ตายอย่างไม่ให้ลูกหลานหมดตัว

ตายอย่างไม่ให้ลูกหลานหมดตัว

คำสอน “ไม่ให้จนก่อนตาย” น่าจดจำเพื่อนำไปเตรียมตัวก่อนสู่วัยสูงอายุ ล่าสุดเกิดแนวโน้มในเอเชียที่ค่าทำศพแพงมากขึ้นทุกที จนเกิดคำสอนว่า

 “อย่าตายให้ลูกหลานหมดตัว” ผู้คนเขาทำอย่างไรกัน เพื่อไม่ให้การตายของตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่นจนเกินไปและในเส้นทางที่เขาทำกัน มีแง่คิดดีๆ ปนอยู่ไม่น้อย

ในอ่าวโตเกียวในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา จะมีเรือลำเล็กจำนวนมากลอยออกไปพร้อมกับญาติใกล้ชิดและโปรยดอกไม้ พร้อมกับเถ้าถ่านกระดูกของผู้ตายลงในทะเล มีความเป็นไปได้สูงว่า ครอบครัวนี้เลือกงานศพชนิดไม่มีสิ่งฟุ่มเฟือยก่อนหน้าที่จะเผา

เมื่อมองไปจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ก็มีปรากฏการณ์คล้ายกันคือไม่ฝังศพอีกต่อไป

ผู้คนในแนว “อารยธรรมจีน” เหล่านี้ ฝังร่างผู้เสียชีวิตที่รักนับถือ โดยทำเป็นฮวงซุ้ย หรือสุสานมานับร้อยๆ ปี แต่การขาดพื้นที่ว่างในสุสาน (หากมีเงินจ่ายมากๆ ก็มีพื้นที่ว่างเสมอ) ค่าใช้จ่ายในพิธีศพตลอดจนขนาดของครอบครัวที่เล็กลง(มีจำนวนคนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายน้อยลง) ทำให้หันมาใช้การเผาศพแบบที่ผู้คนในแนว “อารยธรรมอินเดีย” ทำกันมายาวนานเช่นกัน

ลองดูตัวเลขของผู้มีโอกาสเป็น “ศูนย์กลาง” ของงานศพกันสักนิด 

ประมาณ 60% ของคนสูงอายุทั่วโลก อาศัยอยู่ในบริเวณเอเชียแปซิฟิก สำหรับญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย ก่อนถึงปี 2050 หรือประมาณอีก 30 ปีเศษ มากกว่า 1 ใน 10 ของประชากร จะมีอายุมากกว่า 80 ปี 

สำหรับสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวเลขจะเพิ่มจากประมาณ 10% ในปัจจุบัน เป็น 21% ในปี 2050 บริเวณประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ส่วนเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือตัวเลขเดียวกัน จะเพิ่มจาก 17% เป็น 37%

สถิติเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนจาก “ฝัง” มาเป็น “เผา” นั้น สามารถสร้างกระแสความนิยมขึ้นได้มากในโลกปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปก็หันสู่ทิศทางนี้มากขึ้น

ลองดูตัวอย่างญี่ปุ่นว่าพิธีศพมีค่าใช้จ่ายสูงเพียงใด

ในปี 2016 คนตาย 1.3 ล้านคน ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง พิธีศพแบบดั้งเดิมเจ้าภาพต้องจ่ายเงินประมาณ 1-2 ล้านเยน(290,000-580,000 บาท) ในปี 2015 พิธีศพแบบดั้งเดิม(ถ้าเต็มพิธีก็คือมีการเคารพศพทั้งคืนพร้อมพิธีกรรม) มีสัดส่วน 59% ของงานพิธีทั้งหมด 

แต่ปี 2017 สัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 52.8% เนื่องจากหันมาใช้พิธีไม่ฟุ่มเฟือย และค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยก็ลดลงด้วยจาก 2.31 ล้านเยน(670,000 บาท) ในปี 2007 เหลือ 1.96 ล้านเยน(568,000 บาท)ในปี 2016 (ค่าโปรยเถ้าถ่านในทะเลเริ่มราคาที่ 50,000 เยน(14,500 บาท)

ปัจจุบัน คนญี่ปุ่นจำนวนมากอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกับคนเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ใช้การเผา การเลือกอยู่ตรงที่จะเก็บเถ้าถ่านอย่างไร จะเก็บใส่โถไว้ในช่อง“คอนโด” ที่เก็บรวมไว้เป็นอาคารพิเศษหรือใส่โถฝังดิน และมีเสาหินบอกชื่อหรือโปรยลงในสวน ในป่าหรือลงทะเล(ที่เรียกว่า วิธี green)

