สงครามการค้านำพาให้มั่งคั่ง?!?

Protection will lead to great prosperity and strength” คำที่ทรัมป์กล่าวเมื่อสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ณ ต้นปีที่แล้ว

 เป็นคำที่แสดงถึงธาตุแท้ของทรัมป์ที่พร้อมจะตั้งกำแพงภาษีปกป้องการค้าของตน และยกเลิกข้อตกลงการค้าต่างๆ ที่เคยทำไว้ เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และ ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และเจรจาใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุดของอเมริกาตามหลัก America First

ในปีนี้ ทรัมป์ก็ได้ดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีและโควตานำเข้าเครื่องซักผ้าและแผง Solar Cell เพื่อปกป้องสินค้าในประเทศ (หรือที่เรียกว่า Safeguard) เมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ที่สำคัญที่สุดคือการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% สำหรับทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐ ยกเว้นบางประเทศ เช่น แคนาดาและเม็กซิโกที่จะเจรจาผ่านกรอบ NAFTA ใหม่ รวมถึงบางประเทศที่พร้อมจะยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐ โดยจะมีผลในทางปฎิบัติในปลายเดือนนี้

การประกาศครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งอื่นๆ เนื่องจากใช้ข้ออ้างจากเหตุผลเรื่องความมั่นคง (ว่าเหล็กและอลูมิเนียมเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการป้องกันประเทศ) ซึ่งเมื่อใช้เหตุผลนี้แล้ว กฎขององค์การการค้าโลก (WTO) อนุญาตให้ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอื่นใดเหมือนกรณีอื่นๆ เช่น สินค้าเหล่านี้ขายต่ำกว่าต้นทุน (Dumping) หรือมีการอุดหนุนโดยทางการ (Subsidizing) โดยประเทศที่ยกข้ออ้างนี้สามารถขึ้นภาษีได้ จนกว่าประเทศอื่นจะฟ้องร้องให้ WTO ไต่สวนว่าเป็นจริงหรือไม่

และในกรณีนี้ WTO ก็ตัดสินได้ยาก เพราะถ้าตัดสินว่าสหรัฐถูก ก็จะเป็นเหตุผลให้ประเทศอื่นๆ ทำตามอย่าง แต่ถ้าตัดสินว่าสหรัฐผิด ก็เป็นไปได้ที่สหรัฐ (ที่เป็นประเทศที่นำเข้าสินค้ามากที่สุดในโลก) จะถอนตัวออกจาก WTO ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น การค้าโลกก็จะประสบวิกฤติ และเนื่องจากทรัมป์รู้เหตุผลนี้ จึงได้กล่าวว่า “สงครามการค้านั้นดี และสหรัฐจะชนะอย่างง่ายดาย

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายนัก เพราะประเทศต่างๆ ต่างเริ่มงัดมาตรการภาษีเข้าตอบโต้ เช่น สหภาพยุโรปประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้า 25% ในสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เช่น กางเกงยีนส์ มอเตอร์ไซค์ เหล้า Bourbon และผลไม้เช่น Cranberries ในขณะที่จีนก็เคยกล่าวว่ากำลังศึกษาว่าจะขึ้นภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เช่น ข้าวฟ่างและถั่วเหลือง

ดังเช่นทุกสงคราม ในการทำสงครามการค้านั้นจะมีแต่ผู้แพ้ ซึ่งได้แก่ผู้ผลิตของประเทศผู้ส่งออกและผู้บริโภคในประเทศที่ขึ้นภาษีนำเข้า และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ โดยในประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3.9% ในปีนี้และปีหน้า โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานสำคัญว่าการค้าโลกจะต้องขยายตัวได้ในระดับ 4.4-4.6% ต่อปีใน 2 ปีนี้

แต่หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น จะกระทบต่อการค้าและการส่งออกทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย โดยสถาบัน Brooking Institute ประมาณการว่า หากทั่วโลกตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 10% จะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของแต่ละประเทศในระดับ 1-4.5% ขณะที่ Bloomberg Economicsคาดว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะหดตัวลง 0.5% และ 3.7% ในปี 2020 ตามลำดับ โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญต่อเศรษฐกิจ ผ่านต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและฉุดรั้งกำลังซื้อของประชาชน

โดยปกติแล้ว สงครามการค้าจะมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ หากประเทศใดประเทศหนึ่ง (โดยเฉพาะประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ) เริ่มต้นขึ้น เช่น ในปี 1956 สหรัฐออกกฎหมายปกป้องภาคเกษตร หลังจากนั้นยุโรปก็ประกาศ “นโยบายเกษตรร่วม” (Common Agriculture Policy) เพื่ออุดหนุนช่วยเหลือภาคเกษตรของตน และส่งผลให้การค้าสินค้าเกษตรบิดเบือนจนถึงทุกวันนี้

ในกรณีเลวร้าย การขึ้นภาษีดังกล่าวอาจนำไปสู่สงครามการค้าอย่างรุนแรงเหมือนในปี 1930 ที่วุฒิสมาชิก Hawley และ Smoot ของสหรัฐเสนอกฎหมายขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากว่า 20,000 รายการเป็นอัตราเกือบ 60% ทำให้แคนาดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ออกภาษีตอบโต้และหันไปค้าขายกันเองมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในสหรัฐ (ภาคการผลิตหดตัวเกือบ 50% และคนว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 600%) และลามไปทั่วโลกผ่านการค้าโลกที่หดตัวกว่า 50% จนเกิด “มหาวิกฤติเศรษฐกิจ” (The Great Depression) ขึ้น ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 (พ.ศ. 2475)

แม้ว่าสงครามการค้าครั้งนี้ไม่น่าจะรุนแรงเท่าครั้งนั้น แต่ก็ประมาทไม่ได้ มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าปี 1974 ของสหรัฐให้อำนาจประธานาธิบดีสามารถประกาศการตอบโต้ทางการค้าได้หากประเทศใดดำเนินนโยบายการค้าที่กระทบต่อสหรัฐ โดยทรัมป์ประกาศว่าหากยุโรปขึ้นภาษีนำเข้าแก่สินค้าของสหรัฐ เขาจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีรถยนต์ยุโรป

รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศเช่นกันว่าจีนได้ “ขโมย” เทคโนโลยีของสินค้าสหรัฐ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากรัฐบาลสหรัฐตั้งใจจะ “เล่นงาน” จีนแล้ว ก็อาจขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนได้ (ซึ่งอาจกระทบไทยทางอ้อมผ่านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดคิดเป็นเกือบ 30% ของสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด)

ความเสี่ยงสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ครั้งนี้ ทำให้ระเบียบเศรษฐกิจการค้าโลกที่เคยยึดถือกฎระเบียบต่าง ๆ (Rule-based system) สั่นคลอนลง เพราะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐละทิ้งข้อตกลงแบบพหุภาคี และหันมามุ่งเน้นการเจรจาแบบทวิภาคีที่ตนเองมีแต้มต่อ 

กระบวนการเช่นนี้จะทำให้ความไม่แน่นอนมีมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ มีผลต่อการผลิต การวางแผน และการลงทุนในอนาคต และต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลกกำลังมาถึงแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการจะหลีกเลี่ยงได้คือการเปิดตลาดใหม่ที่ไม่ใช่สหรัฐ ขณะที่ทางการไทยต้องเร่งเจรจาการค้ากับประเทศอื่นเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงการทำการค้ากับอันธพาลของโลกให้เร็วที่สุด

***บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่***