อนาคตของก๊าซธรรมชาติ(2)

อนาคตของก๊าซธรรมชาติ(2)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปของพลังงาน หากสามารถพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ฟิวชั่น

ในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล

ตอนนี้จะขอพูดถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับก๊าซธรรมชาติในอนาคตอันใกล้และปานกลาง แล้วในที่สุดจึงจะกล่าวถึงอนาคตอันไกลของก๊าซธรรมชาติ

ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เริ่มมีการผลิต LNG มากขึ้น และมีโครงการที่จะผลิต LNG อีกมากมายหลายโครงการ ที่สำคัญคือ สหรัฐได้กลายเป็นผู้ส่งออก LNG ไปแล้ว หลังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากหินเชลล์ได้ 

นอกจากนี้เริ่มมีการขาย LNG ในตลาดจร จากดั้งเดิม LNG จะซึ้อขายกันภายใต้สัญญาระยะยาวเท่านั้น จึงมีคำถามว่า จะมีการซื้อขาย LNG ในตลาดจรมากขึ้น จนเหมือนกับตลาดจรของน้ำมันดิบหรือไม่ 

ถ้ามีปรากฏการณ์เช่นนั้น ก็จะทำให้สามารถจัดหา LNG ได้ง่ายขึ้น และมีแหล่งที่จะซื้อหามากขึ้น ทำให้มีความมั่นคงในการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 

ประเทศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เช่น ประเทศไทยก็จะมีความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าจะมาพร้อมกับตลาดจร LNG ก็คือ ราคา LNG น่าจะเริ่มเป็นราคาระดับโลก ไม่ขึ้นอยู่แหล่งใช้อีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ราคามีการขึ้นลงคล้ายราคาน้ำมัน 

ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ LNG น่าจะมีราคาถูกลง (ปัจจุบันราคาก็ถูกลงมากจากที่เคยสูงในช่วงก่อนหน้านี้) เนื่องจากมีผู้ผลิตมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น

การที่ LNG  จะซื้อขายได้ง่ายขึ้น และมีราคาถูกลงนี้ น่าจะทำให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ทั้งในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ให้ความร้อนในอาคารพาณิชย์และอาคารที่อยู่อาศัย รวมถึง การคมนาคมขนส่ง ทั้งรถยนต์ รถบรรทุก และเรือเดินสมุทร หรือแม้แต่รถไฟ ซึ่งน่าจะเป็นผลให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มากขึ้น โดยน่าจะมากกว่าน้ำมันในระยะกลางนี้  อันจะมีผลดีต่อสถาพแวดล้อมคือจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง (เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมัน)

จึงอาจกล่าวได้ว่า ในระยะสั้นและระยะกลาง น่าจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หากเป็นไปอย่างที่กล่าวถึง ก็น่าจะมีผลต่อการใช้ และการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเช่นกัน

ในด้านการใช้ อาจมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ในระหว่างที่มีความพยายามที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ)

เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นแล้ว การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในประเทศน่าจะลดลง และอาจมีการใช้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า ในช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังลมไม่สามารถทำงานได้

นอกจากนี้ น่าจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น สุดท้าย เป็นไปได้ว่า อาจจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการขนส่งมากขึ้นในระหว่างที่การใช้รถไฟฟ้ายังไม่แพร่หลาย ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง จึงน่าที่จะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนสนับสนุน

ในด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ หากราคา LNG ต่ำจนเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศ ก็จะเริ่มมีคำถามว่าเราควรจะผลิตในประเทศหรือหยุดผลิตและนำเข้า LNG แทน 

 ตรงนี้คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า LNG นั้นส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะประกอบด้วย มีเทน ซึ่งมักใช้เป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว 

ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศนั้น ส่วนใหญ่จะมีส่วนของ อีเทน โพรเพน บิวเทนอยู่ด้วย ดังนั้นมูลค่า (ต่อหน่วย) ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศจึงมีมากกว่ามูลค่าของ LNG ที่นำเข้า 

การผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศจะทำให้ได้คอนเดนเสทขึ้นมาด้วย ดังนั้นแม้ราคาของ LNG จะเท่ากับราคาที่ผลิตในประเทศ ก็ควรจะยังคงผลิตในประเทศอยู่ด้วยมูลค่าที่มากกว่าดังที่กล่าวแล้ว

หรือแม้เมื่อราคา LNG ถูกกว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ ก่อนที่จะหยุดการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ ก็คงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่า ต้องถูกกว่าเท่าใดจึงจะหยุดการผลิตในประเทศ 

