ทุ่งใหญ่ บริษัทก็ใหญ่ เรื่องจึงใหญ่

ทุ่งใหญ่ บริษัทก็ใหญ่ เรื่องจึงใหญ่

ทุ่งใหญ่ บริษัทก็ใหญ่ เรื่องจึงใหญ่

สังคมกำลังสนใจประเด็นธรรมาภิบาลว่า ถ้าซีอีโอของบริษัทไปทำอะไรที่ผิดจริยธรรม แล้วผลต่อบริษัทน่าจะเป็นเช่นใด

ตลาดหลักทรัพย์ฯ แถลงว่ากรณีซีอีโอ ออกป่าล่าสัตว์ ในขณะนี้ยังไม่เข้าข่ายประพฤติผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ แต่ในทางธรรมาภิบาล คิดว่า ไอโอดี ซึ่งทำหน้าที่จัดอันดับธรรมาภิบาล ควรรับไปดำเนินการ ซึ่งไอโอดี ก็แถลงว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป

ผมเลยอยากนำเสนอ เรื่องราวการประพฤติที่ไม่ถูกจริยธรรม ของซีอีโอ ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ว่ามันเกิดขึ้นกี่รูปแบบ และผลที่ตามมาคืออะไร ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยที่เป็นกิจลักษณะ เชื่อถือได้ โดยนักวิจัย 2 คน ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยระดับโลก

เรารู้กันอยู่ว่า ซีอีโอ ของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ ที่ไปทำอะไรไม่เหมาะสม ไม่อยู่ในกรอบจริยธรรมนั้น เป็นข่าวตลอดมา นักวิจัยทั้ง 2 คนจึงรวบรวมกรณีเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2,000-2015  ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่จะนำมาวิเคราะห์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปรากฏว่ารวบรวมได้มากถึง 38 กรณี ที่เป็นข่าวอย่างกว้างขวาง แบ่งเป็นพฤติกรรมของ ซีอีโอ ที่ผิดจริยธรรมประเภทต่างๆ ดังนี้

34% โกหกบอร์ดหรือผู้ถือหุ้น เกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตัว เช่นเมาแล้วขับ ปลอมเอกสารสำคัญ ประวัติการทำความผิดในอดีต ฯลฯ

21% แอบมีความสัมพันธ์ทางเพศ กับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษา ฯลฯ

16% ใช้เงินของบริษัทแบบน่ากังขา แม้จะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม

16% พฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่เหมาะสม หรือ สื่อสารด้วยภาษาที่ก้าวร้าว

13% สื่อสารในที่สาธารณะ ซึ่งมีผลกระทบต่อลูกค้า หรือกลุ่มต่างๆในสังคม

คำถามก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น หลังจากนั้นเกิดอะไรตามมา คำถามนี้ ช่างตรงกับคำถามของสังคมไทยในช่วงเวลานี้ อย่างยิ่ง

ก็ไม่ให้ต้องลุ้นให้เสียเวลา ผมตอบเลยครับว่า นักวิจัยทั้งสองคน ได้บทสรุปมา 5 ข้อ ดังนี้

  1. พฤติกรรมดังกล่าว จะไม่จางหายไปจากความทรงจำง่ายๆ โดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นข่าว 250 ครั้ง และเมื่อผ่านไป 5 ปี ก็ยังมีข่าวปรากฎให้เห็น
  2. นักลงทุน ไม่ได้ตอบสนองข่าวลบ ในทางลบเสมอไป โดยรวมแล้ว ราคาหุ้นจะร่วงลงบ้างในช่วง 3 วันแรกที่เป็นข่าว แต่ก็มีถึง 11 กรณี จากทั้งหมด 38 กรณี ที่ราคาหุ้นกลับสูงขึ้นหลังเป็นข่าว ซึ่งแสดงว่าพฤติกรรมผิดจริยธรรมของซีอีโอ กับราคาหุ้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรงเสมอไป
  3. บริษัทส่วนใหญ่ มิได้เฉยเมยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัท 84% ส่งเอกสารชี้แจงข่าว และ 71% โฆษกของบริษัทออกชี้แจงสื่อมวลชนโดยตรง ในขณะที่บอร์ด มักไม่ได้ออกมาแสดงตนมากนัก มีเพียง 37% เท่านั้น ที่บอร์ดออกมาให้ความเห็นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  4. บทลงโทษ ซีอีโอ มีหลากหลายรูปแบบ 58% จบลงที่การเลิกจ้าง และที่ชัดเจนว่าให้ออกทุกกรณี ก็คือเมื่อซีอีโอ ทำความผิดเรื่องการใช้เงินของบริษัทในทางที่ผิด ส่วนอีก 32% เป็นการลงโทษที่หลากหลาย เช่นลดโบนัส ให้ออกจากบอร์ด ให้ลดการดำรงตำแหน่งบอร์ดในบริษัทอื่น เป็นต้น
  5. พฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมของซีอีโอ มักขยายผลกว้างไกล เช่นบริษัทต้องสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ ถูกตรวจสอบเพิ่มเติมโดยหน่วยงานของรัฐ ถูกฟ้องร้องโดยผู้ถือหุ้น และบางกรณี ถึงกับนำไปสู่การล้มละลาย เป็นต้น

