คาตาโลเนียไม่ใช่สเปน แต่ไม่มีสิทธิเอกราช! (3)

คาตาโลเนียไม่ใช่สเปน แต่ไม่มีสิทธิเอกราช! (3)

ปฏิกิริยาตอบโต้ต่ออำนาจเผด็จการใน Catalonia มีเป็นระยะ ๆ แต่ที่สำคัญมีในปี 1947 และ 1951 ช่วงที่อำนาจเผด็จการรุนแรงเกิดขึ้นจนถึงปี 1959 หลัง

หลังจากนั้นความเป็นเผด็จการลดความรุนแรงลงจนกระทั่ง Franco เสียชีวิตลงในปี 1975 

ความผ่อนคลายในช่วงหลังของ Franco เกิดขึ้นจากสื่อสารมวลชนที่เผยแพร่ถึงกันทั่วโลก การประณามของ Vatican ที่มีต่อความกดขี่ทางการเมืองและวัฒนธรรม และกลุ่มการเมืองที่เริ่มรวมตัวกันต่อต้านโดยเฉพาะฝ่ายซ้าย

หลังจากการเสียชีวิตของ Franco กษัตริย์ Juan Carlos ในฐานะประมุขประเทศ ยังจำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรี Corlos Arias Navarro ภายใต้ Franco คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพื่อไม่ให้ฝ่ายขวาจัดหรือเที่เรียกว่า The Bunker ไม่พอใจและก่อความรุงแรงขึ้น 

 กษัตริย์ Carlos ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด 15,000 คน และพยายามปฏิรูปด้วย แต่ Navarro ไม่ตอบสนองจึงถูกปลด 

การปฏิรูปเกิดขึ้นด้วยกฎหมายในปี 1976 ที่รับรองสถานะทางกฎหมายของทุกพรรคการเมือง การเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย.1977 พรรคที่ได้รับชัยชนะสำหรับทั้งสเปนโดยรวมคือ UCD หรือประชาธิปไตยฝ่ายเป็นกลาง แต่ใน Catalonia 2 พรรคฝ่ายซ้ายได้คะแนนมากที่สุดแต่ก็ยังไม่ใช่เสียงข้างมาก 

รัฐบาลกลางประกาศยกเลิกการห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีนั้นเอง Generalitat กลับมาใหม่ โดยมี Joseph Torradellas ที่ลี้ภัยอยู่กลับมาเป็นประธาน

พรรคประชาธิปไตยฝ่ายเป็นกลางอันเป็นพรรครัฐบาลทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1978 โดยมีตัวแทนของพรรคฝ่ายซ้ายเข้าร่วมด้วย 

รัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้กษัตริย์เป็นประมุขที่สืบทอดตามเชื้อสาย มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และ มีหลักการให้ท้องถิ่นเป็นเขตอิสระปกครองตนเองได้ Castilian เป็นภาษาประจำชาติที่ประชาชนทุกคนจะต้องเรียนรู้ ภาษาอื่นอาจเป็นภาษาราชการในเขตอิสระปกครองตนเองของตนได้ 

 รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้สเปนเป็นประเทศอันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีส่วนใดที่จะแบ่งแยกออกไปได้ ท้องถิ่นใดมีประวัติศาสตร์เดียวกันอาจตั้งเป็นเขตปกครองตนเองได้ ซึ่งจังหวัดต่างๆ ในเขต Andalusia ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง สิทธินี้เรียกว่า Cafe para todos

แต่ The Bunker ยังคงเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยต่อไป ความพยายามปฏิวัติในปี 1981 ล้มเหลวและกษัตริย์ Juan Carlos ประกาศไม่สนับสนุนท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

ในช่วงปี 1982 - 2003 Jorid Pujol เป็นประธานของ Generalitat ต่อ  สาเหตุที่เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นาน มาจากความสามารถรวบรวมผู้มีแนวคิดทางการเมืองต่างๆ ตั้งแต่พวกขวาเล็กน้อยไปจนถึงพวกแบ่งแยกดินแดน และตั้งแต่พวกอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม สังคมประชาธิปไตย ไปจนถึงคริสเตียนประชาธิปไตย 

เขาเป็นผู้ที่ไม่เคยประกาศความต้องการให้ Catalonia เป็นเอกราช แต่กล่าวเสมอถึงความยึดมั่นในสหพันธรัฐแห่งสเปน ที่รับรองความเป็นประเทศของ Catalonia ที่มีความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งควรได้รับการเคารพ 

