ข้อคิดจากประวัติศาสตร์ การพัฒนานวัตกรรม

ข้อคิดจากประวัติศาสตร์ การพัฒนานวัตกรรม

แม้ว่าคำว่า “นวัตกรรม” จะเป็นอีก 1 คำที่อยู่ในประเภทของ “คำหรู” ที่ผู้บริหารทุกคนอยากนำมาใช้

เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน มีแนวโน้มที่จะพัฒนาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นภาพลักษณ์ของการทำธุรกิจสมัยใหม่

แต่เบื้องหลังของการใช้คำว่า “นวัตกรรม” มักจะเป็นไม่ค่อยเป็นรูปธรรมนักที่จะแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจมีวิธีการอย่างไรในการแสวงหา สร้างสรรค์ และประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด และสร้างยอดขายหรือการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริง

ในการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จในอดีต อาจทำให้เราสามารถเข้าใจกลไกและกระบวนการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นกับธุรกิจได้

เพราะว่า ประวัติศาสตร์ย่อมจะซ้ำรอยได้เสมอ!!

ส่วนใหญ่แล้ว นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ในอดีตที่สามารถสร้างผลกระทบหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในระดับโลก จนทำให้วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มักจะมีที่มาจากแนวคิดหลักๆ เพียง 2 แนวทาง

แนวทางแรก ได้แก่ การนำองค์ความรู้ทางวิทยาการใหม่ๆ มาพัฒนาเป็นเทคโนโลยี และนำผลการทำงานของเทคโนโลยีนั้นๆ มาฝังตัวเข้าไปในผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างความแปลกใหม่ หรือประโยชน์ใช้สอยเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ 

ตัวอย่างง่ายๆ ล่าสุดจากการศึกษาประวัติศาสตร์นวัตกรรมก็คือ การนำเสนอนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลทั่วไปได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้สมาร์ทโฟน ผ่านเทคโนโลยีเบื้องหลังคือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นต้น ที่อิงฐานความรู้จากวิทยาศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ เครือข่ายเวิล์ดไวด์เว็ป ที่ค้นพบกันเป็นเวลานานไม่น้อยมาก่อนหน้าแล้ว

หรือนวัตกรรมยานยนต์เพื่อการเดินทางทางถนน เช่น รถยนต์ นอกจากนวัตกรรมหลักในด้านการพัฒนาเครื่องยนต์แล้ว สิ่งที่ทำให้รถยนต์กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญ และเปลียนวิถีการเดินทางของมนุษย์ให้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอนวัตกรรมยางล้อรถยนต์ ที่ทำให้การเคลื่อนที่ของรถยนต์มีความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าสภาพถนนจะเป็นอย่างไร

นวัตกรรมยางล้อรถยนต์ในจุดที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการค้นพบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เคมี ที่สามารถทำให้ยางธรรมชาติที่มีความเหนอะหนะ ยืดตัว เมื่อเกิดความร้อน มีความคงตัวที่ดีแม้จะได้รับความร้อนสูงเพื่อให้สามารถนำคุณสมบัติของการดูดซับความสั่นสะเทือนที่เป็นธรรมชาติของยางมาใช้งานได้อย่างเต็มที่

แนวทางที่ เป็นการนำเอาความต้องการหรือความอยากได้ของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับความพึงพอใจจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอต่อตลาดในช่วงเวลานั้นๆ มาเป็นโจทย์เพื่อนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคได้ดีขึ้น มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรมขึ้นมา

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวอีกเช่นกัน ได้แก่การเกิดขึ้นของ บะหมี่สำเร็จรูป ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นของศตวรรษที่ผ่านมา และสร้างประโยชน์ทางด้านโภชนาการและตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ในสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

มีแนวคิดและที่มาเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในญี่ปุ่นช่วงหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกใหม่ๆ จนกลายมาเป็นแหล่งอาหารราคาย่อมเยาที่แพร่กระจายการยอมรับไปได้แทบในทุกประเทศทั่วโลก และยังมีการพัฒนาต่อยอดให้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นอีกอย่างไม่สิ้นสุด

ความต้องการที่ผลักดันให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมขึ้น อาจไม่ได้มาจากความต้องการในด้านการตลาดหรือการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว หลายๆ นวัตกรรม ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการทหาร เช่น นวัตกรรมที่เกิดขึ้นสำหรับชุดป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อนักดับเพลิง เป็นต้น

ที่มาของนวัตกรรมทั้ง 2 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีใหม่ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของความต้องการในสิ่งที่ยังขาดหายไป ถือได้ว่าเป็นกระบวนการในการสร้างนวัตกรรมที่ยอมรับโดยนักวิชาการด้านนวัตกรรม จนถือได้ว่าเป็นทฤษฏีหลักหนึ่งในวิชาการด้านการสังเคราะห์นวัตกรรม และยังได้รับการศึกษาต่อเนื่องเพื่อให้ทฤษฎีหลักนี้สามารถอธิบายและทำนายพฤติกรรมการคิดค้นนวัตกรรมได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุด ขอขอบคุณ สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้เกียรติผู้เขียนได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรพิเศษในการวิพากษ์ผลงานค้นคว้าอิสระของนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในวิชา การสังเคราะห์นวัตกรรมหัวข้อ ประวัติศาสตร์นวัตกรรม (History of Innovation)” ซึ่งเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้