จะปฏิรูปความรู้และความคิดอ่านของคนไทยกันอย่างไร

จะปฏิรูปความรู้และความคิดอ่านของคนไทยกันอย่างไร

วิธีที่ชนชั้นนำไทยแก้ไขปัญหาด้วยการเน้นเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมาย การควบคุมโดยตำรวจและการลงโทษ พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจำกัด รัฐธรรมนูญ

และ กฎหมายอื่นที่ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นแค่กฎกติกาทางสังคมที่คนกลุ่มหนึ่งเขียน มักมีช่องโหว่ ความไม่เป็นธรรม ขาดประสิทธิภาพ ประชาชนรู้ไม่ทั่วถึง หรือไม่ได้เคารพยำเกรงเสมอไป ทั้งตำรวจและหน่วยงานยุติธรรมไทยก็มีขีดความสามารถจำกัดที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรมเสมอไป

ปัญหาหลักขั้นรากฐานที่ทำให้ไทยล้าหลัง/มีปัญหาทางสังคมมากคือ 1. โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างชนชั้นนำส่วนน้อยกับประชาชนส่วนใหญ่มาก 2. วัฒนธรรม ความคิด ทัศนคติของคนไทยที่ยกย่องและหวังพึ่งคนมีอำนาจ มากกว่าการเข้าใจว่าในโลกใหม่นี้ ประชาชนทุกคนคือพลเมืองที่เป็นเจ้าของ/ผู้เสียภาษีที่ควรมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาสอย่างเทียมกัน

การมุ่งใช้กฎหมายในการป้องกันหรือลงโทษคนทำผิดมักเป็นเพียงการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่ได้ผลแค่แก้ปัญหาระยะสั้นได้บางส่วน เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรและเวลาของส่วนรวมมาก ต้องแก้ไขด้วยการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจสังคมเชิงโครงสร้างที่ต้นตอของปัญหาทั้ง 2 ข้อนี้ให้ได้

ข้อ 1 ผู้เขียนเคยเสนอในบทความก่อนๆ แล้ว บทความนี้จะเน้นการแก้ไขปัญหาข้อ 2 ว่าเราต้องปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน และกระบวนการขัดเกลาทางสังคม วัฒนธรรม ชนิดที่จะพัฒนาประชาชนส่วนใหญ่ให้มีความรู้ ความคิดอ่านที่เป็นเหตุผลตามหลักวิชาการ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มีทัศนคติค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตยและสร้างสรรค์ สร้างกฎหมายขนบธรรมเนียม บรรทัดฐานที่ดี ให้ประชาชนจะยอมรับและร่วมมือกันทำตามกฎกติกาที่มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมให้ได้

เทียบกับสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ฯลฯ การที่ประชาชนมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยและมีวัฒนธรรมการช่วยเหลือร่วมมือกันแบบชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขความพอใจ

ดังนั้น การจะปฏิรูปประเทศให้ได้ผลจริง ควรมีเป้าหมายในการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมแบบประชาธิปไตยที่ใจกว้าง, ช่วยเหลือร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมควบคู่ไปกับการปฏิรูปด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม เราจึงจะสร้างความปรองดองสามัคคีในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ ก้าวข้ามความขัดแย้งแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง คิดอย่างมีเหตุผลเป็นและสร้างสรรค์ รู้จักหาทางออกแบบสันติวิธีที่มีเหตุผล และทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมมากขึ้นได้

การตั้งเป้าหมายพัฒนาประเทศที่เน้นการสร้างความเป็นธรรมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แทนเป้าหมายที่เน้นการเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม การลงทุนและการค้าของบริษัทขนาดใหญ่ จะช่วยให้ประชาชน สามารถแก้ปัญหาพัฒนาตนเอง และร่วมมือกันพัฒนาสังคมให้เจริญงอกงามได้ดีขึ้น เศรษฐกิจจะค่อยๆ เจริญเติบโตได้เองและอย่างมั่นคง มากกว่าการที่เศรษฐกิจโตเพราะธุรกิจขนาดใหญ่  

การปฏิรูปการศึกษาในแนวก้าวหน้าที่เน้นทั้งคุณภาพและความเป็นธรรม เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่นำไปสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมได้ ประชาชนควรได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการดำรงชีพ ความรู้ทางวิชาชีพ ทางเทคนิคต่างๆ เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ระบบนิเวศ และการรู้จักคิดอ่านอย่างมีเหตุผล มีความรู้จิตสำนึกแบบพลเมืองผู้มีทัศนคติ ค่านิยม ที่เป็นเสรีประชาธิปไตย และเห็นความจำเป็นของการร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม

  การปฏิรูปทางความรู้/ความคิดอ่านของคนไทย เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เราควรมีเป้าหมายเพื่อสร้าง ทัศนคติค่านิยมสำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นหลักสากลและเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมเพื่อคนทั้งหมด 7 ข้อนี้

  1. มีเหตุผล ยอมรับเรื่องสิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของตนเอง เคารพในตัวเอง เคารพในศีลธรรมและประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม ชุมชน และประเทศ
  2. มีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ มีความเคารพซึ่งกันและกันสามารถที่จะวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาได้ในฐานะพลเมือง สามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นและมีความสามัคคีเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์แค่ระยะสั้นๆ
  3. เข้าใจความจำเป็นและประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันเป็นพลเมืองของชุมชนและประเทศเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกคนในระยะยาว การปลูกฝังความรักชาติควรทำในความหมายของการเห็นแก่ชุมชน เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ไม่ใช่การหลงชาติ ดูถูกเผ่าพันธุ์อื่น การเน้นจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการพัฒนาแบบยั่งยืน (การอนุรักษ์ระบบนิเวศสภาพแวดล้อม) มากกว่าแนวคิดแบบปัจเจกชนตัวใครตัวมัน ของลัทธิทุนนิยมอุตสาหกรรม
  4. เคารพกฎหมายและดำเนินชีวิตในกรอบของกฎหมายที่มีเหตุผลและเป็นธรรมมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งใดๆ ด้วยสันติวิธีถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม ต้องเสนอแนะผลักดันให้มีการแก้ไข ไม่ใช่เลี่ยงหรือทำผิดกฎหมาย
  5. มีจิตใจเปิดกว้าง ยอมรับในเรื่องสิทธิพลเมืองสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิเด็กฯลฯ ยอมรับว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและลบ ทั้งพร้อมที่จะปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
  6. สามารถคิดในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ และคิดได้อย่างเป็นระบบแบบเชื่อมโยงเป็นองค์รวม มีความรับผิดชอบผูกพันกับสิ่งที่คนได้กระทำลงไป และอธิบายความชอบธรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ (Accountability)
  7. มีจิตใจแบบเมตตากรุณาเห็นใจเพื่อนร่วมประเทศ เพื่อนร่วมโลก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา รักความเป็นธรรม เข้าใจยอมรับและอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม ไม่มีอคติต่อผู้ที่มีความแตกต่างจากตน เช่น นับถือศาสนาอื่นหรือชาติพันธุ์อื่น เป็นต้น