พลเมืองดิจิทัลกำลังจะพลิกเกมการเมือง

พลเมืองดิจิทัลกำลังจะพลิกเกมการเมือง

ช่วง 2-3 ปีมานี้คนใหญ่คนโต ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศหลายคนคงได้ซาบซึ้งกับแรงกดดัน

 จากการที่ชาวเน็ตสามัคคีกันโพสต์ ร่วมใจกันแชร์ ทุ่มเทขุดคุ้ยแสดงความเห็นกันยกใหญ่ 

ตัวอย่างล่าสุด คือ กรณีการพกปืนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีภาพของซีอีโอบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งกว่าเจ้าตัวจะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น ก็แทบจะไม่มีที่ยืนในสังคมแล้ว 

หุ้นของบริษัทตกวูบไปเกือบพันล้าน มูลค่าที่หายไปสูงกว่าราคากระสุนที่ยิงไปทั้งหมดในทริปนั้นไม่รู้กี่เท่า 

นี่คือพลังของพลเมืองดิจิทัล นับแต่นี้ไป การโพสต์ การแชร์ การแสดงความเห็น การกดไลค์ จะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไปแล้ว

พจนานุกรมของเคมบริดจ์ได้ให้นิยามของพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ว่าหมายถึง “คนที่มีทักษะในการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารกับผู้อื่น ใช้ในการซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงการใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเป็นผู้ที่รู้จักใช้ทักษะเหล่านี้อย่างเหมาะสมและมีความรับผิดชอบ”

กรณีของประเทศไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะพลังของพลเมืองดิจิทัลก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงก่อนหน้ารัฐบาลปัจจุบันไม่นานนัก และมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนแม้แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถจะเพิกเฉยต่อพลังนี้ได้ 

เราได้เห็นการ “ทบทวน” “ศึกษาเพิ่มเติม” “เลื่อนการดำเนินการ” ของโครงการและนโยบายหลายอย่าง ที่ก่อนหน้านี้ แทบจะเดินหน้าไปโดยไม่สนใจเสียงของประชาชน 

ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านพลังงาน ที่มีข้อกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โครงการเมกะโปรเจคที่ต้องพึ่งพาทุนต่างชาติ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ 

นโยบายที่ดูเหมือนจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แม้กระทั่งการยืมเงินหลักร้อยล้านหรือการยืมสมบัติของเพื่อนมาใช้ชั่วคราว ก็ยังโดนพลังของพลเมืองดิจิทัลซัดเสียจนตั้งหลักไม่อยู่ จนคนที่เกี่ยวข้องออกอาการเมาหมัดไปตามๆ กัน

ถ้าไปดูงานที่ศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศจะพบว่า พลเมืองดิจิทัลมีลักษณะที่น่าสนใจหลายด้าน 

ด้านแรก คือ การรวมกลุ่มของคนเหล่านี้ ไม่ได้รวมกลุ่มกันโดยอิงกับมุมมองเพียงอย่างเดียว บางครั้งแม้จะมีมุมมองทางการเมืองที่ต่างกันก็อาจมารวมตัวกันได้ หากเป็นเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น เรื่องพลังงาน การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เป็นต้น

ดังนั้น การแบ่งกลุ่มพลเมืองดิจิทัลจะเอาสีเสื้อมาเป็นเกณฑ์เหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว

ด้านที่ 2 จำนวนพลเมืองดิจิทัลไม่สามารถนับได้ถูกต้องเหมือนจำนวนผู้ลงคะแนนเสียง เพราะคนหนึ่งคนอาจจะแสดงออกทางการเมืองออนไลน์ในหลายๆ เรื่องพร้อมกัน 

การจะนับจำนวนคนจากยอดไลค์ ยอดแชร์ หรือจำนวนข้อความที่โพสต์ จะไม่ใช่คะแนนเสียงจริงในเรื่องนั้น เพราะถึงจะนับได้หมด ก็ยังมีพลเมืองดิจิทัลเงียบ (Silent Digital Citizen) ที่อาจจะไม่แสดงออกออนไลน์เลย แต่ก็เห็นด้วยกับคนอื่น 

การวางกลยุทธ์ทางการเมืองแบบเดิม ที่เอาคะแนนเสียงเป็นตัวตั้ง จึงไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนกลุ่มนี้ได้

ด้านที่ 3 พลเมืองดิจิทัลมีทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกเพศ ทุกระดับการศึกษา ทุกพื้นที่ และมีการติดต่อกันโดยตรง หรือผ่านการดูฟีดข่าวของคนในกลุ่มอยู่เสมอ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนนักการเมืองคนใดคนหนึ่งได้ 

ส่วนนักการเมืองที่หวังจะได้คะแนนเสียงของคนในพื้นที่ก็ยังสนใจแต่เฉพาะประเด็นในพื้นที่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่พลเมืองดิจิทัลให้น้ำหนักมากนักในการเลือกนักการเมืองมาเป็นตัวแทนของตน

ด้านที่ 4 พลเมืองดิจิทัลไม่ได้ “เกรงใจ” นักการเมืองเหมือนที่เคยเป็นในอดีต เพราะสามารถปิดบังตัวตนได้ หรือถ้าถูกคุกคามก็จะมีพลเมืองดิจิทัลคนอื่นเข้ามาปกป้อง 

การคุกคามจากนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าหวาดกลัวมากเหมือนเมื่อก่อน ดีไม่ดีคนที่คุกคามจะโดนพลเมืองเหล่านี้ไล่สืบ ไล่ค้น ไล่แฉ จนต้องยอมถอยไปเอง

ด้านสุดท้าย เมื่อพลเมืองดิจิทัลตระหนักว่า การแสดงความเห็นของตนเองมีส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจริง ก็จะมีส่วนร่วมทางการเมืองออนไลน์มากขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไป การรวมกลุ่มจะยิ่งเหนียวแน่นเข้มแข็ง 

 เมื่อถึงคราวจำเป็นพลังออนไลน์เหล่านี้ก็สามารถรวมตัวกันจริง เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง และสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และได้รับความสนใจสูง เมื่อไหร่ที่คนเหล่านี้วางมือจากคีย์บอร์ดเพื่อออกมาเดินตามท้องถนน ก็มีโอกาสสูงว่า จะต้องมีนักการเมืองหรือคนใหญ่คนโตที่ต้องเดือดร้อนจนอยู่ในตำแหน่งต่อไม่ได้

น่าสนใจว่านักการเมืองไทยที่ห่างเวทีการเมืองไป 3-4 ปี จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ และมีความสามารถในการรับมือกับการเมืองทวิภพ ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างการเมืองแบบเดิม กับการเมืองโลกไซเบอร์ 

 บางทีเมื่อพบกับความจริงอันโหดร้ายนี้หลังการเลือกตั้ง อาจจะรู้สึกเสียใจว่าไม่น่ารีบให้มีการเลือกตั้งเลย