ยุทธศาสตร์ที่ใช้เสมอคือการเจรจาเพื่ออำนาจ และการคลังที่กว้างขึ้น แลกเปลี่ยนกับการให้ความสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคใดก็ด้ที่อยู่ในอำนาจ เขาพยายามตั้งสำนักงานในประเทศต่าง ๆ ของยุโรปเพื่อส่งเสริมกาารค้าและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่วนกลางไม่พอใจ  

ด้วยความที่แปลกแยกจากสเปนโดยรวม ชาว Catalonia จึงมักจะลงคะแนนให้พรรค Catalanist ในการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ลงคะแนนให้พรรคสังคมนิยมในระดับชาติ ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นภัยแก่ Catalonia น้อยที่สุด

Pasqual Maragall รับช่วงเป็นประธาน Generalitat ต่อจาก Pujol ในปี 2003 เขาเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการนำ Oympics มาสู่ Barcelona ในปี 1992 

การจัด Olympics ถือเป็นข้ออ้างในการฟื้นฟูพัฒนาให้ Barcelona เป็นเมืองชั้นนำขนาดใหญ่ หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Generalitat เสมอมาคือ การส่งเสริมภาษา Catalan ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชาวสเปนที่อพยพเข้ามาใน Catalonia อยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์

Pujol สนับสนุน Gorzalez แล้วหันมาสนับสนุน Aznar เป็นประธานาธิบดีตามหลักที่ว่า สนับสนุนใครก็ได้เพื่อสิ่งแลกเปลี่ยน แต่พอ Aznar ได้ชัยชนะเด็ดขาดในปี 2000 Pujol ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลอีกต่อไป และ Aznar ก็เริ่มนโยบายรวมศูนย์การปกครองสเปนทันที

ในปี 2003 พรรคฝ่ายซ้าย Catalanist 3 พรรคร่วมมือกันร่าง Estatut หรือธรรมนูญการปกครองตนเองของ Catolonia ฉบับใหม่ เพื่อแทนที่ฉบับที่ใช้ตั้งแต่ปี 1979 อันเป็นยุคที่ยังอยู่ภายใต้ควันหลงแห่งเผด็จการ 

สาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือ การเรียก Catalonia ว่าเป็นประเทศหรือ nation แทนที่จะเรียกชนชาติหรือ nationality การกำหนดให้ภาษา castilian มีสถานะเท่าเทียมกับ Catalan 

การให้ Generatitat เป็นที่สุดของเรื่องกฎหมายแพ่ง ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา ระบบปกครองท้องถิ่นและศาลฎีกา ตลอดจนการกำหนดให้การลงทุนของรัฐบาลกลางสเปน ใน Catalonia เป็นสัดส่วนกับประชากรที่มี 12% หรือตาม GDP 19% ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 12% พอดี Aznar ไม่อยู่ในตำแหน่งและ Zapatero แห่งพรรคสังคมนิยมขึ้นมาแทน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงมีมากขึ้น

แต่ Partido Popular ของ Aznar ยื่นคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับพิจารณาสิ่งที่ยังไม่ประกาศเป็นกฎหมาย แต่ก็ทำให้ร่างนี้ต้องมีการแก้ไขถึงประมาณครึ่งหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ฝ่ายขวาก็ยังพยายามปลุกระดมสื่อเพื่อคัดค้านอย่างหนัก 

 ประธานาธิบดี Zapatero อุปมาได้ดีด้วยคำพูดที่ว่า “It’s not a question of Catalanising Spain but rather to federalise Spain more openly.” แต่ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตราเกือบทั้งหมด “ขัดรัฐธรรมนูญ” นี่คือที่มาหรือจุดเริ่มต้นที่ Catalonia ต้องการแยกตัวเป็นประเทศอย่างเป็นเอกเทศ ตามข่าวที่มีมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้ และนำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ด้วยจำนวนกว่าล้านคน ในวันที่ 10 ก.ค. 2010

การลงคะแนนเพื่อแยกตัวเป็นประเทศเอกราชต่างหากจึงเกิดขึ้นในหลายเมืองหลายครั้งตั้งแต่นั้นมา หรือแม้แต่ก่อนหน้านั้น แต่ก็ถูกขัดขวางคุกคามจากฝ่ายขวาทุกวิถีทาง

