หุ้นตกทั่วโลกส่งสัญญาณอะไร

หุ้นตกทั่วโลกส่งสัญญาณอะไร

สัปดาห์ที่แล้ว เริ่มวันจันทร์ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลดรุนแรง ลดลงวันเดียว 1175 จุด จากนั้น ก็ลดลงต่อเนื่องในวันอังคาร ก่อนจะเริ่มกลับตัวในวันพุธ

แต่ก็กลับมาตกอีกในช่วงปลายสัปดาห์ ลดลง 1000 จุด ในวันพฤหัสบดี

ทั้งหมดส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดและผันผวนตาม ทั้งยุโรป เอเชียและลาตินอเมริกา 

ปกติแล้ว ตลาดหุ้นก็จะมีขึ้นและมีลง แต่คราวนี้ การปรับตัวเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะค่อนข้างรุนแรง เกิดพร้อมกันทั่วโลก ในดีกรีความผันผวนที่มาก และกระจายตัวในทุกอุตสาหกรรม 

คำถามคือ การปรับตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกในลักษณะที่เกิดขึ้นส่งสัญญาณอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเสถียรภาพของตลาดการเงินในระยะข้างหน้า นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ในบริบทของตลาดการเงินโลกที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้น การปรับตัวรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้น จะไม่ใช่การปรับตัวปกติ แต่เป็นเพราะมีปัจจัยที่เป็นตัวสร้างสถานการณ์คือ มีปัจจัย trigger ที่ทำให้นักลงทุนเปลี่ยนการตัดสินใจพร้อมๆกันในการลงทุน จากซื้อมาเป็นขายหุ้น ตลาดจึงตกแรง 

เท่าที่ติดตามความเห็นของนักวิเคราะห์ในตลาด ตัว trigger คราวนี้น่าจะมีอยู่ 3 ตัวคือ 

1. อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทำให้มีความกังวลว่าจะนำมาสู่นโยบายการเงินที่จะเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะต่อไปปรับลดลง 

2. การขายทำกำไรของนักลงทุนจากที่นักลงทุนได้ลงทุนแบบไม่ได้ระมัดระวังมานาน เพราะตลาดเป็นขาขึ้น จึงรีบทำกำไรก่อนที่ราคาหุ้นจะปรับลดลงจากนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้น 

3. ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐที่มีมากขึ้น จากปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณและข้อมูลที่ได้ถูกเปิดเผยออกมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานรัสเซียในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่อาจกระทบความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีทรัมป์ และการดำรงตำแหน่งของเขา 

อิทธิพลของทั้ 3 ปัจจัยนี้ทำให้ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินมีสูงขึ้น นักลงทุนจึงเริ่มเทขายหุ้นเพื่อปรับลดพอร์ต มีการเทขายตาม สร้างให้เกิดความวิตกกังวล จนกลายเป็นโมเมนตัมของการขายทิ้งหุ้นต่อเนื่อง

ถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นคล้ายๆ กันในอดีต ปรากฏการณ์เช่นนี้มักมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต กล่าวคือ การปรับตัวของตลาดในระดับความรุนแรงอย่างที่เห็น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการเปลี่ยน sentiment หรือความรู้สึกของนักลงทุนเกี่ยวกับภาพ หรือ Outlook ของราคาหุ้นหรือราคาสินทรัพย์ในอนาคต 

จาก sentiment ที่เคยมองโลกในแง่บวก (optimistic) ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวดีขึ้น มาเป็นการมองในแง่ลบ (pessimistic) ทำให้ความกล้าที่จะถือความเสี่ยงหรือลงทุนต่อลดลง เปลี่ยนเป็นการขายหุ้นเพื่อบริหารความเสี่ยง สร้างความไม่มั่นใจให้นักลงทุนอื่นๆให้ขายทิ้งตาม จนกลายเป็นโมเมนตัมในตลาดการเงินโลกอย่างที่เห็น

ปกติ ปัจจัยที่สามารถเข้ามากระทบความรู้สึกของนักลงทุนจนสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจของนักลงทุนได้ จากซื้อเป็นขายหุ้น ก็คือ นโยบายการเงินหรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะมีผลโดยตรงต่อตลาดหุ้น 

