ฟองสบู่ “หนี้”

ฟองสบู่ “หนี้”

มีคนบอกว่า หนี้แบ่งเป็นหนี้ดีกับหนี้เลว หนี้เลวคือหนี้เพื่อการบริโภค หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ แนวคิดนี้ดูเหมือนดี

แต่ชีวิตจริงซับซ้อนกว่านั้น สิ่งสำคัญกว่าคืออย่าเป็นหนี้เกินตัว มิฉะนั้น กิจการอาจล้มครืนลงไปเสียก่อน

ยูนิคอร์ดในยุคฟองสบู่ (ใครจำได้บ้าง) ก่อหนี้มหาศาลเพื่อซื้อบับเบิ้ลบี-บริษัทผลิตทูน่ากระป๋องยักษ์ใหญ่ในอเมริกา มันจบลงด้วยการล้มละลาย อีกเรื่องที่ผ่านไปคือบริษัทเหล็กไทยเทคโอเวอร์โรงงานถลุงเหล็กในอังกฤษ ผลคือหนี้เสียของธนาคารผู้ปล่อยกู้หลายหมื่นล้านบาท

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือช่วงเวลาและจังหวะในการกู้และคืนหนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหา Mismatch ที่นำเงินกู้ระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว เหมือนกับหลายบริษัทที่ประสบปัญหาตั๋วบีอีในปีที่แล้ว แต่รวมถึงการมองทิศทางและแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต เพื่อเลือกจังหวะโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

หนี้เปรียบเสมือนยาพิษที่เคลือบด้วยน้ำผึ้ง คนเก่งมากมายพลาดท่าเสียทีเพราะใจไม่แข็งพอ ไม่อาจควบคุมและยับยั้งชั่งใจ โดยเฉพาะช่วงที่สภาพคล่องล้นและเม็ดเงินท่วมตลาด เงินมากมายมักลวงตาคนให้เห็นแต่โอกาส ฮึกเหิมและคิดการณ์ใหญ่ จนขาดสติความรอบคอบและประเมินทุกอย่างดีเกินไป

ในโลกแห่งความจริง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กว่าที่กิจการจะสร้างผลตอบแทนกลับคืนมา เงื่อนไขและเหตุปัจจัยต่าง ๆ อาจแปรเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ คำตอบที่ถูกต้องของวันนี้ไม่แน่ว่าจะถูกต้องสำหรับวันพรุ่งนี้ ความเสี่ยงใหญ่สุดคืออนาคตที่คาดการณ์ไว้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทุกสิ่งที่วางแผนจึงผิดพลาดไปหมด และนั่นคือเหตุแห่งความล้มเหลว

วิกฤติหนี้สินทั้งระดับประเทศและภาคธุรกิจสัมพันธ์กัน เม็ดเงินต้นทุนต่ำทำให้เศรษฐกิจเติบโต ทุกคนเร่งก่อหนี้เพื่อคว้าโอกาส เมื่อเม็ดเงินนั้นหายไป เช่น ฟันด์โฟลว์ไหลออก หนี้ที่ก่อไว้ย่อมระเบิดออกมา มันคือวัฏจักรแห่งการเติบโตและแตกสลาย (Boom and Bust Cycle) ดังนั้น ถ้าจะพยากรณ์วิกฤติหนี้ ควรเริ่มต้นที่กำเนิดของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

ในโหราศาสตร์ เม็ดเงิน QE ฟันด์โฟลว์ สภาพคล่อง คือเงินปลอมที่เกิดจากอิทธิพลพฤหัสเนปจูน วัฏจักร 13 ปีของมันบอกถึงการอัดฉีดเงินเข้าระบบในขาขึ้นและดึงออกในขาลง ทั้งคู่คือผู้ควบคุมปริมาณเงิน ทิศทางดอกเบี้ย และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราจะย้อนเวลาไปศึกษาวัฏจักรนี้กัน

วันที่ 2 กันยายน 1945 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด หลังจากนั้น 20 วัน พฤหัสเนปจูนเริ่มวัฏจักรใหม่ที่ 12:48 องศากันย์ การฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกเริ่มต้นขึ้น มาตรการสำคัญคือ Bretton Woods System ซึ่งกำหนดให้เงินตราของทุกชาติผูกติดกับทองคำเพื่อความมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจโลกดีขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของระบบนี้ มันเข้าที่สมบูรณ์แบบในปี 1958 เมื่อโลกใช้ดอลลาร์เป็นสื่อกลาง โดยทองคำ 1 อาวซ์เท่ากับ 35 ดอลลาร์ ตรงกับวัฏจักรใหม่ที่ 10:02 องศาตุลย์ซึ่งเริ่มต้น 24 กันยายนปีนั้น

เศรษฐกิจเยอรมันญี่ปุ่นเติบโตขึ้นมาก แต่อเมริกากลับถดถอยจากสงครามเวียดนาม เงินดอลลาร์มีค่าสูงเกินจริง นานาชาตินำดอลลาร์มาเปลี่ยน จนทองคำสำรองลดลงอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจใกล้พังพินาศ วันที่ 15 ส.ค.1971 นิกสันปิดช่องทางแลกเปลี่ยนและถอนตัวจากระบบ ดอลลาร์ไม่มีทองคำหนุนหลังอีกต่อไป มันอ่อนค่าแต่เศรษฐกิจฟื้นตัว ที่สำคัญ เฟดพิมพ์เงินได้อย่างเสรี มันคือจุดเริ่มต้นวัฏจักรใหม่ที่ 7:10 องศาพิจิกในวันที่ 16 กันยายน

เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าก่อให้เกิดวิกฤติน้ำมันในทศวรรษต่อมา เศรษฐกิจโลกถดถอยอีก ช่วงปี 1980 – 1985 ดอลลาร์แข็งค่าถึง 50 % เทียบกับมาร์คเยนฟรังก์ปอนด์ พฤหัสเนปจูนขึ้นวัฏจักรใหม่ 20 ม.ค. 1984 ที่ 6:23 องศาธนู อเมริกาทำข้อตกลง Plaza Accord เมื่อ 22 ก.ย. 1985 เพื่อลดค่าเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจ มันทำให้ญี่ปุ่นเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ลูกใหญ่และย้ายฐานการผลิตมาที่อาเซียน ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทย จนกลายเป็นฟองสบู่ตามไปด้วย

วัฏจักรต่อมาเกิดขึ้น 9 ม.ค.1997 ที่ 3:20 องศามังกร เศรษฐกิจอเมริกาโตมากและเกิดฟองสบู่ดอทคอม เมื่อฟองสบู่แตกและเกิดเหตุการณ์ 911 เฟดลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว จาก 6.25 เหลือแค่ 1 % จนเกิดฟองสบู่ซับไพร์มและอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้อง ฟองสบู่แตกและเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์กันยายน 2008 มันลุกลามไปทั่วโลก โชคดีที่พฤหัสเนปจูนเริ่มวัฏจักรปัจจุบัน 28 พ.ค. 2009 ที่ 2:29 องศากุมภ์ เฟดและบรรดาธนาคารกลางลดดอกเบี้ยและอัดฉีด QE มหาศาลเข้าระบบ แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวและเติบโตอีกครั้ง แต่เงินก็ท่วมโลกและไหลเข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่าง ๆ จนราคาสูงเกินจริง

พฤหัสยกเข้ากันย์ 11 ส.ค. 2016 วัฏจักรกลับเป็นขาลง เฟดทยอยขึ้นดอกเบี้ยและถอน QE ออกจากระบบ เศรษฐกิจเติบโตตามปกติและศักยภาพของมัน ความเสี่ยงของราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เพราะสภาพคล่องที่ล้นโลก ผู้คนยังไม่ตระหนักและมองโลกสวยเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ภาพใหญ่เปลี่ยนไปแล้ว ดัชนีดาวโจนส์ต้นกุมภาพันธ์ที่ลดลงกว่าพันจุดในวันเดียวนั้นคือสัญญาณอันตราย

เมื่อเข้าขาลง สิ่งที่ตามมาคือปัญหาจากฟองสบู่หนี้สินที่สร้างสมเอาไว้ ในบ้านเรา สถานการณ์เช่นนี้น่าเป็นห่วง หลายปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่ขยายกิจการอย่างมากทั้งในและนอกประเทศ มันเป็นโอกาสเมื่อมองจากขาขึ้น แต่อาจเป็นเภทภัยในขาลงก็ได้

รูปธรรมที่ชัดเจนคือสารพัดโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์ตามแนวรถไฟฟ้า ราคาที่ดินและคอนโดฯที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว) ไม่ใช่สัญญาณทางบวกอย่างแน่นอน วันใดดอกเบี้ยขึ้น ฟันด์โฟลว์ไหลออก สภาพคล่องลดลง ฟองสบู่หนี้อสังหาฯน่าจะแตกเป็นรายแรก

ขาลงของวัฏจักรพฤหัสเนปจูนชี้ถึงความเสี่ยงมหาศาลในอนาคต ทั้งยังมีอีก 3 วัฏจักรใหญ่ที่รอ Disrupt และพร้อมจะซ้ำเติมให้มันกลายเป็นวิกฤติใหญ่ เรื่องราวสุ่มเสี่ยงกว่าที่คุณคิด

วันนี้สบายดี พรุ่งนี้ ปีหน้า ปีต่อไปล่ะ มั่นใจแค่ไหน