การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ

การกำกับดูแล TNC ในต่างประเทศ

Transport Network Company (TNC) หรือที่รู้จักในชื่อเรียกต่างๆ เช่น ride-sharing, ride-hailing หรือ ride-booking เป็นรูปแบบธุรกิจที่เปิดโอกาส

ให้ผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถให้มารับและไปส่งยังจุดหมายปลายทางได้ตามความต้องการ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น โดยมีแนวคิดมาจากการ carpooling หรือการใช้รถคันเดียวกันร่วมเดินทางไปด้วยกัน เช่น คนที่บ้านอยู่ใกล้กันก็อาศัยรถคันเดียวกันไปทำงานเพื่อประหยัดน้ำมัน 

แต่ต่อมาการให้บริการของ TNC ก็ถูกมองว่ามีลักษณะเป็น ridesourcing หรือเป็นการจัดสรรการขนส่งผู้โดยสารให้กับคนขับเพื่อการพาณิชย์มากกว่า เพราะการให้บริการมีลักษณะคล้ายรถแท็กซี่มากกว่าการร่วมเดินทางไปด้วยกัน

ลักษณะการให้บริการมีการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี 3 องค์ประกอบด้วยกันได้แก่ (1) อุปกรณ์ GPS navigation เพื่อกำหนดเส้นทางของคนขับและจัดการการรับส่งผู้โดยสาร (2) สมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเรียกรถได้จากที่ใดก็ตาม และ (3) เครือข่าย social network เพื่อตรวจสอบคนขับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร

การให้บริการลักษณะดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐเมื่อประมาณ 10 ปีแล้ว และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายๆ ประเทศก็ตาม 

ปัจจุบัน TNC ที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยยังคงมีสองบริษัทคือ Uber และ Grab แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะมีบริษัทอื่นๆ เข้ามาให้บริการเพิ่มขึ้น 

ในระหว่างที่ประเทศไทยกำลังศึกษาแนวทางในการกำกับดูแล TNC เรามาดูตัวอย่างการกำกับดูแลในต่างประเทศที่น่าสนใจกันค่ะ

เริ่มจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลบริการเรียกรถผ่านทางแอพพลิเคชั่น 2 ฉบับ ฉบับแรกเมื่อปี 2015 และต่อมาในปี 2017

กฎหมายฉบับแรกที่ชื่อว่า Third Party Taxi Booking Service Providers Actกำหนดให้ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันที่ใช้ในการจองรถแท็กซี่ จะต้องมีการจดทะเบียน และมีหนังสือรับรองจาก Land Transport Authority (LTA) หรือการขนส่งทางบกของสิงคโปร์ 

นอกจากนี้ยังจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านอัตราค่าบริการ มาตรฐานการให้บริการ และจะต้องใช้รถยนต์สาธารณะ (แท็กซี่) ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

 LTA ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวได้เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรโดยช่วยจัดสรรแท็กซี่ให้ตรงกับอุปสงค์และอุปทานมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน

ในปี 2016 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์แถลงว่า ปัจจัยขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมของสิงคโปร์ 4 ประการได้แก่ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ เช่น ยานพาหนะไร้คนขับ รูปแบบธุรกิจใหม่ (เช่น Uber และ Grab) ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สัญจร และส่งผลกระทบต่อคนขับรถรับจ้างในปัจจุบัน การสนับสนุนการลงทุน และการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะ

ขณะนั้นยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการให้บริการเรียกรถรับส่งผู้โดยสารโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวผ่านทางแอพพลิเคชัน แต่บริการดังกล่าวก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการของ Uber และ Grab ได้กลายมาเป็นคู่แข่งของแท็กซี่ในสิงคโปร์อย่างชัดเจน 

มีเสียงเรียกร้องจากอุตสาหกรรมแท็กซี่ถึงความไม่เป็นธรรม โดยมองว่าแม้ธุรกิจแท็กซี่โดยรวมจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายที่เข้ามากำกับดูแลการจองแท็กซี่ผ่านทางแอพพลิเคชันแล้วก็ตาม แต่ธุรกิจรับจ้างขนส่งผู้โดยสารโดยรถยนต์ส่วนตัวทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเพราะคนขับไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถอาชีพ และไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการและค่าบริการเช่นเดียวกับแท็กซี่

ต่อมาสิงคโปร์จึงได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อกำกับดูแลธุรกิจรับจ้างขนส่งผู้โดยสารโดยรถยนต์ส่วนตัว ผ่านกฎหมายจราจรทางบก Road Traffic Act ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนก.ค. 2017  กำหนดให้คนขับจะต้องมีใบอนุญาตประเภทใหม่ซึ่งเรียกว่า Private Hire Car Driver's Vocational Licence (PDVL) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัย และสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน 

รถส่วนตัวที่จะนำมาใช้จะต้องจดทะเบียนกับ LTA และติดสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกว่าเป็นรถรับจ้างด้วย กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่ภาครัฐในการสั่งห้ามไม่ให้คนขับที่ทำผิดร้ายแรงตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป มาให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านทางแอพพลิเคชั่นอีกต่อไปด้วย

ตามกฎหมายจราจรทางบกฉบับใหม่ของสิงคโปร์ คนขับรถรับจ้างส่วนตัวที่ไม่แสดงใบอนุญาต หรือสัญลักษณ์ที่กฎหมายกำหนดบนกระจกหน้ารถ หรือเคลื่อนย้ายสัญลักษณ์ดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดครั้งแรก 

หากกระทำผิดซ้ำอีกต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต

 โดย... วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท ที่ผู้เขียนทำงานอยู่