จ่ายไม่ครบก็จบได้

จ่ายไม่ครบก็จบได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมอ้างถึงปัจจัยที่ทำให้มองได้ว่าระบบการศึกษาของสหรัฐและของไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ในช่วงนี้มีรายงานต่อเนื่องกันหลายวัน

ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เกี่ยวกับปัญหาในระบบการศึกษาพื้นฐานของกรุงวอชิงตันพร้อมกับมีการอ้างถึงท้องถิ่นอื่นบางแห่ง

คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่า การจัดการศึกษาพื้นฐานจากชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมในสหรัฐเป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น ในกรณีของกรุงวอชิงตัน เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบโดยจัดให้อยู่ในกรอบและมาตรฐานกว้างๆ ที่รัฐบาลกลางวางไว้  

รัฐบาลท้องถิ่นโดยทั่วไปจัดการศึกษาในรูปของชั้นอนุบาล ตามด้วยชั้นประถม 6 ปี ชั้นก่อนมัธยม 2 ปี และชั้นมัธยม 4 ปี ตามปกติเด็กอเมริกันเรียนจบชั้นมัธยมเมื่ออายุ 18 ปี การศึกษาพื้นฐานของเขากับของไทยจึงคล้ายกันแม้ผู้จัดจะต่างกันก็ตาม

รายงานในวอชิงตันโพสต์เริ่มด้วยเรื่องของอดีตครูผู้สอนคณิตศาสตร์ปีสุดท้ายในชั้นมัธยมคนหนึ่งซึ่งลาออกไปแล้ว 

ครูเล่าว่าปัญหาหนักอกที่สุดของเขาคือ เด็กจำนวนมากได้รับการเลื่อนชั้นจนถึงปีสุดท้ายโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์เบื้องต้นเพียงพอ จำนวนหนึ่งจึงไม่สามารถเรียนเนื้อหาของวิชาในหลักสูตรปีสุดท้ายได้ แม้เขาจะพยายามช่วยเหลือเป็นพิเศษก็ตาม ฉะนั้น ครูจะต้องให้เด็กเหล่านี้สอบตกและเรียนไม่จบ  

แต่เขาถูกกดดันอย่างหนักจากฝ่ายบริหารมิให้ทำเช่นนั้นเพราะผู้บริหารถูกกดดันจากฝ่ายเทศบาลผู้ตั้งเป้าว่าเด็กต้องเรียนจบในอัตราสูง

เมื่อปีที่ผ่านมา สื่อนำเรื่องการให้เด็กเรียนจบทั้งที่ไม่มีผลการเรียนตรงตามเกณฑ์ของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งมารายงาน เรื่องนั้นมีผลทำให้สำนักงานผู้ตรวจการศึกษาของกรุงวอชิงตันจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้าไปตรวจดูว่าปัญหาเกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนั้นแห่งเดียว หรือเกิดขึ้นในระบบการศึกษาทั้งหมด 

ผลปรากฏว่าเมื่อปลายเดือนที่แล้ว สำนักผู้ตรวจการศึกษาได้รับรายงานที่สรุปว่า โรงเรียนที่เทศบาลดำเนินการทั้งหมดมีปัญหาเช่นเดียวกัน

ข้อมูลบ่งว่า ราว 1 ใน 3 ของเด็กที่ได้รับประกาศนียบัตรของการเรียนจบชั้นมัธยมเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมาขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ ปัญหาร้ายแรงที่สุดเป็นของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งซึ่ง 70% ของเด็กที่ได้รับประกาศนียบัตรไปไม่มีคุณสมบัติครบ

เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวชี้บ่งว่ารากเหง้าของปัญหาจะต้องมาจากการสร้างข้อมูลเท็จของครูและผู้บริหาร จึงมีรายงานอีก 3 วันต่อมาว่า 3 ฝ่ายได้ร่วมกันเข้าไปขุดค้นหาต้นตอที่แท้จริงแล้วคือ สำนักงานผู้ตรวจการศึกษาของกรุงวอชิงตัน สำนักงานผู้ตรวจการศึกษาของรัฐบาลกลางและสำนักงานสืบสวนกลาง (เอฟบีไอ)  

การเข้าไปร่วมงานของเอฟบีไอบ่งชี้ถึงการสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ต้นตอของปัญหาน่าจะเป็นอาชญากรรมขั้นร้ายแรง แม้เรื่องการสร้างข้อมูลเท็จทำนองนี้ดูจะไม่น่าเชื่อว่ามีเกิดขึ้น แต่มันเคยเกิดขึ้นแล้วในหลายท้องถิ่น

เมื่อ ปีที่ผ่านมา ครูและผู้บริหารการศึกษาของกรุงแอตแลนตาหลายคนถูกจับได้ว่าร่วมหัวกันสร้างข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเรียนการสอบและถูกศาลตัดสินจำคุก บางคนถูกจำคุกถึง 7 ปี

เรื่องนี้มีการวิพากษ์จากหลายมุมมองทยอยออกมาทางสื่ออย่างต่อเนื่อง แต่เท่าที่ผ่านมา ยังไม่ใครเท้าความไปถึงสภาพสังคมในกรุงวอชิงตันว่าเป็นต้นตอของปัญหาพื้นฐานที่แสดงอาการออกมาทางระบบการศึกษา  

ในกรุงวอชิงตันมีแหล่งเสื่อมโทรม และชาวอเมริกันผิวสีอาศัยอยู่ในอัตราสูง มีความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง มีปัญหาเรื่องครอบครัวแตกแยกและยาเสพติดสูง และมีความฉ้อฉลสูงเช่นเดียวกับในกรุงแอตแลนตา สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้การศึกษาล้มเหลวมานาน  

เมื่อการปฏิรูปการศึกษานำอัตราการเรียนจบของเด็กมาใช้ประเมินครูและผู้บริหารโรงเรียน ครูและผู้บริหารส่วนหนึ่งจึงตอบสนองความกดดันด้วยการร่วมกันสร้างข้อมูลเท็จ

แม้ปัญหาจะสลับซับซ้อนมากจนดูยากเกินแก้ไข แต่เขตหนึ่งในกรุงแอตแลนตาชื่อ “อีสต์เลค” หาทางออกสำเร็จมานานแล้ว นั่นคือ ภาคเอกชนและรัฐบาลร่วมมือกันลงทุนรื้อฟื้นพื้นที่จากสภาพเสื่อมโทรม ให้กลับมาเป็นถิ่นน่าอยู่ พร้อมกับการปฏิรูปการศึกษา 

ตัวอย่างนี้ชี้ว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องทำพร้อมกับการปรับเปลี่ยนสภาพสังคมซึ่งเอกชนที่มีทุนต้องร่วมเสียสละ เมืองไทยอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ได้เมื่อฝ่ายรัฐและภาคเอกชนพร้อมใจกัน