กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของบ้านเราเป็นที่กล่าวขานกันมานาน ได้มีความพยายามแก้ไขกันในหลายทางแต่ก็ดูจะไม่ดีขึ้นมากนัก

 ล่าสุดความพยายามแก้ไขในระดับประเทศครั้งใหญ่เกิดขึ้นเงียบๆ โดยการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560

ความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ มีตัวเลขสนับสนุนพอเป็นสังเขปดังนี้ (1)ในปี 2553 เรามีคนจนอยู่ประมาณ 5.1 ล้านคน (คนที่มีค่าใช้จ่ายเพื่ออุปบริโภคไม่เกิน 1,678 บาท/คน/เดือนหรือ 56 บาท/คน/วัน) สำหรับ‘คนเฉียดจน’ มีประมาณ 10 ล้านคนหรือ 1/6 ของประชากร(คนที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2,014 บาท/คน/เดือนหรือ 67 บาท/คน/วัน)

(2)10% ของกลุ่มคนที่รวยที่สุดของประเทศรวมกันเป็นเจ้าของรายได้เป็นสัดส่วนประมาณเกือบ 40% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ

(3)10% ของกลุ่มคนที่รวยที่สุดเป็นเจ้าของรายได้รวม 22.8 เท่าของ 10% ของกลุ่มคนที่จนที่สุด (4)คนรวยสุด 65,000 คน จากประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน มีเงินฝากธนาคารรวมกันเกือบ 50% ของเงินฝากทั้งหมดหรือพูดอีกอย่างว่าแค่คน 65,000 คน มีเงินฝากธนาคารรวมกัน 5.51 ล้านล้านบาทขณะที่ประชากรอีก64.93ล้านคนมีเงินฝากรวมกันเท่ากับ5.69ล้านล้านบาท

รัฐธรรมนูญ มาตรา 261ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา มีอายุทำงาน 2 ปีและภายใน 1 ปี ให้ดำเนินการตรากฎหมาย “เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี......กฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระ และกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว” (มาตรา54)

มาตรา 54 นี้กล่าวถึงการรับการศึกษาของเด็กทุกคนเป็นเวลา 12 ปี การดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก การให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิต และร่วมมือกันทุกฝ่ายในการจัดการศึกษาทุกระดับโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะตระหนักดีว่า การศึกษาคือหัวใจของการมีรายได้และสร้างความมั่งคั่ง ในระบบทุนนิยมผู้มีความมั่งคั่งก็จะยิ่งร่ำรวยยิ่งขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับคนยากจนนั้นตราบที่ไม่มีรายได้เพียงพอและไม่มีทรัพย์สิน ความมั่งคั่งที่เป็นตัวช่วยพยุงให้มีฐานะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้อยู่หมัดได้ในระยะยาวก็ต้องใช้การเข้าถึงการศึกษา กองทุนช่วยเหลือคนยากจนนี้จึงมีความสำคัญมาก

ความเหลื่อมล้ำ หากทิ้งไว้จะนำไปสู่ปัญหาสังคมที่รุนแรงอย่างมากในอนาคตการสูญเสียโอกาสของการใช้ทุนอันมีอยู่จำกัดของสังคมก็เป็นอีกเรื่องที่จะบั่นทอนศักยภาพของสังคมและเศรษฐกิจของเราในระยะยาวคอนกรีตและเหล็กจำนวนมากแทนที่จะถูกเอาไปใช้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม สร้างถนนฯลฯ กลับต้องถูกนำไปใช้สร้างกำแพงคุก สร้างรั้วบ้าน ฯลฯ และแรงงานจำนวนมากไม่ถูกใช้ในการผลิตสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์แต่กลับต้องเป็นแรงงาน คุมคุก ปราบโจรผู้ร้ายค้าขายยาเสพติดประกอบอาชญากรรมดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ฯลฯ ประชาชนเดินทางไปที่ใดก็จะมีแต่ความหวาดหวั่นในความปลอดภัย ไม่มีใครกล้ามาท่องเที่ยว ฯลฯ

ข่าวดีก็คือคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ได้ร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วหลังจากทำงานหนักมาเกือบปี โดยร่างกฎหมายบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่ใช่มายาคติ ความเอนเอียง หรือจินตนาการบัดนี้ได้ผ่านการตรวจแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อ 20 ก.พ.2561 ขณะนี้กำลังอยู่ใน สนช.โดยจะพิจารณาวาระที่หนึ่งถึงวาระที่ 3 ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกไม่นานก็จะเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาฉบับนี้ได้แก่(1)กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐโดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(2)มีสำนักงานกองทุนเป็นผู้ดำเนินงาน

