มุมมองผู้ทายตลาดหุ้นสหรัฐ 2018 ได้เป๊ะสุด

มุมมองผู้ทายตลาดหุ้นสหรัฐ 2018 ได้เป๊ะสุด

ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามตลาดหุ้นสหรัฐอย่างค่อนข้างใกล้ชิด พบว่ามีน้อยคนมากที่สามารถอ่านและคาดการณ์ Timing ของตลาดหุ้นสหรัฐในรอบนี้ได้ถูกต้อง

เนื่องจากดัชนีดาวน์โจนส์ (DJIA) ถือว่าเป็นสนามปราบเซียน ทะยานขึ้นไปครั้งแล้วครั้งเล่า 

แม้ในทางการวิเคราะห์เทคนิค จะวิเคราะห์ว่าขึ้นมาแบบร้อนแรงเกินไปเป็นเวลามากว่า 1 ปีมาแล้ว ทว่ามีกูรูท่านหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ในรอบนี้ สามารถคาดการณ์จังหวะของตลาดหุ้นสหรัฐได้ถูกต้องชนิดเกือบ 100% เขาผู้นั้น มีนามว่า ดร.เจเรมี ซีเกล ศาสตราจารย์ด้านการเงิน ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

ว่ากันตามตรง ผมไม่ใช่แฟนคลับของซีเกล หนังสือการลงทุนของเขาที่ออกมาในช่วงผมเรียนปริญญาโท ก็ไม่รู้สึกว่าจะโดนสักเท่าไหร่ 

แต่มาในวันนี้ ผมขอยอมรับกึ๋นและฝีมือของอาจารย์แห่งวอร์ตันท่านนี้อย่างไม่มีข้อสงสัย แม้แต่กูรูจากวอลสตรีททั้งหลายก็อ่านตลาดหุ้นสหรัฐในรอบนี้ไม่ขาดเหมือนซีเกล 

เขาคาดการณ์ว่า DJIA จะมี Correction ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2018 หลังจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ของสหรัฐจะวิ่งขึ้นมาสู่ 26,000 จุดแบบชิวๆ ในช่วงต้นปีนี้ 

ซีเกลให้มุมมองของตลาดหุ้นและเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2018 ไว้ดังนี้

1. ปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรกำหนดตลาดหุ้นสหรัฐปี 2018 ได้แก่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด และ ความท้าทายทางการเมืองภายในสหรัฐระหว่าง 2 พรรคใหญ่ โดยที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์จะต้องเผชิญหน้าอย่างรุนแรงขึ้นกับการโหวตของสมาชิกสภาคองเกรสในการผ่านงบประมาณในปีนี้ 

การต่อรองระหว่างการเพิ่มงบประมาณทางทหารกับการผ่านนโยบาย DACA (the Deferred Action for Childhood Arrivals immigration policy) ของทั้ง 2 พรรคใหญ่จะเกิดขึ้น

ซีเกลคาดว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2018 ทั้งปี น่าจะอยู่ที่ 0-10%

2. ประธานเฟดท่านใหม่ถอดด้าม เจอโรม พาวเวล คือ จุดอ่อน เนื่องจากเขามองว่าอ่อนเกินไปด้านวิชาเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นประธานเฟดท่านแรกนับตั้งแต่วิลเลียม มิลเลอร์ในยุค 70 โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่ต้องเผชิญกับความกดดันเมื่อต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ประธานาธิบดี ทรัมป์ จะต้องหาทางกำจัดจุดอ่อนนี้ ด้วยการหารองประธานเฟดที่เขี้ยวรากดินด้านเศรษฐศาสตร์มาคอยประกบให้คำปรึกษา

3. เขาไม่กังวลประเด็นว่าอัตราการว่างงานที่ต่ำแล้วเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นระดับผลิตภาพหรือ Productivity ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์จากการประเมินของโรเบิร์ต กอร์ดอน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าจ้างของแรงงานสหรัฐยังนิ่งๆ มานาน แม้อัตราการว่างงานจะลดลงมาอย่างมากและต่อเนื่องต่างหาก ที่เป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากว่าค่าแรงที่ขึ้นมาแล้วจะไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่ม ก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อโดยที่ไม่สามารถดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ

4. ซีเกลยังประเมินว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงไว้ ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการว่างงานของสหรัฐลงมาจนถึง 4% แล้วจะหาแรงงานจากไหนมาสร้างโครงการใหญ่ๆ ซึ่งตรงที่มีแต่อุปสงค์แต่ขาดอุปทานนี้จากการที่แรงงานหายาก ก็เป็นจุดที่เสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อจะไหลต่อไปไม่หยุดในอนาคต

5. การกลับจากเศรษฐกิจแบบภาวะ New Normal สู่เศรษฐกิจแบบภาวะ Normal Economy ดั้งเดิมที่เศรษฐกิจเคยมีอัตราดอกเบี้ย 3% ใน 1-2 ปีต่อไปนี้ ซึ่งจะทำให้ค่า P/E ของตลาดหุ้นสหรัฐที่ราว 20 เท่าน่าจะยืนได้ไม่ยาก ผนวกกับนโยบายการลดภาษีของทรัมป์ที่จะช่วยให้งบการเงินของบริษัทในวอลสตรีทสามารถออกมามีผลกำไรที่ดูดีได้

ท้ายสุด ซีเกลได้ให้คำแนะนำการลงทุนว่าหากคุณซื้อหุ้นสหรัฐ รอบนี้ได้ถูกกว่าราคาปิดเมื่อวันอังคารที่ 6 .. 2018 ที่ผ่านมาสัก 500 จุด ในเดือนก..ปีหน้า คุณก็จะกลับมาบอกกับตัวเองว่าทำไมซื้อได้ที่ราคาถูกจังในวันนี้เมื่อปีก่อน