สำหรับในกรณีที่เกิดขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่างๆ ที่ออกมาล่าสุดล้วนเป็นข่าวดี อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้การผลิตต้องขยายตัว การจ้างงานต้องเพิ่มขึ้น กดดันให้อัตราค่าจ้างแรงงานปรับสูงขึ้น 

ขณะเดียวกัน การปฏิรูปภาษีของรัฐบาลสหรัฐที่จะลดภาษีมากขึ้นก็เป็นปัจจัยบวก ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้มากขึ้นต่อไปอีก ทำให้ทั้งอัตราค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นในอนาคต 

ดังนั้น ความท้าทายต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงจากนี้ไปจะไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่เป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตกหรือเติบโตอย่างขาดเสถียรภาพ

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงมองว่าธนาคารกลางสหรัฐคงต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ทันการเติบโตของเศรษฐกิจ และการปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้ดูเหมือนกำลังเร่งตัวไปล่วงหน้า ซึ่งหมายถึง จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้เดิม ซึ่งจะกระทบราคาสินทรัพย์ในอนาคต 

การวิเคราะห์ดังกล่าวทำให้ sentiment ของนักลงทุนเริ่มเปลี่ยน จากการลงทุนซื้อหุ้นเพื่อทำกำไรในอนาคต มาเป็นการปรับลดพอร์ตการลงทุนก่อนอัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้น และนำมาสู่การเทขายหุ้นอย่างที่เห็น ซึ่งเกิดขึ้นในทุกตลาด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงพร้อมกัน 

สิ่งที่ต้องตระหนัก ก็คือ ราคาหุ้นได้ปรับลดลงมากและเร็ว จนอาจทำให้ราคาหุ้นเริ่มขาดทิศทาง และเมื่อตลาดขาดทิศทาง การปรับลดก็มักจะชะงัก จะเริ่มมีการกลับมาช้อนซื้อ ซึ่งจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกได้

ถ้าจะถามว่า การปรับลดของตลาดหุ้นทั่วโลกที่เกิดขึ้นสัปดาห์ที่แล้วให้สัญญาณอะไรบ้างต่อเราในฐานะนักลงทุนเกี่ยวกับอนาคตของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจจากนี้ไป คำตอบของผมก็คือ เราได้สัญญาณที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น

1. ชัดเจนว่าระดับราคาในตลาดหุ้นทั่วโลกขณะนี้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน คือ มี overvaluation หรือราคาแพงเกินไป ทำให้ราคาหุ้นจึงอ่อนไหวง่ายต่อปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบความรู้สึกของนักลงทุน หมายถึงตลาดหุ้นขณะนี้ เป็นเหมือนตลาดแบบฟองสบู่ ที่ราคาหุ้นจะสามารถปรับลดลงได้ง่าย

2. อัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะปรับสูงขึ้นแน่นอน เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะกดดันให้ตลาดหุ้นเป็นขาลงจากนี้ไป 

ประเด็นสำคัญที่ได้จากเหตุการณ์สัปดาห์ที่แล้วก็คือ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะมีผลมากและกว้างขวางต่อราคาหุ้นและราคาสินทรัพย์ทั่วโลก เพราะเพียงแต่คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาด ตลาดก็ปรับตัวลดลงรุนแรง

3. ภาวะที่ตลาดปรับตัวรุนแรงอย่างที่เห็นสัปดาห์ที่แล้วคงจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจเกิดขึ้นทุกครั้งที่นักลงทุนคาดว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเร็ว หรือมีขนาดมากกว่าที่คาด นำมาสู่ความผันผวนในตลาดการเงินโลก ที่จะมีมากขึ้นเป็นระลอกๆ จากนี้ไป จนกว่าราคาหุ้นจะปรับลดลงมาสู่ระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ 

พูดง่ายๆ ก็คือ การปรับลดในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกของการปรับลดอีกหลายๆ ครั้งที่จะเกิดในปีนี้

ด้วยเหตุนี้ ภาระหนักจึงจะตกอยู่ที่ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางทั่วโลกที่จะต้องดูแลการเปลี่ยนทิศทางของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ย

จากขาลงที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นขาขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และลดผลกระทบที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ (ไม่รวมสถาบันการเงิน) และครัวเรือนทั่วโลกที่มียอดหนี้คงค้างรวมกันมากกว่า 112 ล้านล้านดอลลาร์ 

ถือเป็นโจทย์ด้านนโยบายที่ท้าทายต่อธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะต่อผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนนี้