ค่าเงินบาทจะแข็งค่าเพราะอะไร

ค่าเงินบาทจะแข็งค่าเพราะอะไร

ค่าเงินบาทจะแข็งค่าเพราะอะไร

เปิดปี 2018 มา ค่าเงินบาทไทยอยู่ที่ 32.586 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ

ผ่านมาจะครบ 1 เดือน ณ ตอนนี้ผมเขียนบทความอยู่ตอนนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าจนมาเทรดอยู่ที่ 31.410 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ

คิดเป็นการแข็งค่า 3.60% ถามว่าเยอะไหม ลองไปดูค่าเงินประเทศอื่นๆที่เป็นเพื่อนบ้านกันครับ

ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 4.18%

ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 5.96%

ค่าเงินรูเปียะของอินโนนีเซียแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 1.46%

เห็นแล้วก็พอจะบอกได้ว่า การแข็งค่าของค่าเงิน เป็นการแข็งค่าพร้อมกันในหลายๆประเทศ เงินดอลล่าร์ไม่ได้ไหลบ่าเข้าแค่ที่ประเทศไทยที่เดียว

แล้วที่อื่นๆในเอเชียละ?

ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 3.32%

ค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 2.80%

ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 0.16%

ค่าเงินไต้หวันดอลล่าร์ของไต้หวันแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ 1.63%

พอไปดูปั๊บก็พบว่า ไม่ใช่แค่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ค่าเงินแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่เป็นเอเชียทั้งหมด นั่นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาอาจจะเพราะเงินอยากไหลออกจากดอลล่าร์สหรัฐฯ มากกว่า เพราะว่า อยากจะเข้าลงทุนในไทยบาทเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น คำถามคือ ทำไมคนถึงอยากหนีค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯในเวลานี้?

ซึ่งคำตอบ ผมได้เคยเขียนบทความลงในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2560 ไปแล้วครั้งหนึ่ง ในบทความชื่อว่า “ค่าเงินดอลล่าร์ น่าจะยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และนี่คือเหตุผล” ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาอ้างมากที่สุดก็คือ ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารของ ปธน.ทรัมป์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งในแง่ของการแก้กฎหมายปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี การผ่านร่างงบประมาณ ที่ไม่สามารถหาจุดร่วมกันในสภาได้จนเป็นเหตุให้เกิด Government Shutdown

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่า ซึ่งมีมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ก็คือ การที่ดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Real Interest Rate ของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย ก็พบว่า การย้ายเงินออกมาจากสหรัฐ มาอยู่แถบนี้ น่าจะดีกว่า เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงกว่า และเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หรือ พูดง่ายๆว่า Real Interest Rate สูงกว่าอยู่ที่สหรัฐฯนั่นเอง และเมื่อดูจากคาดการณ์เงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เองก็จะพบว่า มันยังคงเป็นปัญหาสำหรับสหรัฐฯในการจะทำให้เงินเฟ้อไปถึงเป้าหมายในระยะยาวที่ 2% ดังนั้น ค่าเงินดอลล่าร์ก็น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องไปอีกนะครับ

สัปดาห์ที่แล้ว มีการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ทางรมว.คลังสหรัฐฯก็ได้ขึ้นเวที และให้ความเห็นว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง ทำให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ พอตลาดได้ยินดังนี้ ก็ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ยิ่งอ่อนค่าขึ้นไปอีก เพราะเหมือนสหรัฐฯเองก็จะชอบนะครับ ที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯตัวเองอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ

กลับมาที่ประเทศไทยเรานะครับ เราเองก็มีเหตุผลที่ค่าเงินบาทแข็งค่า กล่าวคือ ถ้าดูจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด ใน 11 เดือนแรกของปี 2017 เราเองก็เกินดุลสูงมากถึง 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ก็แปลว่า เรามีเงินดอลล่าร์เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับหนึ่ง เหล่าเงินร้อนจากนอกประเทศก็เลยใช้เงินบาทเป็นที่พักเงิน หรือ Safe Haven ในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย

ที่เกินดุลก็เพราะ เราส่งออกบริการที่สำคัญ นั่นก็คือ การท่องเที่ยว ซึ่งดูๆไปก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ การได้ดุลแบบนี้

แต่อีกฝั่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหา ก็คือ ภาคการส่งออก เพราะพอค่าเงินบาทแข็งค่า ก็แปลว่า สูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันไปด้วยเหมือนกัน

แล้วค่าเงินบาท จะแข็งค่าไปอีกนานไหม? ก็คงต้องมีจุดเปลี่ยนครับ ยกตัวอย่างเช่น เฟด มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคิด ซึ่งถ้าจะคิดเรื่องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นจริง ก็แปลว่า เราน่าจะเห็นสัญญาณเงินเฟ้อมาเร็วขึ้นจากฝั่งสหรัฐฯด้วย นี่คือจุดเปลี่ยนที่ 1

จุดเปลี่ยนที่ 2 เห็นจะเป็นเรื่องของการเข้าดำเนินนโยบายอะไรบางอย่างจากฝั่งผู้คุมกฎในไทยเอง หรือมาตรการป้องกันเงินร้อน หรือ เข้ามาดูแลอะไรซักอย่าง ซึ่งขณะนี้ หลายๆหน่วยงานที่เที่ยวกับกับภาคส่งออก ก็มีพูดออกมาบ้างเหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องการดำเนินนโยบาย เงินบาทก็มีโอกาสหยุดการแข็งค่าได้เช่นกัน

แต่ถ้ามองจาก ณ ปัจจุบัน เห็นว่า ค่าเงินบาทคงแข็งค่าต่อไปอีกอย่างน้อยๆ 2-3 เดือนข้างหน้านะครับ