AI เลี้ยงหมู 10 ล้านตัว

AI เลี้ยงหมู 10 ล้านตัว

คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อีกต่อไป ที่จะมีข่าวการประยุกต์ใช้ AI รูปแบบใหม่ ที่อาจไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน คราวนี้เป็นการเลี้ยงหมูของประเทศจีน

ล่าสุด อาลีบาบา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อันดับหนึ่งของประเทศจีน ได้ลงนามข้อตกลงกับกลุ่มธุรกิจฟาร์มหมู Dekon Group และ ผู้ผลิตอาหารหมูของประเทศจีน Tequ เพื่อร่วมพัฒนา AI ที่จะนำมาใช้เลี้่ยงหมู 10 ล้านตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจดจำใบหน้า (Face Recognition) และ การจดจำเสียง (Voice Recognition)

AI จะทำให้ทั้งจดจำและติดตาม หมูทั้ง 10 ล้านตัว ด้วยกล้องวงจรปิดและวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพ จากการเคลื่อนไหวและกระตือรือร้นของหมู นอกจากนี้จะยังจดจำและติดตามเสียงของหมู ด้วยไมโครโฟน และรับรู้ เสียงไอหรือจาม เพื่อวิเคราะห์ถึงการเจ็บป่วยของหมู

และ AI จะยังประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อคัดเลือก หมูที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ที่จะใช้ในการขยายพันธุ์ต่อไป

สิ่งที่น่าสนใจ คือการนำ Face Recognition มาใช้ทดแทนป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (RFID Tag) ทั้งที่ๆ RFID Tag เป็นเทคโนโลยีจากเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่จากการวิเคราะห์ ได้พบว่า ถึงแม้ RFID Tag ที่เจาะติดกับใบหูของหมู จะทำให้จดจำและติดตามหมูได้เช่นกัน แต่การใช้งาน ต้องอาศัยกำลังมนุษย์ ทั้งในการติดตั้งและติดตามเพื้อสแกนหมูแต่ละตัว ซึ่งหากมีหมูเป็น 10 ล้านตัว และมีที่เกิดใหม่อีกจำนวนมากในแต่ละวัน ก็จะเป็นภาระอันใหญ่หลวง

แต่ AI ในรูปแบบของ Face Recognition อาศัยเพียงกล้องวงจรปิด ที่ติดอยู่บนเพดาน และอาจมีการทำสัญลักษณ์เพิ่มบนตัวหมู เช่น การเขียนตัวเลข ก็จะทำให้ทั้งจดจำและติดตามหมู ได้อย่างอัตโนมัติและตลอดเวลา โดยที่ไม่อาศัยกำลังมนุษย์อย่างมหาศาล ในกรณีที่มีหมูเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีการผสมผสาน กล้องธรรมดากับกล้องอินฟาเรด ที่ทำให้วัดอุณหภูมิหมูได้ตลอดเวลาอีกด้วย

การเลี้ยงหมูเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของการประยุกต์ใช้ AI เพื่อความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพึงสังเกตุ ประการหนึ่ง เกี่ยวกับ AI คือความก้าวหน้าของ AI ในปัจจุบัน มีจำนวนมากที่เป็นการประยุกต์ใช้ Face Recognition หรือในแนวทางที่กว้างกว่าคือ คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) ซึ่งเป็นการนำ AI มาประยุกต์ให้คอมพิวเตอร์ สามารถเรียนรู้จากภาพและวีดิโอ เพื่อการตัดสินใจอย่างอัตโนมัติได้

การแท็กบุคคลที่รู้จักในภาพที่โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ค เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ Face Recognition ในยุคแรก ที่ใกล้ตัวทุกคน แต่ปัจจุบัน Computer Vision ได้ถูกพัฒนามาจนจดจำหมูได้ และแม้กระทั่งรถยนต์ที่ไร้คนขับ ที่สร้างความตื่นตาตื่นในในยุคปัจจุบัน ยังอาศัย Computer Vision เป็นเทคโนโลยีหลักในการขับเคลื่อน

เพราะ AI ในยุคปัจจุบัน คือการจำลองการใช้ดุลยพินิจของมนุษย์และสายตาของมนุษย์ เป็นประสาทสัมผัสที่ทรงพลังที่สุดในการรับรู้ข้อมูลจากสภาพแวดล้อมและการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) หนึ่งในความก้าวหน้าของ AI ในยุคนี้ ก็เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมสำหรับ Computer Vision

สิ่งที่ต้องพึงสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของ AI เพื่อเลี้ยงหมู หรือตัวอย่างอื่นๆ ก็ยังคงเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ AI โดยยังลงมาไม่ถึงธุรกิจขนาดเล็ก หรือกระทั่งธุรกิจสตาร์ทอัพ แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่จะมาสร้างความได้เปรียบได้ เพราะ AI ในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยขนาด ทั้งในเรื่องของเงินทุน และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ

สำหรับประเทศไทย การทำการเกษตร ซึ่ง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงเป็นขนาดเล็ก จะต้องมีแผนรับมือความเจริญก้าวหน้าในต่างประเทศในเร็ววันนี้ 

เพราะสุดท้ายก็ต้องไปแข่งขันกันในตลาดโลกเดียวกัน