สำหรับเงินนั้นโดยหลักแล้วจะมาจาก(1)ทุนประเดิม 1,000ล้านบาท (2)เงินรายปีจากสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ครม.กำหนด (3)เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้และ(4)เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้รัฐบาลจัดสรรให้เพียงพอตามแผนการใช้เงิน

เนื้อหาที่คณะกรรมการอิสระร่างขึ้นไปนั้น รัฐบาลเห็นด้วยทุกประการ ยกเว้นข้อที่(4) ที่ว่าขอให้จัดสรรเงินให้เป็นยอด 5% ของงบที่จัดสรรให้การศึกษาเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งหมายความถึงงบประมาณประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี(งบการศึกษา 500,000 บาทต่อปี ดังนั้น 5% จึงตก 25,000 ล้านบาท) เพื่อดูแลเด็กเยาวชนผู้ยากจนตลอดจนครูที่ต้องยกคุณภาพรวมกว่า4.3ล้านคน

ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมก็น่าเห็นใจฝ่ายเก็บภาษีและควบคุมการใช้งบประมาณ เงินเป็นเรื่องที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะเราได้ใช้จ่ายเงินไปในด้านปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การดูแลสวัสดิการผู้ยากไร้กว่า 11 ล้านคน เงินค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและสวัสดิการรัฐอีกมากมาย อย่างไรก็ดีในมุมตรงกันข้ามก็มีแง่คิดหลายประการดังนี้

(1) 25,000 ล้านบาท รวม 5 ปี ตก 125,000 ล้านบาทจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นสาเหตุของรายจ่ายมหาศาลในอนาคตไปได้มาก อีกทั้งเมื่อคนเหล่านี้ลืมตาอ้าปากได้ก็จะเป็นฐานภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในอนาคตจะลดการเป็นภาระทางการคลังไปมาก

(2)การให้เงินอุดหนุนต่อเนื่องและเป็นสัดส่วนกับงบประมาณแสดงให้เห็นถึงความจริงจัง และการประกันความต่อเนื่องของความพยายามลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเหมาะกว่าการจัดสรรเป็นรายปี ซึ่งอาจสะดุดในบางปีจนทำให้มีเงินไม่เพียงพอจนอาจทำให้ภารกิจทั้งหมดล้มเหลวก็เป็นได้

(3)การดูแลผู้ขาดแคลนจำนวน 4.3 ล้านคน ให้มีการศึกษาที่ดีขึ้น ด้วยจำนวนเงิน 25,000 ล้านบาทต่อปี ด้วยวิธีการที่ทำให้เงินถึงตัวโรงเรียนและเด็ก(ไม่ใช่เป็นเงินเดือนตอบแทนครู) จะมีผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและจะมีผลต่อเนื่องไปถึงภาคเศรษฐกิจอื่นอย่างสำคัญ อีกทั้งจะช่วยลดปัญหานักเรียนออกกลางคัน ช่วยให้อัตราการเข้าเรียนและอัตราการจบสูงขึ้น วิธีการนี้ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

(4)การอาจมีเงินไม่เพียงพอและไม่มั่นใจในความต่อเนื่อง ทำให้ความเป็น“อิสระ”ของกองทุนซึ่งเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 หายไป อนึ่งต้องไม่ลืมว่าหากการจัดสรรเงินงบประมาณแต่ละปีต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีซึ่งแต่ละกระทรวงมีความจำเป็นในการใช้งบประมาณ ดังนั้นจึงเท่ากับต้องไป“แย่งชิง”เงินงบประมาณมาจากกระทรวงอื่นๆ

คณะกรรมาธิการอิสระได้เสนอหลักการหรือสโลแกน“เปลี่ยน50สตางค์สุดท้ายเป็น 5บาทแรก”ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือจากที่เด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนเคยได้รับ “เศษตังค์สุดท้าย” 0.5% ของงบประมาณการศึกษามาเป็น “5บาทแรก” คือพิจารณาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกและจัดสรรให้ 5% ของงบประมาณทางการศึกษาแทน แนวคิดเช่นนี้แสดงความมุ่งมั่นของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยใช้การทุ่มเทให้การศึกษาเป็นสำคัญ

เด็กที่เกิดในวันนี้ในครอบครัวหนึ่งพอจะบอกได้เลยว่าอนาคตจะมีอาชีพใด จะมีฐานะในสังคมอย่างไร และจะไปได้ไกลแค่ไหนเพราะฐานะของครอบครัวในปัจจุบันเป็นตัวกำหนดอย่างมาก ถ้ากองทุนนี้ได้ผลเราจะทายกันผิดอย่างน่าชื่นใจครับ