ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของบรูไน

ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของบรูไน

บรูไน ประเทศที่มีพื้นที่เล็กเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มักเป็นที่รู้จักในแง่ของความร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของบรูไนจะหมดลงในอีก 15 ปีข้างหน้า ตามด้วยก๊าซธรรมชาติสำรองที่จะหมดลงใน 25 ปีข้างหน้า บรูไนจึงปรับใช้ยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์ 2035 หรือ Wawasan Brunei 2035 เปลี่ยนยุทธศาสตร์โครงสร้างอุตสาหกรรม จากการพึ่งพารายได้จากการส่งออกนํ้ามันและก๊าซเป็นหลัก ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่พลังงาน (Non-energy-based industries and services) 

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่บรูไนเลือกพัฒนา เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์หนึ่งที่รัฐบาลบรูไนเล็งเห็นว่า มีศักยภาพในการสร้างและรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อปี 2560 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบรูไนประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามากขึ้น โดยข้อมูลจาก World Data Atlas ระบุว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจด้านการเดินทางและท่องเที่ยวของบรูไนมีส่วนแบ่งของ GDP ถึงร้อยละ 7.2 ในปี 2559 

เมื่อพิจารณาจากผลชี้วัดจำนวนนักท่องเที่ยวพบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ช่วงสิ้นปี 2560 หรือประมาณ 240,689 คน เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2559 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 218,809 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 0.3 

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาคโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 10.4 ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน และ ญี่ปุ่น 

ในอนาคตคาดว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเปิดสายการบินต้นทุนต่ำซึ่งบินตรงจากนานกิงและคุนหมิงของจีน เมื่อกลางปีที่ผ่านมา  ซึ่งบรูไนตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวให้ได้ถึงปีละ 451,000 คนภายในปี 2563

บรูไนได้รับรางวัลมาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน (Asean Tourism Standards Awards) หลายรางวัล ระหว่างการประชุมท่องเที่ยวอาเซียน 2018 (Asean Tourism Forum : ATF) ซึ่งจัดขึ้นที่จ.เชียงใหม่ เมื่อปลายเดือนม.ค. 2561 

โรงแรมและรีสอร์ตหลายแห่งของบรูไนได้รับรางวัลโรงแรมสีเขียวระดับอาเซียน และรางวัลสถานที่จัดประชุมนิทรรศการระดับอาเซียน ขณะที่กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน ได้รับรางวัลเมืองที่มีมาตรฐานการท่องเที่ยวสะอาดระดับอาเซียน (Asean Clean Tourist City Award)

แม้รางวัลเหล่านี้จะมอบให้เมืองและธุรกิจท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศอาเซียนด้วยเช่นกันก็ตาม แต่รางวัลเหล่านี้มีความสำคัญต่อบรูไน เนื่องจากเป็นพยานยืนยันถึงความทุ่มเทในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะไม่กี่ปีมานี้

การท่องเที่ยวบรูไน นอกจากจะมีความโด่ดเด่นทั้งสถานที่แล้ว รัฐบาลยังใช้การบริหารจุดเด่นและการบูรณาการเข้ามาเสริมการท่องเที่ยว รวมถึง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอีกด้วย 

ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของบรูไน

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวมีความโด่ดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม มัสยิด และพระราชวังล้วนแล้วแต่ประดับตกแต่งงดงาม เช่น มัสยิดสุลต่าน โอมาร์ อาลี ไซฟุดดิน ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศ

ขณะเดียวกัน บรูไนยังบริหารจุดเด่นและการบูรณาการเข้ามาเสริมการท่องเที่ยว เช่น มุ่งเสริมสร้างภาคการท่องเที่ยวอิสลาม (Brunei’s Islamic tourism) โดยชูจุดเด่น มรดกการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เช่น มัสยิด ชุมชมและวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งบรูไนมีศักยภาพในด้านนี้อย่างเต็มเปี่ยม 

รัฐบาลได้ร่วมมือกับบริษัททัวร์เพื่อจัดแพ็คเกจท่องเที่ยวอิสลาม มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นชาติที่บรูไนมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน 

นอกจากนั้น ยังชูจุดเด่นแหล่งท่องเที่ยว เช่น Temburong หมู่บ้านน้ำกัมปงไอเยอร์ (Kampong Ayer) และเมืองหลวงบันดาร์ เสรี เบกาวัน สำหรับกัมปงไอเยอร์นับว่าเป็นหมู่บ้านน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

การบูรณาการก็สำคัญ รัฐบาลบรูไนสนับสนุนให้บริษัททัวร์และธุรกิจการท่องเที่ยวของท้องถิ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนภาครัฐ-เอกชน (public-private partnerships)เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ (emerging products) เพื่อดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวโดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวเช่น การดำน้ำ การล่องเรือชมแท่นขุดเจาะน้ำมัน และดูนก เป็นต้น

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า 

ส่วนการก่อสร้างสะพาน Temburong เป็นโครงการขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเขตตัวเมืองหลวงกับพื้นที่ Temburong โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 สะพานนี้จะช่วยลดเวลาเดินทางและสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวฝั่ง Temburong ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ 

โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งจะมีประโยชน์ในการเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับเดินทางท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย รวมถึงประเทศใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซีย

รัฐบาลยังได้จัดตั้งกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยว (Ministry of Primary Resources and Tourism) ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง และได้โอนกรมพัฒนาการท่องเที่ยวมาขึ้นกับกระทรวงนี้ ตลอดจนตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวบรูไน (Brunei Tourism Board) ขึ้นเมื่อปลายปี 2560 เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

แม้บรูไนจะมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นภาคเศรษฐกิจที่ทำเม็ดเงินให้ประเทศ แต่การท่องเที่ยวก็คือ การเปิดรับผู้คนจากประเทศต่างๆ เข้ามา ดังนั้นกฎระเบียบและความเข้มงวดทางศาสนาอันเป็นที่เลื่องลือจะกลายเป็นความท้าทายต่อภาคการท่องเที่ยวมากน้อยอย่างไรจึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไป

โดย...

สรพงษ์ ลัดสวน

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch ฝ่าย 1 สกว.