จากยุค “โชติช่วงชัชวาล” ถึงการแสวงหาพลังงานด้วยมือคนไทย

จากยุค “โชติช่วงชัชวาล” ถึงการแสวงหาพลังงานด้วยมือคนไทย

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ยุคโชติช่วงชัชวาล” เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังการค้นพบแหล่งพลังงาน“ก๊าซธรรมชาติ” ในอ่าวไทยและสามารถนำก๊าซฯ ดังกล่าว

มาใช้ประโยชน์ทดแทนเชื้อเพลิงราคาแพงจากต่างประเทศได้เป็นครั้งแรก ในปี 2524 ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ อันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของไทย

รัฐบาลในสมัยนั้นตระหนักดีว่าการแสวงหาแหล่งพลังงานมีความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งประเทศไทยในขณะนั้น ยังขาดแคลนเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความชำนาญด้านนี้ รัฐจึงมีนโยบายเชิญชวนบริษัทน้ำมันต่างชาติเข้ามาสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย

ผมมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พลังงานของไทยในครั้งนั้น ด้วยการเข้าร่วมภารกิจพัฒนาแหล่งพลังงานไทยร่วมกับเพื่อนพนักงาน ปตท.สผ. อีก 7-8 คน ซึ่งเรื่องที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังนั้นคือการพัฒนา “แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช” หนึ่งในแหล่งพลังงานหลักของไทยที่สร้างคุณูปการให้กับประเทศ รวมทั้งความภาคภูมิใจแก่คนไทยจนถึงทุกวันนี้

จากยุค “โชติช่วงชัชวาล” ถึงการแสวงหาพลังงานด้วยมือคนไทย

ย้อนกลับไปหลังจากที่แหล่งบงกชถูกค้นพบเมื่อปี 2516 โดยบริษัท เทเนโก ประเทศสหรัฐ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าไทยจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่ใต้พื้นทะเล รัฐบาลขณะนั้นเล็งเห็นถึงประโยชน์มหาศาลที่ประเทศจะได้รับจากการพัฒนาแหล่งบงกช จึงตัดสินใจซื้อสัมปทานคืนจากบริษัท เท็กซัส แปซิฟิคในปี 2531 และมอบหมายให้ ปตท.สผ. เปรียบเสมือน “ตัวแทนของรัฐ” เป็นผู้พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปตท.สผ. ได้คัดเลือกบริษัทน้ำมันระดับโลก 3 บริษัท คือ “โททาล” จากฝรั่งเศส “บริติช แก๊ส” จากอังกฤษ และ “แสตทออยล์” จากนอร์เวย์ เข้าเป็นผู้ร่วมทุนเพื่อพัฒนาแหล่งบงกช โดยให้โททาลเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) จนสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นครั้งแรกในปี 2536 โดยมีข้อตกลงว่า ปตท.สผ. จะเข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อจากโททาล หลังจากที่ผลิตไปแล้ว 5 ปี (2541) โดยระหว่างนั้น โททาลจะต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับ ปตท.สผ.

นั่นเรียกได้ว่าเป็น “ภารกิจแรก” ของ ปตท.สผ. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการของคนไทยในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานด้วยครับ

แน่นอนที่สุดว่า การโอนผู้ดำเนินการ (Operatorship transfer) แหล่งก๊าซฯ ขนาดใหญ่ ย่อมต้องมีกระบวนการในเตรียมการที่รอบคอบ รัดกุม เพื่อให้มั่นใจว่าการถ่ายโอนงานเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด โททาล และ ปตท.สผ. จึงได้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Task force) เพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อมในการโอน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ด้านปฏิบัติการ ด้านสำรวจ ด้านการผลิต ด้านบุคลากร

ตามแผนการโอนผู้ดำเนินการ ซึ่งเรียกกันว่า การปฏิบัติงานสมทบ (secondment) มีการส่งพนักงานไปเรียนรู้งาน ทั้งที่สำนักงานใหญ่ในฝรั่งเศส และ Operation site ในประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เยเมน  เป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้การทำงานต้องเจอกับความแตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ภูมิอากาศ และระบบการทำงาน ทำให้เราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น วัฒนธรรมแบบ Western style ที่เราอยากรู้อะไรต้องถาม ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ซึ่งตอนนั้นบอกได้เลยครับว่า เป็นประสบการณ์ที่มีค่าของชีวิตครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคิดเหมือนกันคือ เป้าหมาย ที่ต้องรับหน้าที่แทนชาวต่างชาติในการเป็นผู้ดำเนินการแหล่งบงกชให้ได้