นอกจากมูลค่าต่อหน่วยของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศมีมากกว่า LNG และยังมีมูลค่าของคอนเดนเสทที่ผลิตมาได้พร้อมกับก๊าซธรรมชาติแล้ว การผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศยังก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรง (direct) ทางอ้อม (indirect) และทางเกี่ยวข้อง (induced) ก่อให้เกิดรายได้สำหรับรัฐบาลในรูปของค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ (รวมทั้งภาษีที่ได้ทางอ้อมและทางเกี่ยวข้องด้วย) และทำให้ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า LNG ด้วย นอกจากนี้

หากราคา LNG ต่ำกว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศมาก ก็อาจมีการพิจารณาลด หรืองดการเก็บค่าภาคหลวงหรือภาษี จนทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศสามารถแข่งขันกับ LNG ได้ เพราะแม้รัฐจะไม่ได้รายได้โดยตรงจากการผลิตก๊าซธรรมชาติ (ในรูปค่าภาคหลวงและภาษีโดยตรงจากการผลิต) แต่การผลิตในประเทศก็ยังมีประโยชน์ในการจ้างงานในประเทศและการประหยัดเงินตราต่างประเทศ อีกทั้งรัฐจะยังคงได้ภาษีจากการจ้างงานเหล่านั้น

จากความเป็นไปได้ที่กล่าวถึง จึงน่าที่จะมีการพิจารณาในเรื่องการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศว่าควรจะเป็นเช่นใด 

คำตอบน่าจะเป็นการผลิตขึ้นมาใช้ให้มาก และเร็วอย่างเหมาะสม คือประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในแง่การจ้างงาน รายได้ของรัฐ และการประหยัดเงินตรงต่างประเทศ แทนที่จะชะลอการผลิตด้วยเหตุผลที่จะเก็บไว้ให้ลูกหลานใช้ เพราะถึงเวลานั้น อาจไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาได้ เพราะได้ประโยชน์น้อยกว่าการนำเข้า LNG ซึ่งทำให้เสียประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน (ไม่ได้ผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันของประเทศ) และในอนาคต (ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาได้เพราะไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์และขาดความแข็งแกร่งในการแข่งขันของประเทศไปส่วนหนึ่ง)

ภาพรวมของการผลิตและใช้ก๊าซธรรมชาติของโลกนั้น ดังกล่าวแล้วว่า ในระยะสั้นและระยะกลางน่าจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นผลให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติมากขึ้น 

 แต่ในระยะยาวเมื่อเมื่อมีพลังงานหมุนเวียนในรูปของ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น และอื่นๆ มาแทนที่ ก็คงมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปของเชื้อเพลิงลดลงมาก 

ถึงเวลานั้นหากยังเป็นประโยชน์ และคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ก็อาจจะยังมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจมีขึ้นในอนาคต 

ดังนั้นอนาคตของก๊าซธรรมชาติก็น่าจะคล้ายกับอนาคตของน้ำมัน คือ เมื่อไม่ได้ถูกใช้ในรูปพลังงานก็จะถูกใช้ในรูปวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมอื่น แต่จะมีข้อแตกต่างที่ก๊าซธรรมชาติน่าจะถูกใช้ในรูปพลังงานนานกว่าน้ำมันและมากกว่าน้ำมันในช่วงหลัง

โดยสรุปก็คือ ก๊าซธรรมชาติในโลกมีปริมาณมาก และน่าจะเป็นไปได้ว่าในระยะสั้นและระยะกลางจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปพลังงานมากขึ้นมาก 

ในช่วงนี้มีความเป็นไปได้ว่าการใช้ และซื้อขายก๊าซธรรมชาติจะสะดวกมากขึ้นในรูป LNG ทำให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติมากขึ้นจากแหล่งที่ต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจมีผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติถูกลง และทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งที่มีต้นทุนสูงกว่าต้องหยุดลง 

ทั้งการที่มีก๊าซธรรมชาติในตลาดมากขึ้นและราคาอาจต่ำลง จะมีผลต่อทั้งการใช้และการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย จึงควรพิจารณาผลกระทบเหล่านั้นและวางแผนเกี่ยวกับการใช้และการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยให้เหมาะสม 

สุดท้ายในระยะยาว น่าจะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในรูปพลังงานน้อยลง แต่อาจมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น

โดย... ดร. โยธิน ทองเป็นใหญ่

นักวิชาการอิสระ