ยิ่งเมื่อ Partido Popular กลับมามีอำนาจในปี 2011 การลงประชามติถูกระบุว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” จนต้องมีความพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการประกาศว่า เป็นการรับฟังความเห็นโดยไม่มีข้อผูกพัน และผู้จัดการการลงมติจะต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยประการใด ๆ แต่เพื่อความมั่นใจก็ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น การร่วมกิจกรรมของประชาชน และ จุดการลงคะแนนต้องไม่ใช่สถานที่ของรัฐบาล

วิเคราะห์

การพิจารณาว่า คู่กรณีในข้อพิพาทระหว่างสเปนกับคาตาโลเนียว่าฝ่ายใดจะมีข้ออ้างหรือเหตุผลที่ดีกว่าในการแสวงหาความชอบธรรมแห่งปฏิบัติการของตนต่อฝ่ายตรงข้ามมากกว่ากัน คงจะต้องย้อนกลับไปที่จุดเปลี่ยนต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์จึงจะให้คำตอบได้ดีที่สุด

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ของ Catalonia ได้แก่ การอภิเษกระหว่างเชื้อพระวงศ์ของ Catalonia กับ Aragon และรวมกันเป็น Crown of Aragon ในปี 1137 ซึ่งตามมาด้วยการอภิเษกระหว่าง Alfons I แห่ง Barcelona กับพระขนิษฐา (น้องสาว) ของกษัตริย์แห่ง Castile ในปี 1172 

 การอภิเษกนี้สืบเชื้อสายจนถึง Carlos V ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ร่วมแห่ง Crown of Castile และ Crown of Anagon ในปี 1516 เนื่องจาก Catalonia อยู่ภายใต้ Crown of Aragon ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง Castile กับ Aragon จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปโดยชอบภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ Catalonia ปฏิเสธไม่ได้ 

ส่วนการที่กษัตริย์ Castile จะถือปฏิบัติกับ Catalonia โดยไม่คำนึงถึงระบบการปกครองตนเองผ่าน Generalitat นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ชาว Catalonia ย่อมโต้แย้งได้ แต่อำนาจอยู่ในมือกษัตริย์ Castile ผลลัพธ์สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่ายซึ่งฝ่าย Catalonia เป็นรอง

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันนี้ เราอาจหาตัวอย่างของดินแดนในประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป 500 ปี แบบ Catalonia ได้ไม่ยาก การอ้างสถานะทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังหลายร้อยปี จึงอาจนำมาซึ่งกรณีพิพาทได้จำนวนนับไม่ถ้วนในปัจจุบันี้ ข้ออ้างกรณีปัตตานีมีประวัติศาสตร์ย้อนหลังน้อยกว่านั้นเสียอีก ถ้ายอมให้กรณีพวกนี้ทำได้ โลกของเราคง “ยุ่งตายห่า”

การต่อสู้เพื่ออิสรภาพในการปกครองตนเองของ Catalonia ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้มีอำนาจทุกยุคก็สามารถกำราบให้ Catalonia พ่ายแพ้และอยู่ภายใต้อำนาจได้ไม่มากก็น้อย ในปี 1978 สเปนมีรัฐธรรนมนูญภายหลังการเสียชีวิตของ Franco ซึ่งก็ยอมให้สิทธิท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นการทั่วไป สามารถรวมกันเป็นเขตปกครองตนเองได้ 

ชาว Catalonia เอง ก็ลงประชามติยอมรับรัฐธรรมนูญนี้รวมทั้งธรรมนูญการปกครอง Catalonia แต่ความเสมอภาคระหว่างท้องถิ่นที่ปกครองเองเทียบกับส่วนอื่น ๆ เป็นประเด็นต่อรองทางการเมือง ความเสมอภาคนั้นเป็นสิ่งที่มองแตกต่างกันและกลายเป็นข้อพิพาทจนถึงทุกวันนี้

การปฏิบัติการต่อรองก็คงดำเนินต่อไปได้ แต่จะส่งผลต่อความสงบสุขของสังคมใน Catalonia หรือสเปนโดยรวมอย่างไรนั้น ทั้งสองฝ่ายคงจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีถึงผลได้ผลเสียให้มาก

แต่เมื่อมองจากวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์โดยตลอดแล้ว เราอาจฟันธงได้โดยเด็ดขาดว่า Catalonia ไม่มีสิทธิประกาศเอกราช แต่การต่อรองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง