จะยุบมหาวิทยาลัยหรือ

จะยุบมหาวิทยาลัยหรือ

วันที่เขียนบทความนี้ตรงกับวันวางตลาดในสหรัฐของหนังสือชื่อ The Case Against Education: Why the Education System Is a Waste of Time and Money

เขียนโดย Bryan Caplan ชื่อของหนังสือบ่งบอกเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนมองว่า ระบบการศึกษาทำให้เสียเวลาและเงิน

 ผมยังไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเพราะบทความนี้เขียนก่อนร้านหนังสือเปิด แต่ได้อ่านการประชาสัมพันธ์ของสำนักพิมพ์ และบทวิจารณ์หนังสือของสื่อบางสำนัก เนื่องจากสำนักพิมพ์ได้ส่งหนังสือไปให้สื่ออ่านก่อนวางตลาดอันเป็นส่วนสำคัญของการประชาสัมพันธ์ ที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปในสหรัฐ 

ตอนที่ผมอ่านการประชาสัมพันธ์และบทวิจารณ์ดังกล่าวตรงกับช่วงที่สื่อสังคมนำบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติลงวันที่ 23 เดือนนี้เรื่อง “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” มาเผยแพร่

ข้อสั่งการของนายกฯ มีสองอย่างคือ (1) ให้ศึกษาในประเด็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนวัยเรียน/ประถม/มัธยมให้ได้คนที่มีศักยภาพ ตรงความต้องการของประเทศอย่างไร ผู้ที่เข้าอุดมศึกษา/สาขาที่ต้องการได้อย่างไร/ส่วนหนึ่งไปอาชีวะ ได้ปริญญาอย่างไร เพื่อสร้างความชัดเจนให้สังคม ประชาชน/ผู้ปกครองเข้าใจ และ (2) กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ/ไม่ตรงความต้องการ การลดเงินอุดหนุน หรือไม่ให้ เช่น จีน ทำเหตุผล จบมาไม่มีงานทำ แต่ต้องใช้หนี้ กยศ./ปัญหาต่อเนื่อง

แม้เนื้อหาของหนังสือและข้อสั่งการของนายกฯ จะเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสองประเทศที่อยู่คนละฟากโลก และมีความก้าวหน้าหลายด้านต่างกัน แต่บริบทที่ทำให้เกิดหนังสือและข้อสั่งการนั้นคล้ายกัน นั่นคือ ระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติ 

ผู้อ่านคงทราบดีว่า วิกฤติเกิดมานานแล้ว ในสหรัฐ เราทราบเรื่องราวของเขาอยู่บ้าง เขาพยายามหาทางออกหลายอย่าง เช่น การให้เอกชนรับเหมาโรงเรียนไปดำเนินงาน(chartered schools) และการทุ่มเงินก้อนใหญ่เข้าไปช่วยทดลองของบิล เกตส์ เพื่อปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ในเมืองไทย เราได้ปฏิรูประบบการศึกษาแล้วหนึ่งครั้ง และกำลังมีการเรียกร้องให้ทำซ้ำอีก

การศึกษาเป็นเรื่องสลับซับซ้อน อ่อนไหวและมองได้จากหลากหลายมุม ในฐานะผู้สนใจแต่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ผมมองว่าความเป็นไปในด้านการศึกษาที่มองได้ว่ากำลังประสบภาวะวิกฤตินั้นเป็นอาการหนึ่งของความป่วยไข้ร้ายแรงของสังคม หากสังคมป่วยไข้ จะให้ระบบการศึกษาปราศจากปัญหาร้ายแรงย่อมเป็นไปไม่ได้

ในช่วงนี้มีคำถามในสังคมอเมริกันว่าควรจะให้ครูพกปืนเข้าไปในห้องเรียนหรือไม่ เนื่องจากเพิ่งเกิดเหตุการณ์อันเศร้าสลดเกี่ยวกับเด็กถูกยิงตายในโรงเรียนอีกครั้ง ส่วนในเมืองไทย มีข่าวใหญ่เรื่องผู้อำนวยการมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนักเรียนชั้นมัธยมต้น

ดังที่เราทราบกันดี ความป่วยไข้ร้ายแรงของสังคมมิได้แสดงอาการออกมาทางด้านการศึกษาอย่างเดียว หากยังแสดงออกมาทางการเมืองอีกด้วย 

สหรัฐกำลังประสบวิกฤติที่แสดงออกมาทางสภาพที่สื่อบางสำนักเรียกว่า Trumpismซึ่งผมเสนอไว้ในคอลัมน์นี้ให้แปลว่า “ถ่อยนิยม” ส่วนเมืองไทยตกอยู่ใต้แอกของเผด็จการ ซึ่งแสดงอาการของความฉ้อฉลออกมาอย่างต่อเนื่อง

หนังสือเล่มดังกล่าวจะเสนอให้รัฐบาลทำอะไรกับมหาวิทยาลัยบ้าง ผมยังไม่สามารถนำรายละเอียดมาเสนอได้ แต่แนวโน้มบ่งชี้ว่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากฝ่ายรัฐในสัดส่วนที่ต่ำลง และมหาวิทยาลัยเอกชนจะปิดตัวเพิ่มขึ้น ทั้งที่มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองบางกลุ่มให้ทุกคนเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน

สำหรับทางเมืองไทย แนวโน้มบ่งชี้ไปในแนวเดียวกับของเข าซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ปัญหาสาหัส มหาวิทยาลัยบางแห่งหรือบางส่วนควรจะรีบปิดตัวเองด้วยซ้ำ  

การทำเช่นนั้นจะไม่เสียอะไรไปมาก ทั้งนี้เพราะจะมีมหาวิทยาลัยแนวใหม่เกิดขึ้นมาแทนซึ่งตอนนี้มีเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เช่น มหาลัยคอกหมู มหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยเถื่อน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยแนวนี้ ซึ่งมีการเรียนรู้ไปพร้อมกัน แบ่งปันความรู้และการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาด้วยตัวเองเป็นแกนจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในอนาคต 

 ด้วยเหตุนี้ ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยจะไม่ยุบ แต่รูปแบบและเนื้อหาจะเปลี่ยนไป ส่วนจะเปลี่ยนได้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิดและพฤติกรรมเบื้องต้นของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม