หรือโลกดิจิทัลกำลังทำให้ นักการทูตตกงานอีกอาชีพหนึ่ง

หรือโลกดิจิทัลกำลังทำให้ นักการทูตตกงานอีกอาชีพหนึ่ง

อีกหน่อย นักการทูตจะต้องตกงานกันด้วยหรือเปล่า

นี่เป็นคำถามจากนักวิเคราะห์การเมืองของเกาหลีใต้ เมื่อสหรัฐไม่ตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงโซลมากว่าหนึ่งปี

หรือโลกดิจิทัลกำลังทำให้ นักการทูตตกงานอีกอาชีพหนึ่ง

ล่าสุด นักการทูตมะกันเชื้อสายเกาหลีชื่อ Victor Cha ประกาศไม่รับตำแหน่งนี้ แม้จะถูกนำเสนอ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทำเนียบขาว ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมจะเดินหน้านโยบาย Bloody Nose ต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาบอกว่าอันตรายมาก

แผน Bloody Nose ที่ว่านี้แปลตรงตัวคือ “จมูกเลือดไหล” ซึ่งหมายถึงการโจมตีเกาหลีเหนือแบบ “เฉพาะเจาะจง” เพียงเพื่อให้บาดเจ็บเฉพาะที่จมูก ไม่ถึงกับถล่มทลายเกาหลีเหนือทั้งประเทศ หรือที่เรียกในภาษาทหารว่า surgical strike

ถ้าถามกระทรวงกลาโหมมะกัน หรือทำเนียบขาวตรงๆ ว่ามีแผนอย่างว่านี้หรือ ก็จะได้รับคำตอบว่าไม่มี เป็นการคาดเดาของนักวิจารณ์ทั้งนั้น

แต่ต้องไม่ลืมว่าทรัมป์เคยประกาศว่า All options are on the table อันแปลว่า ทุกแผนทุกยุทธการล้วนพร้อมจะเอามาใช้ได้ทั้งนั้น ซึ่งก็คือการยืนยันว่า แนวทางการถล่มโสมแดงก่อนที่คิมจองอึนจะสั่งโจมตีอเมริกาด้วยอาวุธร้ายแรงนั้น เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในแผนใหญ่ของอเมริกา

แต่นักการทูตที่ชื่อ วิคเตอร์ ชา คนนี้บอกว่า เขาเห็นว่าแผนนี้อันตรายมาก หากทำจริงจะนำไปสู่ความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อสหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อีกทั้งหากสหรัฐโจมตีเกาหลีเหนือทางทหารจริง ไม่ว่าจะเป็นการถล่ม “เฉพาะจุด” หรือเป็นการโจมตีแบบกินเนื้อที่กว้างขวางก็ล้วนน่ากลัว

เพราะเมื่อกดปุ่มเปิดศึกกันแล้ว ทุกอย่างจะอยู่นอกการควบคุมหมด ไม่ว่าทรัมป์หรือคิมก็อาจไม่อยู่ในฐานะที่จะสั่งยุติการสู้รบได้

เมื่อเกิดเรื่องนี้ ก็เกิดคำถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับกรุงโซลกำลังเข้าสู่โหมดแห่งความตึงเครียดใช่หรือไม่

คำตอบก็คือว่าแท้จริงแล้ว แม้สหรัฐจะไม่มีเอกอัครราชทูตประจำเกาหลีใต้มาระยะหนึ่ง ให้เบอร์สองรักษาการแทน ประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีมูน แจ อินของเกาหลีใต้ ก็ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกันเป็นประจำ และดูเหมือนจะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้นด้วยซ้ำ

จึงเป็นที่มาของคำถามว่า แล้วมีความจำเป็นจะต้องมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเกาหลีใต้ไหม

คำถามอีกอย่างก็คือในเมื่อเทคโนโลยีทำให้ผู้นำประเทศต่างๆ สามารถจะพูดคุยกันได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์ หรือ apps ต่าง ๆ บทบาทจริง ๆ ของนักการทูตจะเปลี่ยนไปเช่นไร

ถามกันถึงขั้นว่าแล้วจำเป็นต้องมีทูตอีกหรือไม่

หรือถ้าหากยังต้องมี บทบาทของนักการทูตใน พ.ศ. นี้จะต้องปรับต้องเปลี่ยนไปอย่างไร

นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว หน้าที่ของนักการทูต แต่ไหนแต่ไรมาคือการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างประเทศของตน กับประเทศนั้น ๆ แทนผู้นำของประเทศตน

แต่เมื่อผู้นำสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างง่ายดายแล้ว จะเหลือบทบาทหน้าที่อะไรให้นักการทูตทำ

นักการทูตอาชีพจะต้อง “เพิ่มค่า” ของตัวเอง ด้วยการทำอะไรมากไปกว่าแค่เป็น “ผู้ส่งสาร” แต่ต้องกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชนต่อประชาชน และทำให้คำว่า “การทูตยุคดิจิทัล” มีความหมายในภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้

ผมสงสัยว่าสิ่งที่เรียกว่า diplomatic pouch หรือถุงไปรษณีย์ที่ส่งเอกสารไปมาหาสู่ระหว่างสถานทูตทั้งหลายกับกระทรวงต่างประเทศนั้นยังใช้กันอยู่หรือไม่ในเมื่อการสื่อสารทำผ่านมือถือได้ตลอดเวลา