ในฮ่องกง งานพิธีศพธรรมดาๆ นอกจากจะสูงถึง 55,000  ดอลลาร์ฮ่องกง(220,000 บาท) แล้วยังต้องหาพื้นที่ว่างในสุสาน เพื่อใส่เถ้ากระดูกลงในโถและฝังดิน คนทั่วไปต้องคอยพื้นที่ว่างกันเป็นปี และเสียเงินอีกเป็นแสนๆ บาท นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายดูแลรายปีอีกต่างหาก

คนจีนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการวิธี green เพราะยังต้องการพื้นที่ในสุสานให้บรรพบุรุษ เพื่อทำพิธีเช็งเม้งประจำปีงานทำความสะอาดเสาหินและบริเวณรอบ ตลอดจนพิธีกรรมคือ ความแยบคายของวัฒนธรรมจีนในการเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ระหว่างบรรพบุรุษกับลูกหลานอย่างสำคัญ

พิธีศพไม่ว่าในประเทศไหน จริงๆ แล้ว ทำเพื่อคนอยู่มากกว่าญาติผู้วายชนม์ บ้างก็ทำเพื่อหน้าและเพื่อความยิ่งใหญ่ของลูกหลาน(ไม่กล้าทำน้อยไปเพราะกลัวว่าตนเองจะดูไม่รวยในสายตาของสังคม) แต่ที่ทำเพื่อตั้งใจให้เป็นเกียรติแก่ผู้ตายก็มีเช่นกัน ความพอดีเหมาะสมอยู่ตรงไหน เป็นสิ่งที่คณะเจ้าภาพต้องตัดสินใจกันเอง

ในญี่ปุ่นได้เกิดธุรกิจ drive-in เพื่อเคารพศพ กล่าวคือ ไม่ต้องลงจากรถ(คนไปร่วมงานอาจสูงอายุจนลงจากรถลำบาก) หากขับรถเข้าไปในบริเวณที่ประกอบพธีเปิดกระจกมองเข้าไปเห็นห้องพิธี มอบซอง และธูปไปปักหน้าศพ ทักทายเจ้าภาพและก็ขับออกมาสะดวก ทั้งเจ้าภาพที่หาที่จอดรถให้ไม่ได้และผู้ไปร่วมงานที่ไม่ต้องหาที่จอดรถ เมื่อเข้าใจกันเช่นนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันได้ ต่อไปธุรกิจเช่นนี้อาจแพร่กระจายจนมีการเลียนแบบกันในหลายประเทศก็เป็นได้

นิตยสาร Nikkei Asian Review ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ เล่าเรื่องราวของพิธีศพที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการจัดงานเลี้ยงก่อนตายของ Mr.Satoru Anzaki อดีตประธานกรรมการบริษัทเครื่องจักรก่อสร้างวัย 80 ปี ผู้กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง เพื่อขอบคุณเพื่อนๆ ก่อนที่จะไม่สามารถขอบคุณได้

Anzaki ผู้ปฏิเสธการรักษาโดยสิ้นเชิง มีความคิดว่าเขามีชีวิตมาคุ้มค่าแล้ว มีเพื่อนๆ อีกมากมายที่เขาต้องกล่าวลา เขามีลำดับความสำคัญในใจเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต จึงปฏิเสธการรักษาที่เจ็บปวดทรมาน เขาลงประกาศเชิญเพื่อนๆมางานเลี้ยงนี้ ปรากฏว่ามีคนมาร่วมงานถึงพันคน โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน

งาน pre-funeral นี้อาจเป็นธุรกิจขึ้นได้โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่หลายคนอาจมีชีวิตถึง 100 ปี หากรอจนถึงวันสุดท้ายอาจไม่มีเพื่อนเหลือมางานศพ การเลี้ยงลาก่อนตายเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและสับสนจนรู้สึกหวาดหวั่นความสามารถควบคุมบางสิ่ง โดยเฉพาะชะตาชีวิตของตนเองก่อนถึงวาระสุดท้าย ดูเหมือนจะเป็นสิ่งน่าพึงปรารถนามากกว่าการมีชีวิตยืนยาวอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงในลักษณะใด นอนอยู่บนเตียงมีสายระโยงระยาง นอนหลับไปเลย  หรือป่วยกระเสาะกระแสะเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น  ฯลฯ

ถ้าเป็นชาวพุทธแล้วกลัวการพูดถึงเรื่องความตายก็เรียกได้ว่า ยังไม่เข้าถึงแก่น การไม่พูดถึงมันมิใช่จะว่าไม่ตาย ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าจะตายโดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อยู่ต่อไปได้อย่างไร ในหลายกรณีพิธีศพที่สิ้นเปลือง คือหนทางหนึ่งที่จะทำให้ลูกหลานหมดตัวได้อย่างไร้สาระ