ICO: ไม่เข้าใจอย่าลงทุน ทางการจึงต้องให้ความรู้ประชาชน

ICO: ไม่เข้าใจอย่าลงทุน ทางการจึงต้องให้ความรู้ประชาชน

ช่วงนี้ผมพูดคุยกับคนทำ ICO (Initial Coin Offering) หลายเจ้า และหลายคน

เอกชนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนใหม่เพื่อระดมทุนเป็น “เหรียญดิจิทัล” ต้องการจะทันกับเทคโนโลยีของ cryptocurrencies หรือเงินสกุลดิจิทัล และไม่ต้องการ “ตกรถขบวนใหญ่” แห่งเทคโนโลยี

แต่ฝ่ายผู้กำกับหรือ regulators ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ ก.., หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความกังวล เพราะยังมีความไม่แน่นอนหลายประเด็น อีกทั้งยังเป็นห่วงว่า จะมีขบวนการฉ้อฉลที่ฉวยจังหวะนี้ หลอกลวงประชาชนให้กลายเป็นเหยื่อ

ผมเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย และเห็นพ้องกับที่ฝ่ายกำกับดูแลกติกากับฝ่ายเอกชนที่ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดความอ่านกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยทันกับความเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ตกเป็นเหยื่อของความฉ้อฉล

ICO: ไม่เข้าใจอย่าลงทุน ทางการจึงต้องให้ความรู้ประชาชน

ICO เป็นเรื่องใหม่ของโลกการระดมทุน และ cryptocurrencies ก็เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจแต่ยังมีความเสี่ยงสูง อีกทั้งเทคโนโลยี Blockchain ก็มีความสำคัญที่คนไทยควรจะต้องเข้าไปมีส่วนรับรู้ และพัฒนานำมาใช้เพื่อให้เราก้าวไปสู่ยุคใหม่แห่งนวัตกรรม

ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแสวงหาข้อมูล ปรึกษาหารือกันอย่างตรงไปตรงมาตลอดเวลา เพราะหากเปิดเสรีจะอันตราย แต่หากปิดตายก็จะบังคับให้ลงใต้ดินซึ่งอันตรายกว่า

วันก่อนเห็นคำเตือนจาก ก.ล.ต. แล้วก็เห็นว่ามีประเด็นที่ควรจะต้องรับรู้กันอย่างกว้างขวาง คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกข่าวว่า ตามที่มีคนสนใจระดมทุนด้วยการออกไอซีโอ และเริ่มมีการชักชวนให้ประชาชนลงทุนในไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) มากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการเตือนและให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งไอซีโอและคริปโตเคอเรนซีจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงในหลายแง่มุม หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเสียหายได้โดยง่าย

นอกจากนี้ อาจมีผู้ฉวยโอกาสในการสร้างกระแส โดยนำโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นจุดขาย หรือโครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ที่จะสามารถรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และ/หรือนำเรื่องเทคโนโลยีมาบังหน้า เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงทุน

ผู้ที่ได้รับการชักชวนหรือคิดที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งสินทรัพย์ที่จะลงทุน ตัวกิจการ สิทธิของผู้ลงทุน และโครงสร้างของโทเคน ที่จะได้รับจากการลงทุน และประเมินความเหมาะสมเทียบกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนก่อนลงทุนเสมอ ตลอดจนระวังความเสี่ยงจากการที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลความเสี่ยง และไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์และอื่น ๆ

ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแลการออกไอซีโอผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ ประกอบกับโครงการที่ระดมทุนอาจยังเป็นเพียงแนวคิด และการดำเนินการตามโครงการที่ระบุอาจไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่เหมือนที่เปิดเผยไว้แต่แรก เนื่องจากข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขายไอซีโอ (white paper) นั้นอาจเปรียบเสมือนเป็นสัญญาปากเปล่า

แนวทางกำกับดูแลที่อยู่ระหว่างพิจารณาของทางการ จะเปิดให้การระดมทุนและทำธุรกรรมในช่องทางนี้ที่สุจริต สามารถดำเนินไปได้ แต่ให้มีการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มความโปร่งใส กำหนดให้มีผู้ทำหน้าที่คัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขาย และกำกับดูแลมาตรฐานของตัวกลางที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรตระหนักว่า การกำกับดูแลจะช่วยลดความเสี่ยงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่น ป้องกันการหลอกลวง แชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจของกิจการ ความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวน ตลอดจนความเสี่ยงจากการที่ระบบเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกโจรกรรมไซเบอร์ 

ที่สำคัญที่สุด ควรตระหนักว่า หากเกิดความเสียหาย มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจอย่าลงทุน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับทุกคน

ถูกต้องครับ “ไม่เข้าใจ อย่าลงทุนเพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับทุกคน”

แต่ทางการจะต้องให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง สรุปประเด็นข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีด้านนี้อย่างละเอียด เปิดกว้าง และโปร่งใสจึงจะเป็นแนวทางที่ก่อเกิดประโยชน์กับชาติสูงสุด