ความเสี่ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่น 2018

ความเสี่ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่น 2018

ในช่วงนี้ ผมได้รับคำถามเยอะมากเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น และหุ้นจีนว่า จะมีความเสี่ยงอะไรในปีนี้หรือเปล่า

เป็นจังหวะพอดีที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้แต่งตั้งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นท่านใหม่ นามว่า มาซาซูมิ วากาทาเบ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ วัย 52 ปี เจ้าของผลงานหนังสือที่ชื่อว่า ‘Japan's Great Stagnation and Abenomics‘ โดยเขาเป็นผู้ที่ชื่นชอบการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นพิเศษ เลยถือโอกาสถ่ายทอดมุมมองของผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นท่านใหม่ ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2018 กำลังมีความเสี่ยงใดบ้าง ดังนี้

1. “วิกฤติเกาหลีเหนือ” วากาทาเบมองว่าเป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งปีแรกของ 2018 โดยมองว่าหากยืดเยื้อและแผ่ขยายไปในวงกว้าง จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างแน่นอน หากท่านคิดจะลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ความเสี่ยงนี้ต้องอยู่ในเรดาร์ของการพิจารณาอยู่ตลอด

2. “ความต่อเนื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ” จากผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่น ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ที่ได้รับการต่ออายุไปอีกหนึ่งสมัยเป็นที่เรียบร้อย ว่าจะยังคงเป็นแฟนพันธ์แท้ของ ‘ลูกศรแรกของอะเบโนมิคส์’ ที่เน้นนโยบายการเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ทั้งนี้ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แต่งตั้งวากาทาเบเพื่อมาเป็นตัวถ่วงดุลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินแบงก์ชาติญี่ปุ่นยังมีความกล้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

3. “การแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำพรรครัฐบาล LDP” ในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ แม้ว่าดูเหมือนกับว่าอาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้ที่ถือเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ชนะการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ 5 ครั้งติดต่อกัน แม้ชินเกรู อิชิบา และ ชินจิโร โคอิซูมิ ดูเหมือนว่าจะสนใจเข้าชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคเช่นกัน ทว่าอาเบะ ก็น่าจะถือว่านอนมาแน่ 

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าการนอนมาดังกล่าวจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังสามารถฟื้นตัวได้ดีจนถึงวันที่เลือกผู้นำ นี่ก็ถือว่าคือความเสี่ยงเช่นกัน

4. ความคิดริเริ่มที่จะมีนโยบายการคลังแพ็คเกจใหม่”  แม้ว่าเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการเติบโตของจีดีพีเป็นบวกติดต่อกัน 7 ไตรมาสรวดเป็นครั้งแรก ทว่าหากพิจารณาไส้ในของการเติบโต จะพบว่าเป็นการเติบโตไปกระจุกอยู่ที่อุปสงค์ภายนอกประเทศเป็นหลัก สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของการเติบโตได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ ที่ยังถือว่าอ่อนแออยู่   

กูรูหลายท่านให้กำลังใจว่า วงจรการขยายตัวของการบริโภค กำลังจะเกิดขึ้นจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว จะบีบให้นายจ้างขึ้นค่าจ้าง และส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคในเวลาต่อมา 

ทว่าปัจจัยที่ยังไม่ได้เป็นตัวช่วยให้กับวงจรที่ว่านี้ คือนโยบายการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ยังไม่กล้าขาดดุลในระยะสั้นเพื่อหวังประโยชน์ในระยะยาว จากการที่ mindset ของคนในพรรครัฐบาล LDP ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมอย่างแรง หลายฝ่ายหวังว่าจะเกิดความคิดริเริ่มที่จะมีนโยบายการคลังแพ็คเกจใหม่เกิดขึ้นมา

5. “นโยบายการเงินสหรัฐ” แม้ว่าธนาคารสหรัฐหรือเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้งในปีที่แล้วก็ตาม นั่นถือเป็นแค่การโหมโรง 

จะพบว่าเฟดยังไม่ได้ลดปริมาณฐานเงิน (Monetary Base) ภาพของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะเป็นเช่นไรเมื่อเฟดดำเนินนโยบายกลยุทธ์ทางออกจากโหมดผ่อนคลายแบบสุดโต่ง หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ ซึ่งหวังว่านายเจอโรม พาวเวล จะดำเนินการโดยความระมัดระวัง ทว่านี่ก็เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องจับตาให้ดี

ปริมาณฐานเงิน (Monetary Base) ในสหรัฐยังไม่หดตัว

ความเสี่ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่น 2018

ที่มา: Federal Reserve Bank of St.Louis

ท้ายสุด ‘เศรษฐกิจจีน’ แม้ว่าในปีที่แล้ว จีนจะดูมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมากกว่าปี 2016 ที่ค่าเงินหยวนแกว่งตัว รวมถึงรัฐบาลจีนต้องต่อกร กับภาวะเงินไหลออกรวมถึงแรงกดดันจากสภาวะเงินฝืด โดยปีนี้ นักวิเคราะห์ดูเหมือนจะมองจีนในแง่ที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ดี ในปีนี้ จีนจะมีความเสี่ยงที่เมื่อเฟดเริ่มลดปริมาณฐานเงิน รัฐบาลจีนจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และควบคุมการไหลออกของเงินทุนอย่างเข้มงวดขึ้น โดยที่ผ่านมาเกือบ 2 เดือน แม้จีนยังสามารถบริหารจัดการได้ดีในระดับหนึ่ง ทว่าสิ่งนี้ถือเป็นความเสี่ยงในปี 2018 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แล้วไว้ครั้งหน้า จะหันมาวิเคราะห์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนกันฉบับเต็มรูปแบบกันบ้างครับ