ความโดดเดี่ยวและความมั่นคงของญี่ปุ่น

ความโดดเดี่ยวและความมั่นคงของญี่ปุ่น

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ของมูน แจ อินและวิกฤตการณ์เกาหลีเหนือ ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

นอกจากท่าทีต่อการแก้ไขปัญหาการคุกคามจากเกาหลีเหนือที่ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลของมูนยังรื้อฟื้นข้อขัดแย้งสำคัญระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะปัญหาคอมฟอร์ตวูเมน ที่ญี่ปุ่นถือว่าปัญหานี้จบลงอย่างเด็ดขาดแล้วจากข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลปักกึนเฮในปี 2015

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับจีนนั้น รัฐบาลของมูนประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนที่เสื่อมถอยลงอย่างมาก จากการที่รัฐบาลของปักกึนเฮยินยอมให้สหรัฐเข้ามาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ในเกาหลีใต้ ซึ่งจีนเห็นว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของจีนโดยตรง 

นอกจากนั้น การเดินทางเยือนจีนครั้งที่ผ่านมา มูนก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าให้การสนับสนุนจุดยืนทางการเมืองของจีนต่อประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่ทั้งจีนและเกาหลีใต้ได้รับความเสียหายจากญี่ปุ่น 

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลของมูนจะแสดงท่าทีที่เป็นมิตรต่อญี่ปุ่นอย่างไรก็ตาม จุดยืนทางการเมืองของเกาหลีใต้ก็แตกต่างกับญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิงทั้งในด้านความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ท่าทีต่อวิกฤตการณ์เกาหลีเหนือ และความสัมพันธ์กับจีน

สำหรับสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นนั้น ความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ ที่เกิดขึ้นจากการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัล ทรัมป์ ยังคงดำรงอยู่ แม้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ทำให้ต้นทุนของญี่ปุ่นในการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าสงสัยว่าญี่ปุ่นจะยอมจ่ายต้นทุนนี้ไปถึงเมื่อใด ทั้งในเรื่องข้อเรียกร้องที่มีต่อญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศที่ปลีกตัวออกจากประชาคมนานาชาติ

ในกรณีของวิกฤตการณ์เกาหลีเหนือนั้น แม้ทรัมป์จะแสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกับญี่ปุ่นมาโดยตลอด แต่ทรัมป์ก็สร้างความไม่แน่นอนขึ้นมาด้วยการแสดงท่าทีที่แสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจาระหว่างสหรัฐ กับเกาหลีเหนืออยู่เป็นระยะ ในขณะที่ญี่ปุ่นปฏิเสธการแก้ปัญหาโดยการเจรจามาตลอด 

ในทางปฏิบัติแล้ว ตลอดปี 2016 ที่เกาหลีเหนือทำการทดลองขีปนาวุธ และระเบิดนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง สหรัฐก็ไม่ได้ทำอะไรที่มีผลยับยั้งความก้าวหน้าในการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปติดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเลย ซึ่งเท่ากับเป็นการอนุญาตให้เกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีระยะทำการครอบคลุมถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐขึ้นมาได้ในที่สุด

เหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้สหรัฐไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้ายับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในปีที่ผ่านมาก็คือ ความหวั่นเกรงที่สหรัฐมีต่อจีน 

หากความหวั่นเกรงนี้คือหลักการพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในยุคทรัมป์แล้ว คำถามที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับญี่ปุ่นก็คือ “อะไรจะทำให้สหรัฐยินยอมที่จะทำสงครามกับจีน เพื่อปกป้องญี่ปุ่นในกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกะกุ หากจีนตัดสินใจเข้าครอบครองหมู่เกาะเซนกะกุ ในลักษณะเดียวกันกับที่จีนทำกับหมู่เกาะสแปรตลีย์ และโขดหินสคาร์โบโรห์ในทะเลจีนใต้

แม้สนธิสัญญาด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐจะระบุว่า สหรัฐมีพันธะที่จะต้องปกป้องหมู่เกาะเซนกะกุให้กับญี่ปุ่น แต่ถ้าสหรัฐไม่ยอมจ่ายต้นทุนของความขัดแย้งกับจีนในกรณีของเกาหลีเหนือแล้ว ญี่ปุ่นจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สหรัฐจะยอมจ่ายต้นทุนที่มากกว่าในกรณีของญี่ปุ่น 

หากจีนตัดสินใจเข้าครอบครองหมู่เกาะเซนกะกุด้วยกำลังทหาร สนธิสัญญาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงสำหรับความมั่นคงของญี่ปุ่นได้หรือไม่

ความไม่น่าเชื่อถือของสหรัฐในยุคทรัมป์ และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ทำให้ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น 

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะพยายามกระจายความเสี่ยงนี้ออกไปด้วยการแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมจากทุกทวีปทั่วโลก แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดที่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับญี่ปุ่นมากพอ ที่จะยอมขัดแย้งกับจีนอย่างรุนแรงเพื่อประโยชน์ของญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ โดยทิศทางของนโยบายต่างประเทศในปัจจุบัน ทางเลือกด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นจึงมีไม่มากนัก 

ในสถานการณ์ที่จีนกำลัง “เรืองอำนาจขึ้นโดยสันติ” และกำลังเข้าแทนที่สหรัฐในประชาคมนานาชาตินั้น ประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมญี่ปุ่นก็คือการพึ่งพาตนเองในด้านความมั่นคง โดยการพัฒนาแสนยานุภาพทางการทหาร 

ปลายสุดของเส้นทางนี้คือการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าในปัจจุบันทั้งรัฐบาลและประชาชนญี่ปุ่นจำนวนมากจะยืนยันหลักการไม่ครอบครองและเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์อย่างหนักแน่นเพียงใดก็ตาม ความโดดเดี่ยวอันเป็นผลมาจากนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว จะบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเดินไปในเส้นทางที่เกาหลีเหนือได้เดินมาแล้วในท้ายที่สุดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดสำคัญหนึ่งก็คือ การเข้าใจว่าสันติภาพของเอเซียตะวันออกขึ้นอยู่กับนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถึงที่สุดแล้ว การปฏิบัติตามกฏระเบียบของประชาคมนานาชาติ และกฏหมายระหว่างประเทศของทุกประเทศคือหลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการมีสันติภาพของโลก

โดย.. ภาคภูมิ วาณิชกะ

หน่วยปฏิบัติการวิจัยญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่จำเป็นจะต้องสะท้อนถึงความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด]