เงินเฟ้อที่ต่ำอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย

เงินเฟ้อที่ต่ำอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ชี้แจงเกี่ยวกับการที่เงินเฟ้อในปี 2017 ของไทยยังอยู่ต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ

กล่าวคือ ธปท. ได้ตกลงกับคลังเป็นรายปี ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินให้เงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ที่ 2.5% ต่อปี โดยมีกรอบล่างคือ 1% และกรอบบนคือ 4% 

แต่เงินเฟ้อในปี 2017 นั้น เพียง 0.66% เป็นปีที่ 3 ที่เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยรายงานข่าวสรุปคำอธิบายของธปท..ว่า เงินเฟ้อที่ต่ำเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทาน กล่าวคือ ราคาอาหารสดปรับตัวลดลงและกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ แต่เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น จึงไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด

การผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกจะ ไม่ ช่วยให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบ หากต้องการให้เงินเฟ้อสูงขึ้นก็ต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์แล้ว) ซึ่งจะยิ่งสร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคต จากพฤติกรรม “search for yield” และอาจทำให้การออมภาคครัวเรือนลดลงอีกด้วย

ในความเห็นของผมนั้น การตั้งเป้า แปลว่าเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำทุกวิถีทางที่จะให้บรรลุเป้าดังกล่าว เว้นแต่จะมีปัจจัยสำคัญที่ไม่คาดฝัน ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นเรื่องสุดวิสัย 

เงินเฟ้อที่ต่ำอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย

แต่ในกรณีเงินเฟ้อของไทยที่หลุดกรอบมายาวนานถึง 3 ปีติดต่อกันนั้น คงจะไม่ใช่กรณี ดังกล่าว เพราะเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วก็ย่อมจะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเงินเฟ้อจึงต่ำหมายความว่า หากต้นปีที่แล้ว ธปท. กล่าวเตือนมาว่า เงินเฟ้อในปี 2017 อาจจะยังต่ำกว่ากรอบเพราะคาดการณ์ได้ว่า ราคาอาหารสดจะปรับลดลง ก็คงจะเป็นที่เข้าใจได้

่ในกรณีนี้ ก็อาจมองได้ในอีกด้านหนึ่งว่า กรอบเงินเฟ้อที่ตั้งเป้าเอาไว้คือ 1% ถึง 4% นั้น มิได้มีความสำคัญสูงสุด (แม้จะต้องทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับตัวแปรนี้ทุกปี) กล่าวคือ ธปท. อธิบายว่า การเร่งให้เงินเฟ้อเข้าเป้าเสี่ยงต่อการสร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคต ดังกล่าวข้างต้น 

กรณีดังกล่าวก็สมควรที่ทั้ง ธปท. และกระทรวงการคลังจะบอกให้ประชาชนได้ทราบอย่างละเอียดว่า ประเมินความเปราะบางดังกล่าวอย่างไร ตัววัดคืออะไร และระดับที่เท่าไหร่ จึงจะถือว่าเสี่ยง หรือ ไม่เสี่ยง จะได้ทราบทั่วกันว่าปัจจุบันเราเสี่ยงมากหรือน้อยเพียงใด และแนวโน้มความเสี่ยงดังกล่าวกำลังลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม 

การกล่าวว่า ธปท. มีนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) นั้น คำว่า flexible อาจแปลได้ว่า ธปท. จะยึดหรือไม่ยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เมื่อใดก็ได้ ซึ่งทำให้การประเมินนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่ยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายอื่น เช่น ความเป็นห่วงเรื่อง “search for yield” นั้น ไม่สามารถรับรู้ได้ว่า มีเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ที่เป็นประจักษ์อย่างไรบ้าง

นอกจากนั้น ผมมองว่าประเทศเล็กที่เศรษฐกิจเปิดเช่นไทย (การส่งออกและการนำเข้ารวมกันมากกว่า 120% ของจีดีพี) นั้นจะต้องประเมินว่าสามารถกำหนดอัตราเงินเฟ้อของตัวเองโดยอิสระจากเศรษฐกิจโลกได้จริงหรือไม่ เพราะนโยบายการเงินแบบตั้งเป้าเงินเฟ้อนั้น ย่อมมีสมมุติฐานว่า ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ กำหนดเป้าเงินเฟ้อของประเทศได้ตามอำเภอใจจริง ๆ 

ประเทศขนาดใหญ่เช่น สหรัฐ อินเดีย หรือ จีน นั้นน่าจะทำได้ แต่ประเทศไทยซึ่งส่งออกข้าว และยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลกก็ยังกำหนดราคาข้าวและราคายางพาราเองตามอำเภอใจไม่ได้ (จึงเผชิญปัญหาความตกต่ำของราคาข้าวและราคายางจนทุกวันนี้) ซึ่งหากไทยกำหนดราคาข้าวและราคายางไม่ได้ (เพราะถูกกำหนดโดยตลาดโลก) ประเทศไทยจะกำหนดอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคา (เงินเฟ้อ) โดยอำเภอใจ แยกออกจากอัตราเงินเฟ้อของโลกได้อย่างไร?

คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ หากเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น เห็นได้จากตารางว่า เงินเฟ้อของไทยนั้นต่ำกว่าสหรัฐ (ซึ่งเงินดอลลาร์ เป็นเงินสกุลหลักของโลก) และต่ำกว่า เงินเฟ้อของประเทศกลุ่ม OECD ที่ไทยทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่ปี 2015 และเงินบาทเริ่มแข็งค่าตั้งแต่ปี 2016 (อาจเป็นเพราะว่าปี 2015 เป็นช่วงหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนและเศรษฐกิจไทยถูกมองในเชิงลบมาก) 

แต่ในระยะยาวนั้นประเทศที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเงินเฟ้อโลกย่อมต้องเผชิญกับปัญหาการแข็งค่าของเงิน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าของเงินและหากเงินบาทเสื่อมค่าในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เงินบาทก็ย่อมจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