ที่น่าสังเกตก็คือ ซีอีโอ ที่ผิดจริยธรรมและต้องลาออก หลายคนมีบริษัทอื่นเสนอตำแหน่งให้ทันที พร้อมให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีอีโอ ที่มีผลงานโดดเด่น

เช่น นายมาร์ค เฮิร์ด อดีตซีอีโอของฮิวเล็ต แพคการ์ด ซึ่งจ้างสาวสวย เซ็กซี่ อดีตนักแสดงภาพยนตร์วับๆแวมๆ มาเป็นพรีเซนเตอร์ของบริษัท และหลังจากนั้น ก็ไปมีความสัมพันธ์ด้วย และใช้เงินของบริษัทเลี้ยงดูเธออย่างดี เมื่อบอร์ดกดดันให้ลาออก ปรากฏว่า บริษัท ออราเคิล เสนองานให้เขาทันที

นายมาร์ค เฮิร์ด ไปอยู่ที่ ออราเคิล ก็ขับเคลื่อนจนราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัท Equilar ได้จัดอันดับให้ มาร์ค เฮิร์ด เป็นซีอีโอ กลุ่มบริษัทไฮเทค ที่ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุดในประเทศ เขามีรายได้ต่อปีสูงถึง 41.10 ล้านเหรียญ หรือ 1,300 ล้านบาท      

สรุปแล้ว สังคมมนุษย์ไม่ว่าที่ไหน ก็ยังคงให้ความสำคัญกับผลงาน และ ผลตอบแทน  มากกว่ามาตรฐานจริยธรรมอยู่ดี น่าเศร้าใจไม่น้อยเลย

สำหรับกรณีซีอีโอเข้าป่าล่าสัตว์ บอร์ดและฝ่ายบริหารคงกำลังตั้งหลักว่าจะแถลงอย่างไร ส่วนราคาหุ้นของบริษัท วันแรกที่เป็นข่าว ร่วงลงไป 3.63  % แต่ก็บังเอิญว่าวันนั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงอย่างหนักพอดี จึงแยกลำบากว่าเป็นเหตุมาจากกรณีล่าสัตว์หรือไม่ เพราะหุ้นอื่นในกลุ่มก่อสร้าง ก็ร่วงลงแถวๆ 3% เช่นกัน แต่ที่น่าสังเกตก็คือ วันนั้นมูลค่าการซื้อขายหุ้นของบริษัท สูงกว่าวันที่ผ่านมาถึง 4 เท่า

วันรุ่งขึ้น ราคาหุ้นยืนอยู่ได้เท่าเดิม และเมื่อวานนี้ 1 ชั่วโมงก่อนตลาดปิด ราคาหุ้นลดลงไปอีกประมาณ 1.08% ซึ่งก็คงพอเห็นภาพว่า ครบ 3 วันหลังเป็นข่าว ราคาหุ้นได้ลดลงไป แต่อาจเป็นเพราะภาวะตลาดก็ได้

กรณีเข้าป่าล่าสัตว์ครั้งนี้ หลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาแสดง มีมากทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมว่า ซีอีโอ กระทำผิดกฎหมายจริงหรือไม่ ส่วนประเด็นจริยธรรมและธรรมาภิบาล คงไม่ต้องรอกระบวนการทางกฎหมาย และบอร์ดของบริษัท น่าจะแถลงอะไรออกมาในเวลาอีกไม่นานนัก

ถ้ากลับไปดู 5 กลุ่มพฤติกรรมผิดจริยธรรม ที่ระบุไว้ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด กรณีนี้น่าจะตกอยู่ในกลุ่ม 16% รองสุดท้าย คือ พฤติกรรมส่วนตัวไม่เหมาะสม ส่วนผลที่ตามมา 5 ข้อ จะเป็นไปตามงานวิจัยหรือไม่ ก็คงต้องใช้เวลารอดูกันต่อไป

แต่ผมคิดว่าผลข้อแรกนั้นคงจะเกิดขึ้นแน่นอน คือพฤติกรรมครั้งนี้จะไม่จางหายไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคมง่ายๆ และน่าจะเกินกว่า 5 ปี ตามผลการวิจัยด้วยซ้ำไป เพราะเรื่องนี้ ใหญ่จริงๆ

บริษัทก็ใหญ่ ซีอีโอก็ใหญ่ ข้อกล่าวหาก็ใหญ่ แถมสถานที่เกิดเหตุยังชื่อว่า ทุ่งใหญ่

มันจึงเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของทุ่งใหญ่นเรศวร

และประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของธรรมาภิบาลไทยเลยทีเดียว