ทรัมป์ ดอลลาร์ และค่าเงินบาท

ทรัมป์ ดอลลาร์ และค่าเงินบาท

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นประเด็นค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นมาถึงกว่า 3.9% นับจากต้นปี

และแข็งเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากเงินริงกิตมาเลเซีย ที่แข็งขึ้นกว่า 4.4% ซึ่งเงินบาทและริงกิตที่แข็งค่าขึ้นนี้สอดคล้องกับดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงถึงกว่า 3.2% นับจากต้นปี

ผู้เขียนมองว่าการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะอ่อนลงกว่าระดับปัจจุบัน สามารถพิจารณาได้ใน ด้าน

(1) ด้านปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจดุลบัญชีเดินสะพัด 

ปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจะขึ้นกับความต้องการสกุลเงินนั้น ๆ เพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้าและบริการ ซึ่งสามารถชี้วัดอย่างง่ายได้จากดุลบัญชีเดินสะพัด โดยหากประเทศมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง บ่งชี้ว่ามีความต้องการเงินสกุลนั้น ๆ เพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการ เงินสกุลนั้นจึงน่าจะแข็งค่าขึ้น

ในปีที่ผ่านมา สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.4% ของ GDP ขณะที่ในปีนี้คาดว่าจะขาดดุลมากขึ้นเป็น 2.5% ของ GDP ขณะที่ไทยเกินดุลการค้า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10.6% ของ GDP ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะเกินดุลอีกประมาณ 8.0% ของ GDP ในปีนี้ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดอลลาร์ที่จะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

(2) ด้านการเงินผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริงของสหรัฐยังคงต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

ทรัมป์ ดอลลาร์ และค่าเงินบาท

แม้ว่าในปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี (ที่ใช้บ่งชี้ผลตอบแทนการลงทุน) ของสหรัฐ ปรับสูงขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.66% สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย ที่อยู่ที่ 0.6% 0.1% และ 2.48% ตามลำดับ แต่ยังมีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูงเข้ามายังตลาดพันธบัตรทั้งสามประเทศที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า โดยในไทยที่มีเงินไหลเข้าถึง 7.3 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ต้นปี

สาเหตุเป็นเพราะเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงกว่าที่อื่น (บ่งชี้ว่าเงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่า) ดังนั้นหากพิจารณาจากผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) แล้ว ผลตอบแทนของสหรัฐถือว่ายังต่ำมาก (ประมาณ 0.6%) ขณะที่ผลตอบแทนของไทยอยู่ในระดับสูง (ที่ประมาณ 1.7%) เนื่องจากเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งอัตราที่สูงเช่นนี้จึงเป็นสิ่งจูงใจให้เม็ดเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรของไทยต่อเนื่อง

(3) ด้านการเมืองแนวนโยบายของรัฐบาลทรัมพ์ ที่เน้นนโยบายพาณิชย์นิยม(Mercantilism)

เน้นผลักดันการส่งออกเพื่อลดการขาดดุลการค้า เนื่องจากทรัมพ์รู้ดีว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดภาษีนิติบุคคล และชักจูงให้บริษัทข้ามชาติกลับมาลงทุนในประเทศนั้น จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ามากขึ้น เขาจึงกล่าวตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งใหม่ ๆ ว่าต้องการเห็นดอลลาร์อ่อนค่า (ปัจจุบันอ่อนแล้วกว่า 14% ตั้งแต่ทรัมพ์รับตำแหน่ง)

เช่นเดียวกับที่นายสตีเฟ่น มนูชิน รมว. คลังสหรัฐ กล่าวในการประชุม WEF ว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์ (ในระยะสั้น) เป็นผลดีต่อการค้าและการลงทุนสหรัฐ ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงถึง 1.6% ในสัปดาห์เดียว

ปัจจัยทั้งสามทำให้ทิศทางเงินบาทยังน่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยเป็นไปได้ที่จะแข็งค่าขึ้นอีก 5-6% จากค่าเฉลี่ยปีก่อน  

เงินบาทที่แข็งค่าและผันผวนขึ้นเช่นนี้ ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจหลายประการ เช่น ทำให้รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทลดลง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักได้แก่ผู้ส่งออกที่มีต้นทุนการผลิตเป็นเงินบาท เช่น ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงการผลิตที่ใช้แรงงานในประเทศสูง เป็นต้น

การแข็งค่าของเงินบาทครั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นหลัก ทำให้โอกาสที่จะลดทอนการแข็งค่าของเงินบาททำได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้  

ในระยะสั้น สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำคือการเข้ารับซื้อเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และ 6 พันล้านดอลลาร์ใน 3 สัปดาห์แรกของปีนี้

แต่ในระยะยาวแล้ว หากทางการไทยต้องการลดทอนการแข็งค่าของเงินบาทอย่างยั่งยืน อาจต้องทำนโยบาย ประการพร้อมกัน ดังนี้

หนึ่ง ธปทอาจต้องยอมให้เศรษฐกิจขยายตัวเกินศักยภาพในระยะสั้น 

หากพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ปีหลัง จะพบว่าขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 2.7% ขณะที่ในไตรมาสล่าสุด (ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว) เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงที่ 4.3% ต่อปี มาจากการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่การบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนในประเทศยังขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโดยรวมที่ 3.1% และ 2.9% ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำที่ 0.78% ในเดือนธ.ค.

ตัวเลขเศรษฐกิจข้างต้นมองได้สองมุม โดยหากมองว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวถึง 4.3% ในปัจจุบันคือเศรษฐกิจที่ขยายตัวเต็มศักยภาพแล้วนั้น ธปท. ก็ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 

แต่หากมองว่าแม้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัวดี แต่ในประเทศยังคงซึมเซาแล้วนั้น การลดดอกเบี้ย (เช่น 50 basis points หรือลดครั้งละ 0.25% รวม ครั้ง)นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริงลดลงอย่างมากด้วย (โดยได้รับผลทั้งจากผลตอบแทนพันธบัตร (ที่ไม่หักเงินเฟ้อ) ที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งเป็นการลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรค่าเงินบาทผ่านตลาดพันธบัตร

สอง รัฐบาลอาจทำนโยบายการคลังขาดดุลเพิ่มขึ้น

การขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การออมภาคการคลัง (Public Saving) ลดลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงได้  หากรัฐบาลสามารถเพิ่มการขาดดุลทางการคลัง จาก 3.4% ต่อ GDP ในปีนี้ เป็น 5.4% ต่อ GDPก็จะทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจาก 8% เป็น 6% และมีส่วนช่วยลดทอนกระแสเงินทุนไหลเข้าจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนั้น หากการขาดดุลของภาครัฐเพื่อจุดประสงค์ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าเงินบาทแข็งนั้นจะเป็นปัญหาระดับโลก แต่ใช่ว่าเหลือบ่ากว่าแรงทางการไทยที่จะแก้ไขได้ แต่คำถามคือ เป็นไปได้เพียงใดที่ทางการจะทำนโยบายการเงินการคลังขยายตัวมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งคำตอบก็น่าจะชัดเจนว่า คงยาก

ถ้าเช่นนั้น ทิศทางบาทในปีนี้ก็น่าจะมีแต่แข็งค่า

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่