แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่เกี่ยวกับลอตเตอรี่

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่เกี่ยวกับลอตเตอรี่

ในอดีตที่ผ่านมา มีคดีที่เกี่ยวกับลอตเตอรีหรือสลากกินแบ่งรัฐบาล ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหลายคดี มีประเด็นที่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานได้คือ

ระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้องเงินรางวัล

แต่เดิมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดสิทธิเรียกร้องให้มารับภายใน 3 เดือน

ศาลฎีกา มีคำพิพากษาฎีกาที่ 473/2539 วินิจฉัยว่า ผู้ที่ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลมีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ทางสำนักงานสลากกินแบ่งฯ จะกำหนดสิทธิเรียกร้องให้มารับภายใน 3 เดือนมิได้ (หมายเหตุ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สำนักงานสลากกินแบ่งฯ พ.ศ. 2517 ออกใช้บังคับ ตามมาตรา 37 กำหนดสิทธิเรียกร้องไว้ 2 ปี สิทธิเรียกร้องเงินรางวัลจึงมีระยะเวลา 2 ปี ตามกฎหมายเฉพาะ)

ผู้ทรงสิทธิในสลาก

คำพิพากษาฎีกาที่ 1349/2508 วินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไทย โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิตามสัญญาสลากกินแบ่งฯและเหนือใบสลากนั้น ฉะนั้นแม้โจทก์จะทำสลากพิพาทหล่นหาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้

คำพิพากษาฎีกาที่ 185/2508 สลากกินแบ่งฯของโจทก์หายไป จำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ รับซื้อไว้โดยเปิดเผยและโดยสุจริต ไม่ทราบว่าเป็นสลากกินแบ่งฯของโจทก์ที่หายไปเช่นนี้ เมื่อผู้ขายมิใช่เจ้าของสลากและไม่มีอำนาจจะเอามาขายได้ จำเลยผู้รับซื้อก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งนั้น

แต่กรณี ที่สลากถูกรางวัลหายไป แต่ผู้ซื้อได้ซื้อไว้โดยสุจริต จากแหล่งซื้อขายสลากที่สี่แยกคอกวัว โดยไม่ทราบว่าเป็นสลากที่หาย แล้วไปขึ้นรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่รับซื้อสลากไว้ดังกล่าวไม่ได้ทำละเมิด ต่อโจทก์ ไม่ต้องคืนเงินรางวัลที่รับมา( คำพิพากษาฎีกาที่ 1767/2531/)

สลากที่ถูกรางวัลหายไป ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินรางวัล

คำพิพากษาฎึกาที่ 464/2515 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อกำหนดหลังสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ว่า เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้น เป็นเพียงเพื่อให้มีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัล ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหาย เมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกรางวัลแต่สลากหายสำนักสลากกินแบ่งฯก็ต้องจ่ายเงินรางวัลให้

คำพิพากษาฎีกาต่อมาก็วินิจฉัยเป็นแนวเดียวกันคือ คำพิพากษาฎีกาที่3697/2529 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2578//2530

กรณีสลากถูกรางวัล แต่ไฟไหม้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยแนวเดียวกันกับกรณีสลากหาย คือคำพิพากษาฎีกาที่3409/ 2529 ที่วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าถูกรางวัลแต่สลากถูกไฟไหม้จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลจากจำเลย

คดียักยอกสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลที่

คำพิพากษาคดีเกี่ยวกับการยักยอกสลากที่ถูกรางวัลที่ 1 ที่น่าศึกษามาก คือคดีตามคำพิพากษา ฎีกาที่1224/2555 (ย่อ) ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำงวด วันที่ 2 พ.ค.2548 ที่มีเลขท้าย 2 ตัว 67 จำนวน 1 คู่ (ฉบับ) จากจำเลยที่ 1 แล้วฝากจำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้ โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบว่าเลขสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งหมด คงทราบเพียงเลข 2 ตัวท้าย การจะพิสูจน์ว่าจำเลยทั้งสอง เบียดบังสลากไปจากโจทก์ จึงจำต้องพิจารณาจากเหตุแห่งความน่าเชื่อถือของพยานพฤติการณ์เหตุแวดล้อม กรณีและการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า มีข้อพิรุธผิดปกติวิสัยหรือไม่เพียงใดประกอบเข้าด้วย เพราะถือเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้ง 2 ฝ่ายเดียว 

เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยทั้งสองประกอบกับคำเบิกความพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีของโจทก์และโจทก์ร่วมแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ร่วมซื้อและฝากจำเลยที่ 1 ไว้คือ ฉบับชุดที่ 01 และ 02 เลข 772467 จริง ครั้นสลากถูกรางวัลที่ 1  จำเลยที่ 1 คิดที่จะเบียดบังเอาสลากไว้เสียเอง จึงได้อ้างต่อโจทก์ร่วมว่าสลากไม่ถูกรางวัลและทิ้งไปแล้ว จากนั้นให้จำเลยที่ 2 บุตรชายรับสมอ้างว่า เป็นผู้ซื้อสลากฉบับดังกล่าวไปแล้วร่วมมือกันนำสลากไปขอรับเงินรางวัลมาเป็นของจำเลยทั้ง 2 โดยทุจริต จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานยักยอก ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมครอบครองสลากมาแต่แรก แต่การที่จำเลยที่ 2 รับสมอ้างว่า เป็นเจ้าของสลากและร่วมไปขอรับเงินรางวัลมา ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 1 ในการยักยอกสลาก จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด 

แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งมีโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 

การที่สลากกินแบ่งรัฐบาล ถูกรางวัลที่ 1 และจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้วย่อมทำให้โจทก์ร่วม หมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 โดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินเท่าจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 

แต่ได้ความว่าในการไปขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้ง 2 ได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้ง 2 ต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอัน เนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้ง 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 ได้

ข้อสังเกต คดีตามคำพิพากษาฎีกาข้างต้น แม้ข้อเท็จจริง จะปรากฏว่า โจทก์ร่วมจำเลขสลากที่พิพาทไม่ได้ จำได้แต่เลขท้าย 2 ตัว และเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าผู้รับฝากสลากที่ถูกรางวัลที่ 1 ยักยอกสลากไปขึ้นเงิน แต่ศาลฎีกาก็ได้พิจารณาจากพยานแวดล้อมและข้อพิรุธต่างฯ จนวินิจฉัยได้ว่าจำเลยยักยอกสลากจริง เป็นสิ่งยืนยันว่า แม้จะจำเลขสลากได้ไม่ทั้งหมดแต่เป็นผู้ซื้อสลากไว้ เป็นผู้ทรงสิทธิในสลากไปศาลด้วยสุจริต ส่วนจำเลย ที่กระทำมิชอบยักยอกสลาก แม้จะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ยักยอก แต่เมื่อไม่สุจริต ย่อมแสดงพิรุธออกมา จนต้องโทษทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ด้วย