ส่องเมกะโปรเจคภาคตะวันออก ... บูมหัวเมืองหลักอีอีซี

ส่องเมกะโปรเจคภาคตะวันออก ... บูมหัวเมืองหลักอีอีซี

ส่องเมกะโปรเจคภาคตะวันออก ... บูมหัวเมืองหลักอีอีซี

ประธาน จิวจินดา

หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นโครงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษและเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนให้เห็นผลในทางปฏิบัติและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ

พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หากเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ โดยเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ก็จะสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังจะช่วยเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกับอนุภูมิภาคไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของเวียดนามต่อไปได้

ตามแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาอีอีซีทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท มีโครงการเด่นๆที่สำคัญ ดังนี้

ทางถนน 3 โครงการ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ พัทยา - มาบตาพุด ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 65 และพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 มอเตอร์เวย์ชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปีฉบับใหม่ (พ.ศ.2560-2579) เพื่อเชื่อมต่อภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงทางหลวงและโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่บริเวณอู่ตะเภา มาบตาพุด และถนนเลียบชายฝั่งทะเล (ระยอง-ชลบุรี) เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งให้มีความสมบูรณ์ แก้ไขปัญหาจราจร และรองรับการขยายตัวของฐานการผลิตและบริการ

ทางราง 3 โครงการ ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ - ระยอง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับกรุงเทพฯ และเชื่อมท่าอากาศยานหลักทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานอู่ตะเภาเข้าด้วยกัน และเป็นแผนระยะเร่งด่วนปี 2561 นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา - มาบตาพุด - ระยอง - จันทบุรี - ตราด ในระยะต่อไปด้วย

ทางน้ำ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเรือสำราญขนาดใหญ่และเรือเฟอร์รี่ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสองฝั่งอ่าวไทยเส้นทางพัทยา – หัวหิน สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ได้แก่ การก่อสร้างศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง และการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งเอ ที่ท่าเรือแหลมฉบังเช่นกัน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ

ทางอากาศ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ในระยะ 5 ปีแรกจะเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น 15 ล้านคน ก่อนจะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณเที่ยวบินและความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางพัฒนาทั้งบุคลากรด้านการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมการบินที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไปพร้อมกันด้วย

มองว่า 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 จังหวัดมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82.5 ของจีดีพีภาคตะวันออก จะได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และได้รับอานิสงส์จากโครงการเมกะโปรเจคต่างๆที่จะลงไป เมื่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก-ราง-น้ำ-อากาศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (One Seamless Transport) จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนไทยและต่างประเทศมูลค่ามหาศาล  ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นการเข้ามาของกลุ่มดีเวลลอปเปอร์ในตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

มีโอกาสที่จะเกิดเมืองใหม่ตามมาอย่างน้อย 4 พื้นที่ ได้แก่ เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา เมืองใหม่ระยอง เมืองใหม่ชลบุรี และเมืองใหม่อู่ตะเภา โดย “ฉะเชิงเทรา” ถูกวางเป็นเมืองน่าอยู่รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก, “ระยอง” เป็นเมืองอุตสาหกรรมทั้งด้านพลังงาน เคมีชีวภาพ วิจัยอาหารและไบโออีโคโนมี, “ชลบุรี” เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาทักษะนานาชาติ และ “อู่ตะเภา” เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ครอบครัว สุขภาพและสันทนาการ รวมถึงศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์