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ ผมกลับมาปฏิบัติงานที่แท่นผลิตก๊าซฯ บงกช โดยเริ่มจากเป็นผู้ช่วยหัวหน้าปฏิบัติการผลิต และขยับมาเป็นหัวหน้าการผลิต (Production Superintendent) ทำงานไปได้สักระยะ มาวันหนึ่งผมก็ได้รับข่าวดีจากผู้จัดการแท่นผลิต หรือ Field Manager ชาวฝรั่งเศส บอกให้ผมเตรียมตัวเป็น Field Manager ต่อจากเขาตอนนั้นผมทั้งตกใจ ดีใจ และภูมิใจ เพราะการเป็น Field Manager หมายถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบการผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศ ต้องดูแลบริหารจัดการทุกอย่างบนแท่นผลิต รวมทั้งพนักงานกว่าร้อยชีวิตด้วย

นั่นคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าเขายอมรับและเชื่อว่าคนไทยสามารถปฏิบัติงานได้เช่นเดียวกับเขา ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ยังมีพนักงานคนไทยอีก 10-20 คน ที่จะต้องรับหน้าที่ต่อจากพนักงานชาวฝรั่งเศสของโททาลในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ 

ในที่สุด การเข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งบงกชในปี 2541 พูดได้ว่า เราไม่ใช่แค่ “ทำได้” แต่ต้องบอกว่าเรา “ทำได้ดี” ด้วย จากนั้นมาก็มีพนักงาน ปตท.สผ. ทยอยรับหน้าที่สำคัญๆ ในโครงการบงกชแทนโททาล จนปัจจุบัน พนักงานที่ปฏิบัติงานในโครงการบงกชเป็นคนไทยเกือบ 100%

ความสำเร็จในครั้งนั้น โททาลมีส่วนสำคัญอย่างมาก เขาเป็นทั้ง “พันธมิตร” และ “พี่เลี้ยง” ในเวลาเดียวกัน จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ทั้ง การวางรากฐานการปฏิบัติงาน มาตรการความปลอดภัย ตลอดจนความรู้เชิงเทคนิคต่าง ๆ ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับอีก 2 พันธมิตรของแหล่งบงกชในตอนนั้น ก็ให้ความร่วมมือในการทำงานด้วยดี แม้ว่าปัจจุบันนี้จะไม่ได้เป็นผู้ร่วมทุนในแหล่งบงกชแล้วก็ตาม

กระทั่งปีปัจจุบัน แหล่งบงกชกำลังจะครบรอบการผลิตปีที่ 25 ในเดือน ก.ค. ที่นี่เป็นเสมือนโรงเรียนต้นแบบของ ปตท.สผ. เป็นที่สร้างบุคลากรไทยอีกหลายต่อหลายรุ่น เป็นที่ฝึกฝนการดำเนินการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมของบริษัทไทยในการทำภารกิจให้กับประเทศ

แม้วันนี้ ประเทศเรายังไม่สามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ทั้งหมด และยังต้องนำเข้าพลังงาน แต่อย่างน้อย ปตท.สผได้สริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สมความหมายของรัฐบาล ในการทำหน้าที่ ต่อรองและถ่วงดุลอำนาจบริษัทน้ำมันต่างชาติ สามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ เพราะจากที่ผลิตก๊าซได้ 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงแรก แต่ปัจจุบันแหล่งบงกชเพิ่มอัตราผลิตขึ้นมาเป็นประมาณ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ

ประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากแหล่งบงกช ได้ถูกนำไปใช้ในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอื่น ๆ ของเรา ทั้งในและต่างประเทศ เช่น โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย นอกจากนี้ เรายังถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นให้ชาวท้องถิ่นของประเทศที่เราเข้าไปดำเนินการ เช่น โครงการซอติก้าในเมียนมา และอีกหลายโครงการ

แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช” ไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนต้นแบบที่ทำให้คนไทยแสวงหาพลังงานได้ด้วยตัวเอง แต่ยังทำให้เรามีบริษัทสำรวจและผลิตของไทยที่มีความสามารถทัดเทียมกับบริษัทต่างชาติ เป็นที่ที่ทำให้เราเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” และที่สำคัญคือเป็นที่ที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อไปในอนาคตครับ

โดย... 

พงศธร ทวีสิน

กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)